เคล็ด(ไม่)ลับ วิธีดูแลบาดแผลลูก ให้หายเร็ว พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เพราะเด็ก ๆ วัยซน สามารถเกิดอุบัติเหตุได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งไข่ไปจนถึงอนุบาล เพราะเป็นช่วงวัยที่ชอบเล่นสนุก ไม่ชอบอยู่กับที่ ซึ่งก็อาจจะมีบางครั้ง ที่เขาสะดุดล้มจนเป็นแผลตามร่างกาย หรือไปโดนอะไรข่วนจนบาดเจ็บ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีดูแลบาดแผลลูก และการปฐมพยาบาลบาดแผลอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันอันตรายและลดอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้

วันนี้ theAsianparent จะพามาดูวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้กัน แต่แผลมีหลายประเภทเยอะแยะไปหมด การดูแลแผลแต่ละชนิดแตกต่างกันไป ก่อนที่จะไปดูถึงวิธีการหรือข้อปฏิบัติในการปฐมพยาบาลนั้น อยากให้ทราบถึงชนิดของบาดแผลกันก่อน ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรต้องรู้ตามนี้ค่ะ

 

 

แผลมีกี่ประเภท

แผล เกิดจากภาวะที่เนื้อเยื่อในร่างกายถูกทำลาย ซึ่งอาจมาจากการผ่าตัด หกล้ม การเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ หรือจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา ปกติแล้ว แผลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ แผลปิดและแผลเปิด โดยแผลปิดนั้น จะเป็นแผลที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อสัมผัสกับสิ่งเร้าภายนอก และหายได้ไว ส่วนแผลเปิด จะเป็นแผลที่ทำให้เนื้อเยื่อมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งสกปรก หรือสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

แผลชนิดต่าง ๆ ที่มักพบในเด็ก

  • แผลถลอก : พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด แม้แผลถลอกจะไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็น แต่มักมีการเปรอะเปื้อน จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น
  • แผลถูกของมีคมบาด : มักทำให้เกิดความเสียหายแก่เส้นเลือด หากเป็นแผลขนาดเล็ก สามารถรักษาได้เอง แต่ถ้าแผลลึกควรรีบพบแพทย์
  • แผลจากแมลง สัตว์ กัดต่อย : มักมีอาการปวด บวม แดง หรือคัน หากเป็นแมลงที่พิษไม่ร้ายแรง เช่น มด สามารถรักษาได้เองด้วยการทายา หรือถ้าถูกผึ้งต่อยก็ควรเอาเหล็กในออกให้เร็วที่สุด ส่วนถ้าเป็นแมลงมีพิษที่ไม่รู้จัก หรือถูกสัตว์ชนิดใดกัดก็ตาม ต้องได้รับการตรวจจากแพทย์เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • แผลพุพอง : เกิดจากการที่ผิวหนังถูกเสียดสีมากเกินไป จนเกิดเป็นตุ่มน้ำและแตกออกจากเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ

บทความที่เกี่ยวข้อง : แผล ลูกมีแผลทำไงดี วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นง่าย ๆ ที่คุณแม่ก็ทำได้

 

แผลแบบไหน ที่ต้องไปพบแพทย์

ปกติแล้ว คุณแม่สามารถรักษาแผลที่เป็นรอยบาดเล็ก ๆ หรือรอยถลอกให้น้อง ๆ ได้เองที่บ้าน อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการต่อไปนี้ ควรพาเขาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • เด็กมีอาการขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อยครั้ง ฉี่มีสีเข้ม ปากแห้ง หรือ เบ้าตาลึก เป็นต้น
  • แผลเริ่มส่งกลิ่นเหม็น และมีหนองไหลออกมาจากแผล ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
  • แผลบวมขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีรอยริ้วสีแดงขึ้นรอบ ๆ แผล
  • เป็นแผลจากของมีคม และขนาดแผลใหญ่เกิน 1/2 นิ้ว
  • เด็กยังรู้สึกปวดแผล แม้จะรับประทานยาแก้ปวดไปแล้วก็ตาม
  • เด็กโดนสิ่งของมีคมปักเข้าตามร่างกาย และไม่สามารถเอาออกได้
  • มีแผลรอยบาดจากของมีคมที่ตา ใบหน้า กระดูกอ่อนบริเวณจมูก หรือหู
  • แผลเริ่มลุกลาม ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น
  • ไม่สามารถห้ามเลือดที่แผลเด็กได้
  • มีเลือดออกเยอะมาก
  • มีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต
  • เด็กมีแผลเหวอะ

