6 สาเหตุความเจ็บปวดระหว่างคลอด
ความเจ็บปวดในระหว่างคลอดมีสาเหตุร่วมกันหลายอย่าง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งสาเหตุความเจ็บปวดเหล่านี้หลาย ๆ อย่างสามารถทำให้บรรเทาเบาบางลงได้ มาดูกันว่า 6 สาเหตุความเจ็บปวดระหว่างคลอดมีอะไรบ้าง
ความเจ็บปวดระหว่างคลอดสาเหตุที่ 1 :ความรุนแรงในการหดรัดตัวของมดลูก
ความรุนแรงของการหดรัดตัวของมดลูก เป็นความเจ็บปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อมีการหดรัดตัว โดยมีการกระตุ้นเส้นประสาทที่รับรู้ความเจ็บปวด ความเจ็บปวดนี้ยังเกิดจากการยืดขยายของปากมดลูก และการยืดขยายของกล้ามเนื้อมดลูกส่วนล่างด้วย
ความเจ็บปวดระหว่างคลอดสาเหตุที่ 2 : ขนาดของทารก
ขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของทารก มีความสัมพันธ์กับกระดูกเชิงกรานของคุณแม่ค่ะ หากคุณแม่มีอุ้งเชิงกรานที่กว้างจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่าย และเจ็บปวดน้อยกว่า ถ้าทารกมีขนาดใหญ่มาก การคลอดจะยากขึ้นและสร้างความเจ็บปวดให้กับคุณแม่มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งหากทารกตัวใหญ่มากคุณหมออาจจะต้องทำการผ่าคลอด
บทความแนะนำ 7 สาเหตุที่ทำให้แม่ท้องคลอดยาก
ความเจ็บปวดระหว่างคลอดสาเหตุที่ 3 :ท่าทางในการคลอด
ความเจ็บปวดระหว่างคลอดสัมพันธ์ท่าทางในการคลอดกับแรงโน้มถ่วงของโลก ปัจจุบันการคลอดลูกในประเทศไทยเรานิยมให้อยู่ในท่าราบและหงาย ซึ่งสะดวกต่อคุณหมอที่ทำคลอด แต่ที่ดีที่สุดสำหรับการลดความเจ็บปวดคือ ท่าคลานแล้วส่ายสะโพกไปมาหรือท่านั่งยอง ๆ ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงช่วยกดให้คลอดง่าย และลดความเจ็บปวดด้วย
ความเจ็บปวดระหว่างคลอดสาเหตุที่ 4 : การขยายของอุ้งเชิงกราน
ความสามารถในการขยายเส้นเอ็นของอุ้งเชิงกราน เนื้อเยื่อและข้อต่อ ซึ่งจะกระตุ้นเส้นประสาท ที่รับรู้ความเจ็บปวด เช่น แม่ที่มีอายุมากมักจะมีเส้นเอ็นเชิงกรานที่ขยายได้น้อยลง สาเหตุนี้ทำให้แม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักจะต้องผ่าตัดคลอด
ความเจ็บปวดระหว่างคลอดสาเหตุที่ 5 :การยืดขยายของเนื้อเยื่อในช่องคลอด
ในระยะที่ 2 ของการคลอด ความเจ็บปวดเกิดจาการยืดขยายของเนื้อเยื่อภายในช่องคลอด ปากช่องคลอด และการขยายออกของข้อต่อต่าง ๆ ในเชิงกราน เพราะทารกออกมาถึงช่องคลอดแล้ว
ความเจ็บปวดระหว่างคลอดสาเหตุที่ 6 : ปัจจัยทางจิตใจ
ความเจ็บปวดระหว่างคลอดมาจากปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวล ความกดดัน รบกวนจิตใจคุณแม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคลอด ทำให้คุณแม่เกิดความเจ็บปวดในระหว่างคลอด
บทความแนะนำ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของแม่ท้องทั้ง 3 ไตรมาส
ความเจ็บปวดระหว่างคลอด
การฝึกหัดเพื่อใช้ผ่อนคลายความตึงเครียด จะช่วยให้คุณแม่บรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอดลงได้บ้าง ซึ่งต่างจากคุณแม่ที่มีความเครียดสะสม จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลาสร้างความเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย รวมถึงความรู้สึกเจ็บครรภ์มากว่าปกติ ดังนั้นคุณแม่มาฝึกหัดวิธีการผผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างความสงบทางจิตใจ แล้วร่างกายจะผ่อนคลายได้ตามไปด้วย
