ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่น้ำหนักมักจะลดลงในช่วง 2-3 วันแรกหลังการคลอด จึงต้องให้นมลูกน้อยวัยแรกเกิดบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกกลับมามีน้ำหนักตัวอีกครั้ง โดยปกติจะใช้เวลาภายในหนึ่งสัปดาห์หลังคลอดเท่านั้น วันนี้เราจึงมี วิธีปลุกทารกแรกเกิด มาฝากและไม่ให้ลูกร้องไห้ หากลูกน้อยนอนยาวมากกว่า 4 ชั่วโมงค่ะ
ทารกแรกเกิดกินนมบ่อยแค่ไหน
ปริมาณนมที่ทารกต้องการต่อการกินนมหนึ่งครั้งในเดือนแรกหลังคลอด จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามขนาด กระเพาะทารกแรกเกิด ที่ค่อย ๆ ขยายขึ้น สำหรับกระเพาะทารกแรกเกิด มีขนาดดังนี้
- 1 วันแรก กระเพาะของทารกยังมีขนาดเท่าลูกแก้ว สามารถรับนม 5 – 7 ซีซี
- 3 วันหลังคลอด กระเพาะทารกเริ่มใหญ่เท่าลูกวอลนัต รับนมได้ 22 – 27 ซีซี
- 7 วัน กระเพาะทารกมีขนาดเท่าผลแอปริคอต ควรได้รับนม 45 – 60 ซีซี
- ครบ 30 วัน กระเพาะของทารกมีขนาดเท่าไข่ไก่ ควรได้รับนม 80 -150 ซีซี
บทความที่เกี่ยวข้อง : เรื่องนิสัยการ ดูดนมเด็ก ทำไมเด็ก 1-2 เดือนแรกจึงไม่ควรดูดนมจากขวด?
จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกกินนมอิ่มแล้ว
สำหรับเด็กวัยแรกเกิด ที่ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ และด้วยความที่คุณแม่ก็มักจะกังวลว่าลูกจะกินนมไม่อิ่ม กลัวลูกจะโตช้าถ้าหากกินนมน้อย จึงพยายามให้ลูกกินนมเยอะ ๆ และกลายเป็นว่าลูกกินนมเยอะเกินไป จนล้นกระเพาะ หรือที่เราเรียกกันว่า Overfeeding
วิธีสังเกตว่าทารกแรกเกิดอิ่ม
- ถ้าลูกหลับขณะกินนมและคายหัวนมออกเอง แสดงว่าลูกกินอิ่ม
- หากลูกยังไม่คายออก เพียงแต่อมหัวนมไว้ หรือดูดแค่เบา ๆ คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดต่อ โดยเขี่ยเบา ๆ บริเวณริมฝีปากด้านล่าง
- ปัสสาวะทารกแรกเกิดมักจะมีสีเหลืองอ่อนใส ชุ่มผ้าอ้อมประมาณวันละ 6-8 ครั้ง นั่นแสดงว่าทารกแรกเกิดได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ
- น้ำหนักลูกควรขึ้นตามเกณฑ์ปกติ ไม่มาก หรือน้อยเกินไป โดยน้ำหนักของทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน ควรเพิ่มขึ้น 600-900 กรัม/เดือน
ทารกนอนนานควรปลุกกินนมไหม