หากเด็ก ๆ โดนของมีคมปักเข้าที่ร่างกาย ไม่ควรพยายามดึงเอาสิ่งสิ่งนั้นออกเอง วิธีที่ดีที่สุด คือ การกดแผลไว้ เพื่อไม่ให้เลือดไหล และให้รีบโทรหาหน่วยงานแพทย์ทันที

 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

วิธีดูแลบาดแผลลูก

เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น สิ่งสำคัญที่คุณแม่คุณพ่อควรทำเป็นอย่างแรกนั่นคือ การปฐมพยาบาลเพื่อดูแลแผลในเบื้องต้นให้ลูกก่อน แล้วสังเกตดูว่าแผลลูกรุนแรงเพียงใด หากแผลที่เกิดขึ้นต้องได้รับการรักษาอย่างละเอียดอีกครั้งจากคุณหมอ จะได้รีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที  เราลองไปดูวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อดูแลแผลลูกให้หายเร็วพร้อมกันค่ะ

  • คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดก่อนปฐมพยาบาล
  • หากบาดแผลมีเลือดออก ต้องห้ามเลือดก่อน โดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซกดลงไปที่แผลแล้วนิ่งค้างไว้ประมาณ 10-15 นาทีจนเลือดหยุดไหล ในกรณีเป็นแผลบวมพองที่เกิดจากความร้อนหรือน้ำร้อนลวกคุณแม่ห้ามเจาะหรือเปิดผิวหนังบริเวณแผลของลูกอย่างเด็ดขาดและไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดประคบ เพราะอาจทำให้แผลยิ่งลึกมากขึ้นได้
  • จากนั้นให้ล้างทำความสะอาดแผลของลูกด้วยน้ำสะอาด โดยให้น้ำไหลผ่านแผล คุณแม่ไม่ควรขัดถูบริเวณแผลเพราะจะยิ่งทำให้แผลเปิดกว้างยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังควรตรวจดูด้วยว่ามีเศษไม้หรือเศษสิ่งสกปรกตกค้างอยู่บริเวณแผลหรือไม่ หากมีควรใช้แหนบที่สะอาดคีบออก เพราะสิ่งสกปรกที่ตกค้างจะเป็นสาเหตุทำให้แผลของลูกเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ และเป็นหนองตามมาได้ หากบริเวณแผลของลูกสกปรกมาก คุณแม่ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดบริเวณรอบๆแผล แต่ห้ามเช็ดบริเวณแผลโดยตรงนะคะ เพราะลูกจะรู้สึกแสบมากและทำให้แผลของลูกน้อยหายช้าค่ะ
  • นำผ้าสะอาดมาซับบริเวณบาดแผลให้แห้งสนิทอย่างเบามือ  จากนั้นให้คุณแม่ทาครีมฆ่าเชื้อบริเวณแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อและอักเสบ หากเป็นบาดแผลที่เปิดกว้าง เช่น แผลถลอกจากการหกล้ม คุณแม่ควรใช้ผ้าก๊อซหรือปลาสเตอร์ปิดแผลเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเข้าสู่บาดแผล  และไม่ควรใช้สำลีปิดแผลเพราะสำลีจะติดแผลและเอาออกได้ยากค่ะ
  • ในกรณีที่แผลค่อนข้างลึกหรือมีเลือดออกมา หลังจากคุณแม่ทำการปฐมพยาบาลแล้วควรรีบนำลูกน้อยไปพบคุณหมอเพราะอาจต้องมีการเย็บแผลและดูแลรักษาในขั้นตอนอื่นต่อไป เช่น การรับวัคซีนบาดทะยักค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : แผลฟกช้ำ ตามร่างกายเด็ก ทำยังไงให้หาย ต้องไปหาหมอหรือเปล่า

 

