วิธีห่อตัวทารกแรกเกิด ที่ถูกต้องและทำให้ลูกปลอดภัย ควรทำอย่างไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยเห็น วิธีห่อตัวเด็ก จากการสาธิตของพยายาลหรือในคลิปวิดีโอมาบ้าง รู้ไหมว่า ห่อตัวทารกอย่างไร ให้ปลอดภัย อบอุ่น ไม่ไหลตาย ไม่อึดอัด ลูกสบาย เจ้าหนูหลับเพลินทั้งคืน มาดูกันเลย
วิธีห่อตัวทารกแรกเกิด ให้ปลอดภัยทำอย่างไร
ก่อนจะไปเรียนรู้ วิธีห่อตัวทารกแรกเกิด ขอตอบข้อสงสัยก่อนว่าทําไมต้องห่อตัวทารก เหตุผลก็คือ เจ้าตัวน้อยของคุณแม่ เพิ่งจะลืมตาดูโลก และได้เปลี่ยนที่อยู่จากภายในถุงน้ำคร่ำอันแสนอบอุ่นในร่างกายของคุณแม่ มาสู่โลกกว้าง แสงแดดจ้า ๆ อุณภูมิที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วแบบนี้ ทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกกลัว กังวล สับสน
ทารกแรกเกิดจึงร้องไห้บ่อย ๆ ต้องการอ้อมกอดอุ่น ๆ จากผู้เป็นแม่แทบจะตลอดเวลา และกว่าที่ทารกน้อยจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ทารกแรกเกิดรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ก็คือการห่อตัวทารก
ประโยชน์ของการห่อตัวทารก
การห่อตัวทารกแรกเกิด หมายถึง การนำผ้าฝ้ายหรือผ้าขนหนูมาห่อตัวทารก การห่อทารกในช่วงหลังคลอดเป็นการช่วยให้ทารกแรกเกิด ค่อย ๆ ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ช่วยกระชับแขนขา ลดอาการสะดุ้งตกใจจากเสียงดัง ที่สำคัญคือ การห่อตัวทารกแรกเกิดอย่างถูกต้อง จะช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกายทารก ให้อบอุ่นสบายไม่รู้สึกหนาว ทั้งยังทำให้ทารกแรกเกิดนอนหลับได้นานขึ้น
หยุดห่อตัวทารก ตอนกี่เดือน
ระยะเวลาการห่อตัวทารกแรกเกิดนั้นไม่แน่นอน ปกติแล้วจะห่อตัวทารกแรกเกิด 3 วันหลังคลอดจวบจน 1 เดือน หรือเลิกห่อตัวทารกแรกเกิดเมื่อทารกนั้นเริ่มพลิกตัว กลับตัวได้เอง
ข้อควรระวังของ การห่อตัวทารกแรกเกิด
จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Pediatrics ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 พบว่า การห่อตัวทารก อาจมีความเสี่ยงกับโรคไหลตาย โดยการศึกษานี้อาศัยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ดังนั้น การห่อตัวทารกอาจไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัยสำหรับทารก หากวิธีห่อตัวทารกแรกเกิดนั้นไม่ถูกต้อง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตาย สาเหตุพื้นฐานคือ เมื่อทารกน้อยเริ่มพลิกตัวนอนคว่ำในขณะได้รับการห่อตัวอาจทำให้ขาดอากาศหายใจ เนื่องจากการคว่ำหน้าลงบนวัสดุรองนอน ทารกจะไม่สามารถพลิกตัวกลับมานอนหงายได้เอง เนื่องจากแขนขาถูกห่อเอาไว้ นอกจากนี้ การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ทารกที่ได้รับการห่อตัวในขณะหลับจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับการห่อตัวหลังได้รับการกระตุ้นด้วยเสียงดัง ถ้าหากทารกน้อยมีความบกพร่องในการควบคุมการทำงานของหัวใจและไม่สามารถปลุกให้ตื่นจากการนอนหลับ อาจนำไปสู่การลดการตอบสนองของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ก่อให้เกิดโรคไหลตายในทารกหรือ sudden infant death syndrome (SIDS)
วิธีห่อตัวทารกแรกเกิดให้ปลอดภัย