หลากวิธีผ่อนคลายเพื่อใช้บรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอด
1. วิธีสงบจิต ให้หาที่นั่งสบาย ๆ หลับตาลง ตั้งใจให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า – ออก หายใจตามปกติ สบาย ๆ สัก 2 – 3 นาที หยุดความคิดฟุ้งซ่านทั้งปวง แม้แต่เรื่องความกังวลในการคลอดลูกนะคะ
2. การฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นส่วน ๆ เช่น ให้คุณแม่เกร็งส่วนมือแล้วคลายจากนั้นเกร็งแขนแล้วค่อย ๆ ให้คลายอาการเกร็ง
3. การฝึกให้คุณแม่เกร็งกล้ามเนื้อบางส่วนไว้ แต่ให้คลายกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ให้แขม่วท้องไว้ แต่ให้ผ่อนคลายความรู้สึกอื่น ๆ ของร่างกาย
4. ใช้เสียงคอยพูดให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย หรือให้คุณแม่เพ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยละทิ้งความคิดอื่น ๆ ออกไปให้หมด หรือที่เรียกว่าการทำจิตให้เป็นสมาธิ มักใช้กำหนดลมหายใจเข้า – ออก
5. วิธีการใช้จินตนาการเพื่อช่วยให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่อนคลาย เช่น ให้คุณแม่นึกถึงว่าตนเองกำลังนอนอยู่บนชายหาดสบาย ๆ หรือจินตนาการว่ากำลังนั่งเล่นอยู่ใต้ต้นไม้ เป็นต้น แม้ว่าจะยากเสียหน่อยที่จะจินตนาการแต่ก็ขอให้ลองดูนะคะ อย่างน้อยก็เพื่อให้ความเจ็บปวดระหว่างคลอดบรรเทาลงบ้างสักนิดก็ยังดี
6. การนวดหรือใช้มือสัมผัสเบา ๆ เช่น การลูบท้องหรือสัมผัสส่วนที่เกร็ง เพื่อให้คุณแม่รู้สึกตัวแและรู้สึกผ่อนคลายกับกล้ามเนื้อส่วนนั้น หรือให้คุณพ่อช่วยนวดในบริเวณส่วนล่างของก้นกบ หรือบริเวณอื่นที่ปวดเมื่อย เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอดได้
เรื่องน่ารู้ การนวดผ่อนคลายเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอด
1. นวดแผ่นหลังไปถึงขา ทำอย่างนุ่มนวลและนวดเป็นวงกลม ในระหว่างคลอดถ้านวดเป็นเวลาหลายชั่วโมงให้ใช้แป้งหรือoil ทาที่ผิวหนังด้วยเพื่อป้องกันการระคายเคือง โดยให้สะโพกของแม่ท้องอยู่ระหว่างเข่าและฝ่ามือของคนนวด ให้คุณแม่หายใจเข้า – ออกลึก ๆ ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างนวดตามไขสันหลังงมาเรื่อยจนถึงก้นและขาอ่อน นอกจากนี้ให้ใช้นิ้วมือกดในส่วนที่เป็นข้อต่าง ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า
2. นวดบริเวณช่องท้อง ทำอย่างนุ่มนวล สัมผัสเบา ๆ ด้วยปลายนิ้วและกดเป็นจังหวะจากด้านหนึ่งของท้องไปอีกด้านหนึ่ง และนวดบริเวณหน้าท้องตอนล่างด้วย
3. นวดบริเวณหน้าขา เนื่องจากแม่ท้องใกล้คลอดมักจะปวดตึงบริเวณหน้าขา จึงควรนวดให้มีน้ำหนักและนานโดยหมุนเป็นวงกลม
ได้ทราบแล้วนะคะว่าสาเหตุของความเจ็บปวด เจ็บมาก เจ็บน้อยเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และมีวิธีการบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอดนั้นอย่างไร
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
เอกสาร ดูแลคุณแม่ยามตั้งครรภ์ แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
หนังสือคู่มือคุณแม่เตรียมตัวก่อนคลอดและการปฏิบัติตนหลังคลอด ผู้เขียน ปาริชาติ ชมบุญ
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง