อาการซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะทางสุขภาพจิตที่คุณแม่หลังคลอดไม่อยากเจอ แต่บางคนกลับต้องเผชิญกับอาการซึมเศร้า ซึม หดหู่ ไม่อยากทำอะไรแม้แต่ความผูกพันกับลูกที่ตนเองคลอดออกมา จนรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เชื่อว่า คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ฟังแล้ว คงไม่มีใครอยากเผชิญภาวะอันน่ากลัวและสุดเศร้านี้แน่นนอน แต่จะมีวิธีป้องกันอย่างไร
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณแม่อย่างไร
อาการซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) คือภาวะทางสภาพจิตใจอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่ถึง 1 ใน 6 ต้องเผชิญหลังคลอด โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า หดหู่ใจ วิตกกังวล ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล และอ่อนเพลียมากจนไม่อยากเลี้ยงลูกและไม่รู้สึกผูกพัน ซึ่งมักจะเกิดในช่วงปีแรกหลังคลอดบุตร มีอาการที่ปรากฏชัดดังต่อไปนี้
- คุณแม่จะรู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ เสียใจ ไปพร้อม ๆ กับอารมณ์แปรปรวน โกรธ หงุดหงิดง่าย
- มีความวิตกกังวลมากผิดปกติ น้อยใจ กลัวคนไม่รัก
- มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น การนอนหลับ อาจจะนอนมากเกินไป หรือนอนไม่หลับเลย กลางคืนคือช่วงเวลาที่ยากลำบาก
- จู่ๆ กลายเป็นคนร้องไห้ง่าย แบบไม่มีเหตุผล
- สมาธิสั้นลง การจดจำมีปัญหา ละเลยรายละเอียด ตัดสินใจไม่ค่อยได้
- ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่มีความผูกพันกับลูกน้อย
- รับประทานอาหารมากกว่าปกติ หรือไม่ยอมรับประทานอาหารเลย
- เริ่มมีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว เป็นไข้ต่ำ ๆ หรือมีปัญหาเรื่องกระเพาะอาหาร
สำหรับทางด้านจิตใจ คุณแม่หลังคลอดที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า จะชอบเก็บตัว ไม่พูดจากับใคร ปลีกตัว สันโดษ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือแม้แต่สามีตนเอง ทั้งนี้ปัญหาที่น่ากลัวที่สุดคือ อาการซึมเศร้าหลังคลอด อาจทำให้คุณแม่ไม่อยากแตะต้องทารก ไม่รู้สึกผูกพัน ไม่ให้นม รู้สึกตนเองไร้ค่าไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ หนักที่สุดอาจจะถึงขั้นทำร้ายตนเองและลูกน้อยได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: เลี้ยงลูกมันเหนื่อยจริง! พ่อแม่ทุกคนมีสิทธิ์เป็น โรคซึมเศร้า เราจะทำยังไงดี
อาการซึมเศร้าหลังคลอด มีสาเหตุที่ควรใส่ใจคือ?
สาเหตุหลักของ อาการซึมเศร้าหลังคลอด มาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในร่างกาย เช่น เอสโตรเจน (estrogen) โปรเจสเตอโรน (Progesterone) และอื่น ๆ แต่บางครั้ง สามารถเกิดจากความเครียด และความกังวลใจในฐานะที่เป็นคุณแม่มือใหม่ เช่น ภาระที่ต้องแบกมากขึ้น การเลี้ยงดูลูก การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รวมไปถึงอิสรภาพที่ขาดหายไป ซึ่งบางครั้ง อาการซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่ก็อาจไม่รู้ตัว ต้องอาศัยคนรอบข้างคอยบอกคอยเตือน แนะนำว่าคุณแม่ควรบอกคนรอบข้างไว้ไม่ว่าจะสามี พ่อแม่ ตายาย หรือเพื่อน ๆ จะได้มีคนช่วยเตือนสติ หรือถ้ารู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์ที่แปลกไปไม่มีเหตุผลหลังจากคลอดลูก คุณแม่อาจจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าอยู่
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ส่วนใหญ่เกิดกับคุณแม่ที่ไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ฮอร์โมน อารมณ์ สภาพแวดล้อม และพันธุกรรม นอกจากนี้คุณแม่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น
- เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน หรือมีอาการซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
- คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
- คนในครอบครัวมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์หรือป่วยเป็นไบโพลาร์
- มีความเครียด มีปัญหาภายในครอบครัวสะสม เกิดการทะเลาะเบาะแว้งบ่อยครั้ง
- ลูกที่เกิดมามีปัญหาสุขภาพจนคุณแม่เครียดและวิตกกังวล
- คุณแม่มีปัญหาเรื่องการให้นมบุตร จนเครียด
- เกิดจากปัญหาทางด้านการเงินในครอบครัว เช่น อาจตั้งครรภ์โดยยังไม่พร้อมที่จะมีลูก
ระยะเวลาของ อาการซึมเศร้า ที่เห็นได้ชัด
