ประสบการณ์ตรง ลูกป่วยเป็นส่าไข้ โรคหัดกุหลาบ! ลูกรักป่วยแม่แทบขาดใจ ที่ใคร ๆ บอกว่า แบบนี้เป็นส่าไข้ แม่อยากรู้ว่า ส่าไข้ ทารก เกิดจากอะไร แล้วแม่อาบน้ำให้ลูกได้ไหม ไข้ออกผื่น รักษา ทำยังไงถึงจะหาย ดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ มีคำตอบ!
ประสบการณ์ตรง ลูกป่วยเป็นส่าไข้ โรคหัดกุหลาบ
ลูกนมแม่ล้วน 9 เดือน 15 วัน ไม่เคยป่วย ขนาดแม่เป็นไข้หวัดใหญ่ลูกยังไม่ติด แต่อยู่ ๆ วันที่เราไม่คาดคิดก็มาถึง น้องมีไข้ 38-38.5 องศาเซลเซียส ก็พาน้องมาหาหมอ หมอให้ยาลดไข้แล้วกลับบ้านรอดูอาการ 2 วัน หมดไป 3,000 แต่ถ้ามีอะไรฉุกเฉินสามารถมาได้ตลอด
พอถึงวันนัดลูกปกติมาก วัดไข้ก็ 37 กว่า ทั้งวัน ไปหาหมอ 4 โมงเย็น ถึงโรงพยาบาล 38.5 องศาเซลเซียส งานเข้าสิคะ!! เช็ดตัวด่วนเพราะเด็กมีสิทธิ์ชักได้ คุณหมอบอกว่าไข้สูงตลอด 5 วัน ต้องแอดมิทแล้วนะคะคุณแม่
หมอจะขอตรวจ RSV ไข้หวัดใหญ่ A,B ไข้เลือดออก ปัสสาวะ แล้วเชื้อไวรัสทุกตัว เพื่อหาสาเหตุ ใจตอนนั้นคือ ประกันเพิ่งทำ ฉันจะเอาไงดี แต่เพื่อลูกตอนนั้นคือต้องแอดมิทแล้ว เพื่อหาสาเหตุ จนเจ้าหน้าที่ขอเช็คประกัน สรุปคือ ประกันเพิ่งผ่านระยะรอคอยมาได้ 3 วันเอง คือโชคดีมาก ใจตอนนั้นคือดีนะที่ตัดสินใจทำ เพราะตอนแรกอีแม่ลังเลแล้วจะทำตอน 6 ขวบ เพราะเบี้ยจะถูก อีแม่คิดว่าเลี้ยงเองต้องแข็งแรง แต่ไม่ใช่เลย เด็กมีโอกาสจะป่วยได้ตลอดเวลา
สรุปสุดท้ายผลออกมาเป็นโรคหัดกุหลาบ คือจะมีไข้สูง 5 วัน แล้วออกผื่น ผื่นออกก็คือหาย เคลมไปเบา ๆ ที่ 23,000 บาท การป่วยของลูกครั้งนี้ทำให้รู้ว่า เลี้ยงดีแค่ไหน อย่าคิดว่าเขาจะไม่ป่วย ทำไว้เถอะ เสียน้อยเสียมาก อีแม่เองก็มัวลังเลจนล่วงเลยมาทำตอน 8 เดือน มีระยะรอคอยอีก ผ่านระยะรอคอยมา 3 วัน อีลูกก็จัดให้แม่ชุดใหญ่เลย ดีที่ไม่เป็นมากไปกว่านี้ ไม่งั้นแม่ ๆ อย่างเราคงอกแตกตายแน่แท้
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินกล้วยไข่ ได้ไหม? กล้วยไข่มีประโยชน์ต่อคุณแม่และทารกอย่างไร?
หัดดอกกุหลาบ โรคยอดฮิต ทารกแอดมิทกันเพียบช่วงนี้!