วิธีห่อตัวทารกแรกเกิด มี 3 วิธี
- ห่อผ้าบริเวณตัวและปกคลุมส่วนศีรษะของทารกโดยเว้นบริเวณใบหน้า
- ห่อผ้าบริเวณตัวและคลุมถึงส่วนคอของทารก
- ห่อผ้าครึ่งตัวของทารก
บางครั้งวิธีการห่อตัวทารกมีความแตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติและวัฒนธรรม การห่อตัวทารกควรเลือกคุณลักษณะของผ้าให้เหมาะกับสภาวะอากาศ เช่น หากในวันที่มีสภาพอากาศร้อนควรเลือกใช้ผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หรือ ในวันที่มีอากาศเย็นควรเลือกผ้าที่หนาพอจะรักษาความอบอุ่นให้ทารก
วิธีห่อตัวทารกแรกเกิดให้ปลอดภัย
วิธีการห่อตัวทารกแรกเกิด ให้ปลอดภัย
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Pediatrics) ให้คำแนะนำในการห่อตัวทารกน้อยเพื่อความปลอดภัยในการนอนของทารกในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนไว้ ดังนี้
- ให้ทารกนอนหลับในท่านอนหงาย เฝ้าติดตามดูลูกน้อยเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยไม่ผลิกตัวนอนคว่ำหรือนอนตะแคงข้าง ในระหว่างที่ห่อตัวลูกทารกไว้ขณะนอนหลับ
- จัดผ้าปูที่นอนหรือวัสดุรองนอนบนเตียงของลูกน้อยให้ตึงอยู่เสมอ เนื่องจากผ้าปูที่นอนหรือวัสดุรองนอนที่หย่อนรวมถึงผ้าห่อตัวทารกที่ห่อไว้หลวม ๆ อาจหลุดออกจากเตียงหรือตัวของทารกน้อยและอาจเป็นสาเหตุทำให้อุดปากหรือจมูกขัดขวางทางเดินหายใจและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศได้
- วัสดุรองนอนของทารกต้องปราศจากแผ่นรองนอนที่นิ่มจนบุ่มลงเป็นแอ่ง ปราศจากของเล่นชนิดต่าง ๆ หมอนและเครื่องนอนอื่น ๆ ควรแยกที่นอนของทารกออกจากที่นอนหลักของพ่อแม่เพื่อลดความสูญเสียทารกจากการนอนทับหรืออุบัติเหตุ
- การห่อตัวอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายของทารกสูงกว่าปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตร่างกายของทารกน้อยอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการห่อตัว อาการที่บ่งบอกถึงสภาพของทารกที่ร้อนกว่าปกติ เช่น มีเหงื่อออกตามตัว ผมเปียกชื้น แก้มแดงกว่าปกติ มีผื่นขึ้นจากความร้อน หายใจเร็ว เป็นต้น
- พิจารณาใช้จุกนมหลอกสำหรับให้ทารกดูดจะช่วยให้ทารกหลับสนิทได้ดีในระหว่างวัน บริเวณที่นอนของทารกต้องปราศจากควันหรือสารพิษอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราศจากควันบุหรี่
วิธีห่อตัวทารกแรกเกิดที่ถูกต้องจะช่วยให้ทารกปลอดภัย อบอุ่น นอนหลับสบาย เพียงต้องระมัดระวังในการห่อตัวทารก และเมื่อทารกพลิกตัวได้ หรือมีอายุราว ๆ 1 เดือน ก็ให้เลิกห่อตัวทารกได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตารางพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-6 ปี พฤติกรรมและพัฒนาการทารก ตั้งแต่แรกเกิด! ทำอะไรได้มากขึ้นแล้วนะแม่
สิวทารกแรกเกิด เกิดจากอะไร อันตรายไหม พ่อแม่ต้องจัดการอย่างไร
วิธีวัดการเจริญเติบโตของทารก ชั่งน้ำหนักทารก วัดความยาวทารก วัดเส้นรอบศีรษะลูก ลูกโตตามเกณฑ์ไหม
วัคซีนที่ควรฉีดให้ลูก พาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบ วัคซีนพื้นฐาน วัคซีนเสริม เริ่มฉีดตั้งแต่แรกเกิด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!