สำหรับทารกแรกเกิดถึง 1 เดือนนั้น ถ้าลูกมีน้ำหนักทารกต่ำกว่าเกณฑ์ก็ควรปลุกลูกแรกเกิดให้ตื่นมากินน้ำนมแม่ โดยเฉพาะทารก 2-3 วันแรกหลังคลอด เพราะวันแรก ๆ ทารกมักจะมีน้ำหนักน้อย ดังนั้น ในสัปดาห์แรกหลังคลอด แม่ให้นมควรปลุกทารกแรกเกิด ให้ตื่นมากินนมแม่ถ้าทารกนอนนานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะทารกแรกเกิดต้องกินนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง นับเป็นครั้งคือ ทารกแรกเกิดควรกินนมแม่ 8-12 ครั้งต่อวัน ซึ่งแม่สามารถจับอาการหิวนมของลูกได้ เมื่อทารกแรกเกิดขยับตัว ขยับปากคล้ายดูดนม นั่นคือลูกหิวแล้ว อยากกินนมแม่แล้วค่ะ นอกจากนี้ การให้ทารกแรกเกิดเข้าเต้าดูดนมแม่บ่อย ๆ ยังช่วยให้น้ำนมแม่ผลิตอย่างเพียงพออีกด้วย
ถ้าทารกอายุ 2-3 เดือนนอนนาน ๆ ไม่ตื่นมากินนมมื้อดึก ก็ไม่ต้องปลุกนะคะ เพียงแต่ระหว่างวัน แม่ให้นมอย่างเพียงพอ โดยดูได้จากน้ำหนักของทารก
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีปลุกลูกเข้าเต้า แบบไม่ให้ลูกร้องไห้งอแง
วิธีปลุกทารกแรกเกิด เข้าเต้าไม่ให้งอแง
- หากมีผ้า หรือผ้าห่มคลุมตัวทารกอยู่ ให้เอาผ้าห่ม หรือผ้าคลุมตัวทารกออกก่อน เพื่อให้ทารกขยับแขนขาได้สะดวก แล้วค่อย ๆ อุ้มลูก ให้ริมฝีปากได้สัมผัสกับหัวนม ค่อย ๆ เขี่ยริมฝีปากลูก ให้ลูกรับรู้ว่า ถึงเวลากินนมแล้วนะ
- ให้ทารกกินนมในท่าที่ลำตัวอยู่ในแนวตั้ง
- นวดลำตัวทารกเบา ๆ และพูดคุยกับทารก
- ไม่ปลุกทารกด้วยการทำให้ทารกเจ็บโดยการตี หรือจิกที่แก้มหรือเท้า
คุณแม่สามารถประเมินว่า ลูกดื่มนมพอหรือไม่ ดังนี้
1. สังเกตจากการผิวหนัง ถ้ากดลงไปแล้วผิวหนังยืดหยุ่นดีก็แปลว่าได้รับนมพอเพียง
2. ปัสสาวะของทารก มีสีเหลืองใส
3. หลังดูดนมแล้วนมเบาลง หรือนมเกลี้ยงเต้าแล้ว น่าจะแสดงว่าลูกได้รับนมที่เพียงพอแล้วค่ะ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าลูกอาจจะยังไม่อิ่ม หรือบางทีดูดนมไปแล้วลูกเผลอหลับ ให้กระตุ้นโดยเขี่ยเบา ๆ ที่บริเวณริมฝีปากด้านล่าง เพื่อกระตุ้นให้ลูกดูดนมต่อค่ะ
จริง ๆ แล้วการเลี้ยงลูกไม่ได้มีกฎตายตัว เพราะเด็กในแต่ละช่วงอายุมีความต้องการนมแตกต่างกัน และในเด็กช่วงอายุเดียวกันก็มีความต้องการนมแตกต่างกันได้เช่นกันค่ะ บางคนหิวเก่ง สามารถทานนมได้ทีละมาก ๆ แล้วหลับยาว 3-4 ชั่วโมง แต่เด็กบางคนกระเพาะเล็ก ทานได้ทีละน้อย ๆ ซึ่งในส่วนนี้คุณแม่ต้องสังเกตด้วยตัวเอง หากลูกตัวเล็กเกินไปก็ควรปลุกมาเข้าเต้าทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
จำเป็นไหมที่ต้องให้ทารกกินนมตอนกลางคืน ลูกจะเคยตัวหรือเปล่า
ให้ลูกดูด นมจากเต้า เท่าไหร่ถึงพอ กับอีกสารพัดเรื่องเกี่ยวกับ “นมแม่”
ตารางเลี้ยงเด็ก วัย 0-1 ปี นอนกี่ชั่วโมง กินนมตอนไหน กินนมบ่อยแค่ไหน