คุณแม่ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า คุณหมอบอกว่า ตอนนี้เด็ก ๆ ป่วยโรคนี้กันเยอะ ที่เด่นเลยคือ ไข้สูง เช็ดตัวยังไงไข้ก็ไม่ลง ลงก็แป๊บ ๆ เองค่ะ ตอนแรกหมอสันนิษฐานว่า RSV ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้เลือดออก ขอเจาะเลือดทั้งหมดทุกตัว สรุปไม่เป็น เป็นไวรัสตัวนี้ ก็คือส่าไข้ จะมีไข้สูง 5 วัน แล้วออกผื่นหลังจากไข้ลด บางคนก็ไม่รู้ ไม่พาไปหาหมอ เด็กมีสิทธิชักได้เหมือนกัน
วันแรกไป คุณหมอจะไม่ให้แอดมิท แต่จะให้ยาลดไข้มาก่อน เพื่อดูอาการ ถ้าสูงมากให้มาด่วน กันชัก แต่ของน้องไข้ไม่ลงเลยไปอีกรอบ คุณหมอจะแอดมิทเพื่อตรวจดูอาการ 2 วัน ก่อนออกจากโรงพยาบาล น้องไข้ไม่มีแล้ว ผื่นเริ่มขึ้น คุณหมอเลยให้กลับได้
นอกจากส่าไข้ ที่เด็ก ๆ แอดมิทกันเยอะ อีกโรคที่ต้องระวังคือ โรคไข้เลือดออก คุณแม่บอกว่า ตอนนี้ไข้เลือดออกกำลังมาแรง อาการจะคล้ายกัน คุณหมอเลยต้องขอเจาะเลือด
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทารกป่วยได้ง่าย แม่ต้องสังเกต และอย่าประมาท อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอขอบคุณคุณแม่ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ และขอให้น้องสุขภาพแข็งแรงเร็ว ๆ นะคะ
ส่าไข้ ทารก ไข้ออกผื่น เกิดจากอะไร ทำยังไงถึงจะหาย
ไข้ออกผื่น ส่าไข้
ส่าไข้ นั้นเป็นโรคไข้ออกผื่น มีชื่อเรียกอื่น ๆ ทั้ง หัดกุหลาบ, หัดดอกกุหลาบ หรือ ไข้ผื่นกุหลาบในทารก สาเหตุที่เกิดส่าไข้ในทารก ก็เพราะว่า ทารกติดเชื้อไวรัส Human herpesvirus type 6 (HHV-6)
เชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Human herpesvirus type 6 (HHV-6) และ Human herpesvirus type 7 (HHV-7) เป็นสาเหตุของส่าไข้ อยู่ในตระกูล Roseolovirus genus จำพวกเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม (Herpesvirus) ส่วนการมีชื่อ HHV-6 และ HHV-7 เนื่องจากพบตามหลังไวรัส Herpes simplex 1 และ 2, Cytomegalovirus, Ebstein-Barr Virus, และ Varicella-Zoster virus ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนใหญ่มักเกิดจากไวรัส HHV-6 แต่อาการที่พบในเด็กที่มีอายุ 2-3 ปี มักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HHV-7
การติดต่อของโรคส่าไข้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะเชื้อจะมีอยู่ในเสมหะและน้ำลาย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด ติดต่อโดยการสัมผัส เชื้ออาจติดอยู่ที่มือ สิ่งของเครื่องใช้ เมื่อทารกหรือเด็ก จับแล้วนำไปขยี้ตาหรือแคะขี้มูก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกไม่สบายทำไงดี? เป็นไข้ น้ำมูกไหล ทำยังไงดี ลูกร้องไห้ไม่หยุด
อาการของส่าไข้และสิ่งที่แม่ต้องรู้
โดยปกติแล้ว ระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อจะอยู่ในช่วง 5-15 วัน และจะแสดงอาการออกมาภายใน 1-2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ ซึ่งอาการของโรคจะไม่ค่อยรุนแรงมากและมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ โดยสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้
- ทารกหรือเด็กเล็กจะมีไข้สูงมากถึง 39.5-40.5 องศาเซลเซียส (ไข้สูงเฉลี่ย 39.7 องศาเซลเซียส หรือ 103-104 องศาฟาเรนไฮต์) มักจะเกิดอย่างฉับพลัน อาจตัวร้อนตลอด อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-5 วัน (โดยเฉลี่ยคือ 3 วัน)
