อาการคนท้อง 4 เดือน มีอาการอะไรบ้าง 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 18

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน ก็แปลว่าคุณแม่ได้เข้าสู่ครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว ในช่วงนี้ร่างกายของคุณแม่ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง รวมทั้งทารกในครรภ์ที่มีพัฒนาเพิ่มมากขึ้นด้วย คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่า อาการคนท้อง 4 เดือน มีอาการอย่างไร และพัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง เรามาดูกันเลยว่าอาการคนท้อง 4 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

 

ท้อง 4 เดือน ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

  • ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร

เช่น คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือท้องผูก เป็นต้น ซึ่งนับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกในระยะยาว รวมทั้งควรดื่มน้ำมาก ๆ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วย

 

  • จุดด่างดำหรือฝ้าบนใบหน้า

อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งควรป้องกันด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน

 

  • คันตามผิวหนัง

โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง มือ และเท้า ซึ่งการทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นอาจช่วยให้อาการคันดีขึ้นได้

 

  • ผิวแตกลาย

มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ โดยปัญหาผิวแตกลายมักดีขึ้นหลังจากคลอดบุตรแล้ว ทั้งนี้ ระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจใช้ครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของสารเพิ่มความชุ่มชื้น เช่น โกโก้บัตเตอร์จากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดรอยแตกลายที่เกิดขึ้น โดยควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

 

  • อาการปวดร้าวลงขา

อาจเกิดจากขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทไซแอ็ททิค จึงทำให้มีคุณแม่บางคนมีอาการปวดร้าวตั้งแต่บริเวณเอวหรือสะโพกไล่ลงมาที่ขา หากเกิดอาการนี้ คุณแม่อาจบรรเทาอาการปวดด้วยการนอนตะแคงแล้วใช้หมอนรองระหว่างหัวเข่ายาวไปจนถึงข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง

 

 

  • กลุ่มอาการประสาทมือชา (CTS)

เกิดขึ้นได้ประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ในช่วงตั้งครรภ์ โดยจะรู้สึกเจ็บ ชา และเป็นเหน็บบริเวณมือกับแขน และมักมีอาการดีขึ้นเองหลังคลอด

 

  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย

เช่น ปวดบริเวณแผ่นหลัง ขาหนีบ หรือต้นขา เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง รวมทั้งการขยายตัวของมดลูกที่ทำให้หน้าท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนไป โดยอาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยการนวด การประคบร้อน หรือประคบเย็น

 

  • รู้สึกหน่วงท้อง

ซึ่งเป็นผลมาจากการตึงของเส้นเอ็นที่ยึดมดลูก อาจเกิดขึ้นในระหว่างการยืนหรือการไอ โดยคุณแม่อาจลองเคลื่อนตัวช้าลงในขณะเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อช่วยลดอาการปวด

 

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ คุณแม่อาจต้องวางแผนเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ และในช่วงนี้คุณแม่เองก็อาจมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

  • ติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ

คุณแม่อาจติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายในระยะนี้ เนื่องจากกล้ามเนื้อในกระเพาะปัสสาวะบางส่วนคลายตัว

 

  • นอนไม่หลับ

อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้นอนหงายได้ลำบากกว่าเดิม ปวดปัสสาวะบ่อยในช่วงตั้งครรภ์ รวมถึงเกิดความเครียดหรือความกังวลต่าง ๆ จนส่งผลให้นอนไม่หลับ เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องนอนไม่หลับ แก้ปัญหาอย่างไรให้ถูกจุด มาหาคำตอบกัน

 

 