วิธีเลือกครีมที่ช่วยดูแลรักษาแผล จะช่วยให้แผลลูกหายเร็วขึ้น

ผิวเด็กมีความบอบบางกว่าผิวของผู้ใหญ่มาก ด้วยโครงสร้างภายในชั้นผิว ต่อมเหงื่อ ชั้นไขมัน อาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ ผิวของลูกน้อยจึงเกิดการแพ้และระคายเคืองได้ง่าย ดังนั้นคุณแม่ต้องระมัดระวังในการเลือกใช้ยาทาแผลสำหรับลูก หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์รุนแรงกับผิวลูก เพราะอาจทำให้ผิวบอบบางของลูกน้อยระคายเคือง เกิดการแพ้ หรือลอกไหม้ได้ คุณแม่ควรเลือกใช้ครีมทาแผลสำหรับเด็ก ที่มีความอ่อนโยนและมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพราะหากแผลติดเชื้อจะทำให้ผิวหนังอักเสบ แผลหายช้า และเกิดแผลเป็นได้ค่ะ

นอกจากนั้นการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของโปรวิตามิน บี5 ซึ่งเป็นวิตามินผิวช่วยฟื้นฟูให้ผิว บริเวณที่เกิดบาดแผลมีความชุ่มชื้น ไม่แห้งตึง ช่วยให้แผลสมานไว และลดอาการคันเมื่อแผลเริ่มตกสะเก็ด คุณแม่จึงสบายใจได้ว่าลูกน้อยจะไม่เกาแผล และบาดแผลของลูกน้อยจะหายเร็ว ไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้คุณแม่ต้องช้ำใจเลยค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

 

ทำยังไงไม่ให้เด็กเกิดแผล

การห้ามไม่ให้เด็กซุกซนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเด็ก ๆ อยู่ในวัยที่ชอบเล่นสนุกและวิ่งเล่น ขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็น และชอบสำรวจโลก แต่หากคุณแม่ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กเกิดแผลได้ง่าย ก็อาจทำตามวิธีต่อไปนี้ได้

  • หากเด็ก ๆ ต้องการปั่นจักรยาน ควรสวมหมวกกันน็อกให้เด็ก ๆ เพื่อที่ว่าเวลาล้ม จะได้ช่วยป้องกันศีรษะเด็กได้
  •  ไม่ให้เด็กวิ่งเล่นในเวลาพลบค่ำ เพราะเด็กอาจมองไม่เห็นสิ่งกีดขวาง ที่อาจทำอันตรายเขาจนได้รับบาดเจ็บ
  • แต่งตัวให้เด็ก ๆ อย่างมิดชิดในระหว่างการเล่น เพื่อไม่ให้รับบาดเจ็บทางผิวหนังได้ง่าย
  • เก็บเครื่องมือหรือของมีคมไว้ให้ห่างจากเด็ก เพื่อที่เด็กจะได้ไม่หยิบมาเล่น
  • เฝ้าดูเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิดเมื่อเด็กกำลังเล่นสนุก

 

โดยทั่วไปนั้น แผลของเด็กหายได้ไวมาก ถ้าเทียบกับผู้ใหญ่อย่างเรา จึงไม่ใช่สิ่งที่คุณแม่ต้องกังวลใจ หากคุณแม่ปฐมพยาบาลให้ลูก ๆ เสร็จแล้ว ก็ยังต้องดูแลรักษาความสะอาดแผลของเด็กให้ดีจนกว่าแผลจะหาย หรือหากไปพบคุณหมอมาแล้ว ก็ควรทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้เด็ก ๆ แผลหายไว และกลับมาสดใสร่าเริงได้อย่างเดิม

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ประคบร้อนประคบเย็น ต่างกันยังไง? ลูกหัวโน ข้อเท้าแพลง ต้องประคบแบบไหนถึงจะถูก?

ลูกสําลักอาหาร ปฐมพยาบาล อย่างไร ป้อนอาหารเด็กเล็ก ต้องระวัง! อาหารอันตราย

ลูกโดนงูเห่ากัด ลูกถูกงูกัด ทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด ดูดพิษได้ไหม ต้องรัดผ้าเหนือแผลหรือเปล่า

ที่มา : รพ.บางปะกอก3

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team