ดร.เวนดี้ วอลเลซ กุมารแพทย์จาก The Children’s Hospital of Philadelphia Care Network ให้คำแนะนำเรื่อง วิธีฝึกลูกนอนคว่ำ ว่า “การให้ลูกนอนคว่ำ หรือ Tummy Time ในขณะที่มีผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่ข้าง ๆ จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกได้”
การที่ลูกนอนหงายอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เพียงแต่จะทำให้เจ้าตัวน้อยหัวไม่แบนเท่านั้น แต่ยังทำให้ศีรษะของทารก รวมไปถึงคอ และกล้ามเนื้อช่วงหัวไหล่ ไม่ได้ขยับออกกำลังอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งการให้ลูกนอนคว่ำ หรือ Tummy Time จะช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้
และเมื่อทารกนอนคว่ำ เขาก็จะแหงนหน้า ขยับศีรษะไปมา โดยการมองไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง แถมยังเป็นการช่วยให้คอ ไหล่ และลำตัวมีการเคลื่อนไหวที่ดี และแข็งแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน กล้ามเนื้อตาของทารกก็จะแข็งแรงขึ้นจากการที่ลูกกรอกตามองไปมาในระหว่างที่นอนคว่ำอีกด้วย
วิธีฝึกลูกนอนคว่ำ
ดร.เวนดี้ วอลเลซ กล่าวว่า “ช่วง Tummy Time เป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะได้เล่น และมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อย” นอกจากนี้ คุณหมอยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้น Tummy Time ได้ทันทีที่กลับมาจากโรงพยาบาลหลังคลอด โดยในช่วงแรกให้ตั้งเป้าไว้เพียงระยะสั้น ๆ (3 ถึง 5 นาที) 2 หรือ 3 ครั้งต่อวัน จนเมื่อลูกน้อยโตและแข็งแรงขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถเพิ่มระยะเวลาขึ้น รวม ๆ แล้วประมาณ 40 ถึง 60 นาที สําหรับ Tummy Time ในทุก ๆ วัน
วิธีฝึกลูกนอนคว่ำ หรือ Tummy Time ก็ง่าย ๆ เริ่มจากปูผ้าห่มสะอาด ๆ บนพื้น หรือให้นอนคว่ำบนที่นอนลูกก็ได้ จากนั้นก็จับลูกน้อยนอนคว่ำหน้า แต่ที่สำคัญ เพื่อความปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ควรจับลูกนอนควํ่าในขณะที่ลูกน้อยตื่นอยู่ และมีคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลคนอื่นอยู่ข้าง ๆ ช่วยดูลูกอย่างใกล้ชิด โดยเคล็ดลับฝึกลูกนอนคว่ำมีดังนี้
- หาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูก และไม่ปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด เพราะแม้แต่พื้นที่ ๆ มีพื้นผิวเรียบ ก็อาจเกิดอันตรายได้
- เริ่มจากการหัดคว่ำบนตัวแม่กันก่อน เป็นวิธีที่จะได้ใกล้ชิดกับลูก ได้มองหน้ากันแบบชัด ๆ ซึ่งนั่นจะช่วยให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย
- หาของเล่นไว้ใกล้ตัว ของเล่นนี่แหละจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ลูกได้เคลื่อนไหว โดยลูกจะอยากหยอบของเล่น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมีการออกแรง
- ทำให้ถูกเวลา แนะนำให้ทำตอนเช้าหลังลูกตื่นนอน หรือไม่ก็หลังเสร็จ เพราะเป็นเวลาที่ลูกสบายตัวที่สุด
ลูกไม่ยอมนอนคว่ำ ไม่ชอบ Tummy Time ทำอย่างไรดี
เด็กหลายคนชอบนอนคว่ำ ในขณะที่เด็กอีกหลายคนก็อาจจะไม่ชอบ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามต่อไป หากลูกไม่ชอบหรือไม่ยอมนอนคว่ำ ก็ให้ลองทำตามวิธีดังนี้ดูนะครับ
- ค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรก ๆ นั้น เด็กบางคนอาจจะนอนคว่ำได้ไม่นาน ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ
- ขยับไปอยู่ระดับเดียวกับลูกน้อย “การนอนคว่ำครั้งแรกอาจเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับลูกน้อย เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ที่ลูกน้อยไม่เคยทำมาก่อน” ดร.วอลเลซกล่าว “ลองนอนนลงบนพื้นแล้วเงยหน้ามาสบตากับลูกดูสิ แล้วลูกจะรู้สึกมั่นใจขึ้น”
- ใช้กระจกเงา บางครั้งลูกน้อยอาจจะชอบยกศีรษะขึ้นมาดูภาพสะท้อนของตัวเองเหมือนกันนะ
- จับลูกนอนบนท้องหรือหน้าอก ดร.วอลเลซบอกว่าเด็กแรกเกิดมักจะชอบนอนบนตัวคุณพ่อคุณแม่ และแหงนหน้าขึ้นมามองหน้าคุณพ่อคุณแม่
- ให้พี่มีส่วนร่วม หากเจ้าตัวเล็กมีพี่ชายหรือพี่สาว ลองให้พี่ ๆ นอนราบไปกับพื้น แล้วเล่นกับเจ้าตัวน้อยดูสิ แต่ในระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูอยู่อย่างใกล้ชิดนะ
- ให้ลูกนอนคว่ำไปพร้อมกับทำกิจกรรมอื่นๆ ลองจับลูกนอนคว่ำตอนที่คุณเช็ดตัวให้เจ้าตัวน้อยหลังอาบน้ำ ทาโลชั่น หรือจับลูกเรอบนตัก
- ร้องเพลง หรือเล่านิทาน ตอนจับลูกคว่ำ ลูกน้อยอาจจะยกหัวขึ้นมาตอนที่ได้ยินเสียงคุณ หากลูกเงยหน้าขึ้นมาก็อย่าลืมจ้องตาเขาด้วยนะ
- หาตัวช่วยพยุง หาหมอนใบเล็ก ๆ หรือเอาผ้าห่มมาม้วนแล้ววางไว้ใต้หน้าอกของเจ้าตัวน้อย แล้วยืดแขนของลูกออกไปด้านหน้าเหรือหมอน หรือผ้าก่มที่ม้วนไว้ แต่ต้องคอยระวังไม่ให้คาง ปาก และจมูกอยู่ติดกับหมอนข้างนะครับ เพราะบางครั้ง หากลูกยังคอไม่แข็งเต็มที่ก็อาจจะฟุบลงไปทำให้หายใจไม่ออกได้
ที่มา webmd.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เล่นอย่างไร ให้ลูกหัวไว ในช่วงขวบปีแรก
7 ของเล่นยอดแย่ ที่พ่อแม่ไม่ควรซื้อให้ลูก
ลูกเหงื่อออกตอนนอน สัญญาณโรคร้ายที่พ่อแม่ต้องระวัง