พัฒนาการทารกในครรภ์ ช่วง 4 เดือน

กระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของทารกเริ่มแข็งขึ้น โดยเฉพาะกะโหลกและกระดูกแขนขา นอกจากนี้ ตัวอ่อนจะเริ่มปัสสาวะใส่ถุงน้ำคร่ำ โดยปัสสาวะนั้นจะกลายเป็นน้ำคร่ำให้ตัวอ่อนนำไปใช้แล้วปัสสาวะออกมาอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ สังเกตเห็นลำคอ แขน และขาของทารกได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งเริ่มเกิดเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นภายในม้าม และอาจเริ่มระบุเพศของทารกได้ ความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้นจนสามารถมองเห็นกระดูกปรากฏในภาพอัลตราซาวนด์ และเริ่มมีเส้นผมบาง ๆ ขึ้นบนหนังศีรษะ ดวงตาเริ่มเคลื่อนไหวได้อย่างช้า ๆ และอาจสังเกตเห็นว่าแขนและขาของทารกค่อย ๆ ขยับไปมาในระหว่างอัลตราซาวนด์ แต่ยังขยับไม่มากพอที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกได้ ซึ่งคุณแม่จะได้เห็นทารกในครรภ์เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการอัลตราซาวนด์ และหากทารกอยู่ในท่าทางที่เหมาะสมก็อาจทำให้คุณแม่ได้ทราบเพศของลูกน้อยด้วย

 

การดิ้นของทารก

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในช่วงสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ โดยอาการลูกดิ้นในช่วงแรก ๆ ทารกในครรภ์จะขยับตัวเพียงเล็กน้อย และจะให้ความรู้สึกเหมือนปลาทองว่ายน้ำ หรือรู้สึกเหมือนผีเสื้อกำลังกระพือปีกอยู่ภายในท้อง บ้างก็รู้สึกเหมือนเส้นประสาทกระตุกเบา ๆ โดยการขยับตัวของทารกจะมีทั้งการเตะ ต่อย การพลิกตัวและม้วนตัว

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไมต้องนับลูกดิ้น ความสำคัญของการนับลูกดิ้นที่แม่ท้องทุกคนควรรู้!

 

 

คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร

  • ไปพบแพทย์ตามนัดฝากครรภ์ คุณแม่ต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ เพื่อตรวจเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วย
  • สวมรองเท้าส้นเตี้ย ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นอาจส่งผลให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนไป ซึ่งการสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ยจะช่วยรักษาสมดุลและการทรงตัวในขณะก้าวเดินให้มั่นคงมากขึ้น
  • นวดผ่อนคลาย อาจเลือกโปรแกรมนวดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายสบายตัวขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป หรือมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 เป็นต้นไป อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม โปรตีน ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก ผัก ผลไม้ ธัญพืช รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น ซึ่งคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง

 

อัลตราซาวนด์ช่วงนี้สามารถเห็นอะไรบ้าง

  • ส่วนศีรษะและสมอง

สามารถดูตั้งแต่กะโหลกศีรษะว่าสร้างครบหรือมีรูปร่างผิดปกติไหมและโครงสร้างหลัก ๆ ของสมอง รวมทั้งมีท่อระบายน้ำไขสันหลังอุดกั้นจนทารกมีศีรษะโตเป็นเด็กหัวบาตรหรือไม่

 

  • ใบหน้า

ดูโครงสร้างใบหน้า เน้นที่ช่วงจมูกและริมฝีปากบนเพื่อหาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ รวมทั้งสันจมูกซึ่งสัมพันธ์กับกลุ่มอาการปัญญาอ่อนดาวน์ซินโดรม

 

  • ส่วนอกและหัวใจ

นอกจากฟังการเต้นของหัวใจแล้ว คุณหมอจะดูโครงสร้างหัวใจทั้ง 4 ห้องและเส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากห้องหัวใจไปเลี้ยงปอดและร่างกาย รวมทั้งมีโครงสร้างในช่องอกที่ผิดปกติ เช่น กะบังลมไม่ปิดทำให้ลำไส้ขึ้นมาบนช่องอกหรือมีก้อนในปอด

 

  • ส่วนท้อง

ตรวจดูอวัยวะภายในท้อง เช่นกระเพาะอาหาร ตับ ไต และกระเพาะปัสสาวะ ว่ามีการสร้างเป็นปกติหรือไม่ รวมถึงดูผนังหน้าท้องว่าปิดดี ไม่มีกระเพาะลำไส้ออกมานอกตัว รวมถึงลักษณะของสายสะดือทารกและเส้นเลือดภายในว่าครบหรือไม่