- ส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ มีบางรายที่งอแง หรือเบื่ออาหารเล็กน้อย และบางรายมีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกใส หรือท้องเดินเล็กน้อย แต่ต้องระวังอาการชักจากไข้ร่วมด้วย
- ช่วงที่ไข้ลดหรือหลังจากไข้ลด จะมีผื่นราบบางขนาดเล็ก ๆ ประมาณ 2-5 มิลลิเมตร มีชมพูหรือสีแดงคล้ายดอกกุหลาบเกิดขึ้นทั่วไปตามลำตัว เกิดได้ทั้งหน้าอก หลัง ท้อง แล้วกระจายไปที่คอและแขน อาจขึ้นไปที่หน้าหรือลงไปที่ขาด้วย
- เด็กบางคนมีอาการคอแดง หนังตาบวมเล็กน้อย เยื่อบุตาแดง หรือมีอาการอักเสบที่แก้วหูร่วมด้วย และอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณหลังหู ท้ายทอย ในเด็กแถบเอเชียอาจพบมีแผลบริเวณด้านหลังของเพดานอ่อนติดกับลิ้นและลิ้นไก่ด้วย ทั้งนี้ ทารกบางรายอาจมีไข้สูงเพียงอย่างเดียว ไม่มีผื่นขึ้น หรือมีเพียงผื่นจาง ๆ
- ช่วงอายุที่ทารกและเด็กเล็กเป็นส่าไข้คือ อายุ 3 เดือน ถึง 3 ปี 95% ของผู้ป่วยมักจะเป็นเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
- ทารกในวัย 6 – 12 เดือน จะพบโรคส่าไข้ได้มากที่สุด
- เมื่อผ่านพ้นอายุ 3 ปีไปแล้ว จะพบได้น้อยมาก ไม่พบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่
หมายเหตุ: หากลูกน้อยมีไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว อาจเสี่ยงให้เกิดอาการชักได้ นอกจากนี้ เพราะอาการของโรคมีความคล้ายคลึงกับไข้ออกผื่นชนิดอื่น จึงควรหมั่นสังเกตอาการและไปพบแพทย์เมื่อผู้ป่วยมีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไข้ขึ้นนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นผื่นนานกว่า 3 วัน
ส่าไข้ต่างจากโรคหัดอย่างไร
- โรคส่าไข้ หลังจากผื่นขึ้นเด็กจะหายตัวร้อนและสบายดี ผื่นของโรคนี้จะขึ้นที่ลำตัวก่อนและเป็นผื่นเล็ก ๆ อยู่แยกจากกัน
- โรคหัดขณะที่ผื่นขึ้นจะมีไข้สูงต่อไปอีกหลายวัน ผื่นของโรคหัดจะขึ้นที่ใบหน้าก่อนแล้วค่อยกระจายลงล่าง และผื่นมักจะแผ่รวมกันเป็นแผ่นใหญ่
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการไข้หวัดใหญ่ อันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่ระวัง อาการเป็นอย่างไร
วิธีดูแลรักษาโรคส่าไข้ในทารก
เมื่อเด็กเล็กหรือทารกมีไข้สูงมากต้องรีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากการมีไข้สูงเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สิ่งที่แม่ต้องระวังคือ อย่าให้ลูกมีไข้สูงมากเพราะเด็กอาจเกิดอาการชักจากไข้ แม่สามารถช่วยได้ ดังนี้
- ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดตัวบ่อย ๆ โดยให้เช็ดย้อนรอยรูขุมขน และไม่สวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรือห่มผ้าหนา ๆ จนอบเกินไป เพื่อช่วยระบายความร้อนในร่างกาย
- ในระยะที่มีไข้สูงให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 5 ครั้ง โดยควรรับประทานเฉพาะเวลาที่มีอาการ ถ้าไม่หายให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง สำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 8 เม็ด หรือ 4 กรัมต่อวัน ส่วนในเด็กไม่ควรเกิน 5 ครั้งต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากมีโอกาสเกิดพิษต่อตับ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ได้
- ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ทีละน้อยแต่บ่อย ๆ โดยอาจเป็นน้ำ นม หรือน้ำหวานก็ได้ เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย
- ถ้าเด็กร้องงอแงผู้ปกครองอาจพาอุ้มเดินและตบหลังเบา ๆ เพื่อช่วยปลอบโยน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การป้องกัน ส่าไข้
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ช่วยป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ หรือ คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีเชื้อนี้และควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ และตัวผู้ป่วยเองควรหยุดพักอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นจนกว่าจะไข้จะลดลง
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กมีอาการชักร่วมด้วย ควรรีบพาไปพบแพทย์ ก่อนจะถึงมือหมอต้องมีการปฐมพยาบาลเด็กที่มีอาการชักจากไข้ ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- จับเด็กนอนหงาย ตะแคงศีรษะไปด้านในด้านหนึ่ง หรือจับเด็กนอนตะแคง พร้อมกับเชยคางขึ้นเล็กน้อย (ควรให้นอนบนพื้นที่โล่งและปลอดภัย)
- ถ้ามีน้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารในบริเวณปากหรือใบหน้า ให้เช็ดหรือดูดออกเพื่อไม่ให้เด็กสำลัก
- ควรถอดหรือปลดเสื้อผ้าให้หลวม แล้วรีบใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
- เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด สังเกตลักษณะการชักและจับระยะเวลาของการชัก เพื่อแจ้งให้แพทย์ที่ให้การรักษาทราบในภายหลัง
- อย่าผูกหรือมัดตัวเด็ก หรือใช้แรงฝืนหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของเด็ก
- อย่าใช้วัตถุ เช่น ด้ามช้อน ไม้ ปากกา ดินสอ สอดใส่ปากเด็ก เพราะอาจจะทำให้ปากหรือฟันได้รับบาดเจ็บ
- อย่าให้เด็กรับประทานอะไรในระหว่างชักหรือหลังชักใหม่ ๆ เพราะอาจจะทำให้เด็กสำลักได้
ควรรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ถ้าเด็กมีอาการชักนานเกิน 5 นาที หรือเป็นการชักครั้งแรก แม้ว่าจะเป็นการชักเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม หรือมีอาการอาเจียน ซึม หรือหายใจลำบาก นอกจากนี้ อาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคสมองอักเสบ ไวรัสตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อที่หูได้อีกด้วย ซึ่งบางสภาวะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมไปถึงบางรายอาจเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติของเม็ดเลือดขาว หรือที่เรียกว่า Haemophagocytic Syndrome และการติดเชื้อของโมโนนิวคลีโอสิส (Infectious Mononucleosis) ที่มีความรุนแรงมาก แต่สามารถพบได้น้อย
อย่างไรก็ตามโรค ส่าไข้ นี้ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 3-5 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ (ประมาณ 15% ของเด็กที่ป่วยอาจมีไข้นาน 6 วันหรือมากกว่า) จัดเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายนอกจากอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
ระหว่างที่ลูกไม่สบาย มีไข้สูง แม่ควรเช็ดตัวลดไข้ก็พอ และรีบพาลูกไปหาหมอเพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด จะได้ปลอดภัย หายห่วงอย่างแท้จริง เมื่อไข้ลดลงแล้ว มีผื่นขึ้น ก็ให้เลี่ยงอาบน้ำอุ่น ที่สำคัญอย่าเพิ่งพาลูกไปตากแอร์ หรือเจอคนเยอะ ๆ ตามห้างสรรพสินค้า แล้วอาการลูกจะค่อย ๆ ดีขึ้นค่ะ
ที่มา : medthai.com, Pobpad
บทความที่เกี่ยวข้อง :
น้ำอุ่นผสมมะนาว หรือน้ำต้มใบมะขามหัวหอม แบบไหนลดไข้ ไล่หวัดลูกได้ดีกว่ากัน
ทราบได้อย่างไรว่าลูกแพ้อาหารผ่านนมแม่ ทารกเป็นผื่น ถ่ายมีมูกเลือด คือแพ้ใช่ไหม
ทารกควรนอนท่าไหน ปลอดภัยที่สุด