ช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ จะพบว่าคุณแม่มี อาการซึมเศร้า มากที่สุดในช่วง 3 ถึง 6 เดือนหลังคลอด คุณแม่จะรู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์แปรปรวน สับสน เบื่อหน่าย ท้อแท้ บางคนอาจถึงกับร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล นอนไม่หลับ ได้ยินเสียงร้องกวนก็หงุดหงิด หรือร้องไห้ น้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปมาก บางคนมีความคิดที่ไม่ดีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ต้องการทอดทิ้ง หรือถึงขนาดมีความคิดทำร้ายลูกขึ้นมาได้ ซึ่งมักจะตามมาด้วยความรู้สึกผิด และทำให้อาการของโรคซึมเศร้าหนักมากขึ้นไปอีก แม่บางคนอารมณ์นี้อยู่เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ หากความรู้สึกเศร้านั้นเป็นนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป คุณแม่ไม่ควรรีรอที่จะไปพบจิตแพทย์ เพื่อรับการประเมินเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด เพราะจิตแพทย์จะช่วยปรับทัศนคติ และแนวทางในการดำเนินชีวิตเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณแม่ค่อย ๆ สามารถปรับตัวไปกับการเลี้ยงดูลูกอย่างมีความสุขได้ในที่สุด
ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าตัวเองมี อาการซึมเศร้าหลังคลอด
- เล่าสิ่งที่อยู่ในใจให้กับคนที่คุณใกล้ชิดที่สุดฟัง ว่าคุณรู้สึกอย่างไร พยายามอย่าแยกตัวอยู่คนเดียวหรือเก็บความรู้สึกของคุณไว้เด็ดขาด เพราะจะรู้สึกซึมเศร้าหนักกว่าเดิม
- ถ้ารู้ว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้ายาวนานขึ้น อย่าคิดว่าเดี่ยวหายเอง ให้ขอความช่วยเหลือจากแพทย์จะดีที่สุด เพราะถ้าคุณหาหมอเร็วก็จะทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว
- หากิจกรรมทำ หรือการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดอาการซึมเศร้า ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยบำบัดโรคนี้ได้ดี
วิธีป้องกันอาการซึมเศร้าหลังคลอด (ควรปฏิบัติก่อนและหลังคลอด)
- คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีประโยชน์ให้ครบถ้วน
- พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้เวลาตั้งครรภ์
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- เวลาป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอนตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ แม้ยานั้นเป็นสมุนไพรก็ตาม
- พักผ่อนให้เพียงพอ ปล่อยให้คุณสามีเลี้ยงลูกบ้าง อย่ากังวลมากเกินไป
- หากคุณแม่เคยมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์
- อย่ากลัวที่จะพบจิตแพทย์ หากมีอาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวลบ่อย ๆ ขณะตั้งครรภ์ ก็ควรปรึกษาคุณหมอที่ดูแล เพื่อขอพบจิตแพทย์ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: เพลงกล่อมลูกฟังเพลินหลับง่าย ไทยและสากล 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้
เพลงกล่อมลูกช่วยรักษาอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้
จากผลการศึกษาของนักวิจัยชื่อว่า “โรซี่ เพอร์กินส์” ของอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College) ในกรุงลอนดอน พบว่า การร้องเพลงกล่อมลูกของแม่กับภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กัน ซึ่งหมายความว่า เวลาที่คุณแม่ร้องเพลงในลูกน้อยฟัง จะช่วยให้ลดอาการซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่ได้ในระดับกลางถึงรุนแรง แถมยังช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่รวดเร็วขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้หญิงที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดแล้วร้องเพลงให้ลูกฟัง จะสามารถลดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้ร้องเพลงกล่อมลูกถึงร้อย 35 นักวิจัยผู้นี้ยังบอกอีกว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาที่ทำให้คุณแม่และครอบครัวรู้สึกท้อแท้ แต่งานวิจัยครั้งนี้ทำให้เขาทราบได้ว่า คุณแม่หลังคลอดจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังได้เร็วยิ่งขึ้น หากคุณแม่ได้ร้องเพลงกล่อมลูก
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า
อารมณ์คนท้อง รับมือยังไง? ซึมเศร้าหลังคลอด ต้องอดทนอีกนานแค่ไหน?
บทความที่น่าสนใจ:
15 อาการหลังคลอดลูก ที่ต้องเจอแน่หลังออกจากห้องคลอด
ฝันว่าคลอดลูก ฝันเห็นคนคลอดลูก ฝันแบบนี้ดีหรือร้าย อ่านคำทำนายฝันแม่นๆ
แผลฝีเย็บ หลังคลอด รู้สึกเจ็บจี๊ด คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า
ที่มา: thestatesman, patrangsit