 

 

  • แขนขาและกระดูกสันหลัง

คุณหมอจะตรวจดูได้ว่าลูกมีแขนขา และมือเท้าครบทั้ง 4 ข้าง รวมทั้งตรวจว่ามีลักษณะแขนขาสั้นผิดปกติหรือไม่ แต่อาจจะไม่สามารถดูถึงขนาดและจำนวนของนิ้วมือนิ้วเท้า เนื่องจากมีขนาดเล็กเกินกว่าหมอจะนับอย่างมั่นใจได้ ส่วนกระดูกสันหลังคุณหมอจะดูลักษณะการเรียงตัวว่ามีการโก่งงอผิดปกติ หรือมีรูรั่วของไขสันหลัง จากการที่กระดูกเชื่อมปิดไม่สนิทหรือไม่

 

  • เพศ

ถึงเวลาดูเพศของลูก คุณหมอจะดูว่าเป็นเพศอะไร รวมถึงลักษณะอวัยวะเพศว่ามีความผิดปกติ เช่นถุงน้ำอัณฑะด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตามถ้าลูกอยู่ในท่าที่ดูได้ยาก เช่นนอนคว่ำหรือหนีบขาแน่น อาจต้องรอลูกเปลี่ยนท่าหรือไม่ สามารถบอกเพศได้ในการตรวจครั้งนั้น ๆ

 

  • รกและน้ำคร่ำ

นอกจากตัวทารก รกและปริมาณน้ำคร่ำก็มีความสำคัญในการบอกสุขภาพทารก โดยจะวัดปริมาณน้ำคร่ำและดูลักษณะของรกว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อนซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกติดแน่นกับมดลูก รวมถึงตำแหน่งรกว่ามีรกเกาะต่ำด้วยหรือไม่

โดยทั้งหมดนี้จะตรวจโดยอัลตราซาวนด์ 2 มิติ เนื่องจากเป็นวิธีที่เห็นรายละเอียดอวัยวะภายในได้ชัดเจนมากกว่า คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการตรวจอัลตราซาวนด์ 4 มิติเพื่อจะเห็นหน้าลูกชัด ๆ ขอให้อดใจรอถึง 30-32 สัปดาห์ จะหน้าลูกได้ชัดเจนมากกว่า

 

คุณแม่ควรใช้ชีวิตถูกสุขอนามัย

  • รักษาความสะอาด
  • ใส่เสื้อผ้าให้หลวมสบาย
  • ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง
  • ดูแลรักษาฟัน ขูดหินปูน
  • ดูแลหน้าท้อง ทรวงอก ระบบขับถ่าย
  • มีเพศสัมพันธ์ด้วยท่าที่เหมาะสม ในกรณีที่ไม่มีข้อห้าม ตามคำแนะนำของแพทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องไตรมาสที่สอง มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ควรดูแลตัวเองอย่างไรในช่วงนี้

 

 

อาการที่คุณแม่ต้องระวัง

  • น้ำหนักขึ้นมากกว่าปกติ
  • เปลือกตาบวม
  • ปวดศีรษะตรงหน้าผากและขมับข้างขวา
  • ตาพร่า
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • เลือดออกผิดปกติ

 

ในช่วงตั้งครรภ์ 4 เดือน คุณแม่ยังมีหลาย ๆ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียง และดูแลเรื่องของน้ำหนัก เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกในครรภ์ รวมทั้งการเลือกชุดคลุมท้อง เพราะในช่วงนี้หน้าท้องของคุณแม่จะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นแล้วค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

อาหารบำรุงคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 4 แม่ท้อง 4 เดือน กินอะไรแล้วจะดี?

ท้อง 4 เดือน การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง และพัฒนาการทารกในครรภ์

ตั้งครรภ์ 4 เดือนควรทานอะไร อาหารสำหรับคนท้อง 4 เดือน ถึงดีต่อแม่และลูก

ที่มา : bangkokhospital, pobpad, enfababy

บทความโดย

nantichaphothatanapongbow