หวัดขึ้นหู โรคที่มีอาการคล้ายกับหวัดทั่วไป เตือนพ่อแม่คอยสังเกตุอาการลูก ก่อนช้าเกินไป
ช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ฝนพากันเทกระหน่ำทุกวันจนหลายคนป่วยไปตามๆ กัน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว เมื่อโดนละอองฝนยิ่งทำให้ป่วยง่ายเข้าไปอีก สำหรับโรคที่มากับฝนคงนี้ไม่พ้น โรคไข้หวัด แต่คุณรู้หรือไม่ว่า “หวัด” ก็ทำให้หูหนวกได้ มารู้จักกับโรค “หวัดขึ้นหู” กันดีกว่า
ลักษณะของโรคหวัดขึ้นหู
พญ. อุมาพร พนมธรรม แพทย์โสต ศอ นาสิก ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กล่าวว่า โรคหวัดธรรมดาๆ อาจลุกลามจากระบบทางเดินหายใจไปสู่อวัยวะข้างเคียงอย่างหู ที่ก่อให้เกิด
โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือ “โรคหวัดขึ้นหู” ซึ่งอาจนำไปสู่การบกพร่องทางการได้ยินชนิดถาวรได้
โรคนี้ มักเกิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด ลำคออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ แล้วเชื้อลุกลามผ่านท่อปรับความดันของหูที่อยู่ในโพรงหลังจมูก หรือท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian Tube) เข้าไปยังหูชั้นกลาง ทำให้ปวดหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง มีไข้สูง การได้ยินลดลง ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้แก้วหูทะลุจนมีน้ำไหลออกมา โรคดังกล่าวส่วนมากจะเกิดในเด็ก เพราะท่อยูสเตเชี่ยนสั้นกว่าผู้ใหญ่ พบว่าร้อยละ 80 ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เคยเป็นโรคนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง
ชนิดของโรคหวัดขึ้นหู
นอกจากนี้ พญ. ภาวินี อินทกรณ์ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า หูน้ำหนวกสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- หูน้ำหนวกชนิดเฉียบพลันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กภายหลังจากเป็นหวัด คออักเสบ ทำให้เด็กปวดหูมาก และเป็นไข้ ต่อมาอาจมีแก้วหูทะลุและมีน้ำหนวกไหล แต่อาการปวดจะลดลง
- หูน้ำหนวกชนิดใส เป็นหูน้ำหนวกซึ่งมีน้ำขังอยู่ในช่องหูชั้นกลาง เกิดจากความบกพร่องการทำงานของท่อระบายอากาศที่ติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหลอดคอหอยส่วนหลังโพรงจมูก ซึ่งอาจเกิดตามหลังหูชั้นกลางอักเสบแบบชนิดเฉียบพลัน มักเป็นหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด ไซนัสอักเสบ ต่อมอดีนอยด์โตหรืออักเสบ โรคภูมิแพ้ทางจมูก มักมีอาการปวดหูเล็กน้อย หูอื้อ เสียงก้องในหู มีเสียงในหู
- ส่วนหูน้ำหนวกชนิดเรื้อรัง คือภาวะที่มีการอักเสบของหูชั้นกลางมากกว่า 3 เดือน และมีแก้วหูทะลุ มีน้ำหนวกไหล อาจมีตลอดเวลา หรือเป็นๆ หายๆ เกิดจากการที่เป็นหูน้ำหนวกเฉียบพลันแล้วไม่ได้รับการรักษาจนหายเกิดการอักเสบเรื้อรังแบ่งเป็น
- หูอักเสบชนิดเรื้อรังชนิดไม่รุนแรง มีแก้วหูทะลุ โดยอาจมีน้ำหนวกไหลเป็นระยะ จะรักษาด้วยยากินและหยอด ผ่าตัดปะแก้วหูเมื่อหูแห้ง
- หูอักเสบชนิดเรื้อรังชนิดรุนแรง มีสารทำลายกระดูก ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ฝีหลังหู หน้าเบี้ยว เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง หูหนวก เวียนศีรษะ ชัก เป็นต้น จะรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาสารทำลายกระดูกออก
วิธีสังเกตลูก
- เด็กเล็ก: ให้สังเกตว่าเด็กร้องไห้โยเยหรือร้องไห้เสียงดังโดยไม่ทราบสาเหตุหรือไม่ เด็กเอามือป้องหูตัวเอง หรือถ้าใครไปถูกหูก็ร้องไห้ขึ้นมาทันทีหรือเปล่า เป็นต้น
- เด็กโต: สังเกตจาก เช่น ลูกบ่นว่าปวดหู หรือได้ยินไม่ชัดเจน บริเวณช่องหูมีกลิ่นเหม็น พูดเสียงดังกว่าปกติ ไม่สนใจเมื่อถูกเรียก ซึ่งผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์ทันที
ที่มา: สารกรมการแพทย์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2558 และ manager
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ฮัดเช้ย!! เมื่อแม่เป็นหวัดลูกในท้องจะติดไหม ?
อาการผิดปกติของทารก ที่แม่ชอบคิดว่าไม่เป็นไร กว่าจะพาลูกมาหาหมอก็เกือบสายเกินแก้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!