โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว พบในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยร้อยละ 60 จะแสดงอาการในขวบปีแรก ซึ่งอาจส่งผลจนมีอาการเรื้อรังต่อไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ หากพบว่า ทารกมีผื่นแพ้ตามตัว ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างเหมาะสม วันนี้ theAsianaparent จะพามาดูกันว่า ลูกมีผื่นแพ้ตามตัว สังเกตอย่างไร และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นผื่นแพ้
จากการสำรวจพบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า ภายในระยะ 40 ปี และเด็กไทยมากกว่าร้อยละ 50 ที่มีภาวะแพ้ มีความเสี่ยงสูงที่จะแสดงอาการแพ้รุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่
- พันธุกรรม หากพ่อแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ย่อมมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 50 – 80
- สิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี มลภาวะ สภาพอากาศ อาหาร เสื้อผ้า ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ แมลง ไรฝุ่น แบคทีเรีย เชื้อรา บุหรี่ โดยผู้ป่วยราว 10% จะพบว่าอาหารบางชนิด เช่น ไข่ ถั่ว นมวัว เป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังกำเริบรุนแรง
อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นเด็ก เป็นอย่างไร
ลักษณะการแสดงอาการของโรค จะแตกต่างกันไปตามช่วงวัยของเด็ก ดังนี้
- วัยทารก พบระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยมักจะเริ่มพบผื่นแดงคัน มีตุ่มแดง และตุ่มน้ำเล็ก ๆ อยู่ในผื่นแดงนั้น ที่แก้มถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองหรือตกสะเก็ด อาจพบร่องรอยจากการเกาหรือขัดถู โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกถูไถ สัมผัสกับพื้นหรือที่นอน ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้
- วัยเด็ก อายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ ผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดงแห้ง ๆ มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก มีอาการคัน ผู้ป่วยมักเกาจนเกิดรอยถลอกหรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในรอยโรคได้
- วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก ลูกมีผื่นผิวหนังอักเสบผิดปกติไหม อย่ารอจนเรื้อรัง
ทารกมีผื่นแพ้ตามตัว ผื่นเด็ก ต้องดูแลอย่างไร
1.พบแพทย์ทันทีที่สังเกตเห็นอาการผื่นแพ้ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล ลดการเสียดสีบริเวณแผล และห้ามเกาแผลเด็ดขาด เพื่อป้องกันอาการผิวหนังอักเสบ ที่อาจติดเชื้อลุกลามไปทั่วทั้งตัว หากพบว่าแผลมีลักษณะอักเสบ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม หรือแผลลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
3.หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการก่อโรค เช่น เลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคือง เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ทำความสะอาดบริเวณที่นอน และรอบ ๆ บ้านให้สะอาด ปราศจากไรฝุ่น หรือเกสรดอกไม้ งดทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ไข่แดง แป้ง ถั่ว นมวัว หรือหากลูกแพ้นมวัวผ่านนมแม่ แม่ควรงดทานนมวัวตลอดช่วงให้นมบุตร เป็นต้น
วิธีการรักษา ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก
วิธีการรักษาโรคผื่นแพ้ผิวหนังในเด็กมี 3 วิธี ดังนี้ค่ะ
1. ดูแลผิวด้วยวิธีเบื้องต้นและใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้น
การทาครีมและปฏิบัติตัวในการดูแลผิวอย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยลดปัญหาที่ทำให้เกิดผิวแห้งได้ระดับหนึ่ง เช่น การเลือกใช้สบู่ และการอาบน้ำอย่างถูกวิธี
2. ใช้ยาทา
ยาบางชนิดจะช่วยลดการอักเสบได้ ทั้งนี้ควรใช้ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและถูกวิธี โดยคุณหมอจะเลือกชนิดของยาให้เหมาะสมกับลักษณะ ตำแหน่ง และความรุนแรงของผื่นค่ะ
3. รับประทานยา
ในบางกรณี อาจต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วยเพื่อลดอาการคัน โดยที่ผู้ป่วยห้ามซื้อยามาทาหรือรับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะถ้าหากใช้ยาไม่ถูกกับโรคอาจส่งผลให้อาการแย่ลงตามมาได้ค่ะ
ที่สำคัญ โรคผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก นั้นสามารถเกิดจากภูมิแพ้อาหารได้ โดยมักพบมีอาการร่วมกับระบบอื่นของร่างกาย เช่น มีอาการหายใจครืดคราดหรือขับถ่ายอุจจาระที่มีเลือดปน ในกรณีเหล่านี้ คุณหมออาจทำการซักประวัติอาหารเพิ่มเติม หาสาเหตุ เพื่อรักษาตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นค่ะ
โรคผื่นแพ้ผิวหนัง ผื่นเด็ก ป้องกันได้อย่างไร
จากการศึกษาของ สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กเริ่มมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา งานวิจัยในการหาวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็ก จึงพุ่งเป้าไปที่ การดูแลตัวเองของมารดาขณะตั้งครรภ์ และการดูแลทารกในวัยแรกเกิด แบ่งออกเป็น 4 วิธี ดังนี้
1.รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่อย่างสมดุลในขณะตั้งครรภ์ โดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่ไม่ควรดื่มนม หรือทานผลิตภัณฑ์จากนม ในปริมาณมากกว่าปกติที่เคยทานในช่วงก่อนตั้งครรภ์ เพราะอาจไปกระตุ้นให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการแพ้โปรตีนนมวัวได้
2.ให้ทารกทานนมแม่อย่างเดียวต่อเนื่องนาน 6 เดือน มีงานวิจัยทั้งหมดราว 4,000 ชิ้น พบว่า การทานนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 4 – 6 เดือน สามารถลดโอกาสการเกิดภูมิแพ้ในเด็กเล็กได้ และนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะกับระบบย่อยอาหารของทารกที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากน้ำนมแม่ เป็นโปรตีนที่ผ่านการย่อยแล้วบางส่วน ถูกทำให้เป็นโมเลกุลขนาดเล็กลงแล้ว จึงไม่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ นมแม่ ยังมีจุลินทรีย์ที่ดี คือ บิฟิดัส บีแอล ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย และมีพัฒนาการทางสมองและร่างกายดีสมวัย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก รักษาด่วนก่อนเรื้อรัง
3.แนะนำให้กินอาหารครบทั้ง 5 หมู่ อย่างสมดุลในระหว่างให้นมบุตร ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น นมวัว ไข่ อาหารทะเล แต่ให้ทานในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินกว่าปกติที่เคยทาน เพราะอาจไปกระตุ้นให้ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ที่ระบบภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์และค่อนข้างอ่อนไหว มีอาการแพ้เนื่องจากตรวจพบสารอาหารแปลกปลอมที่ถูกส่งผ่านทางนมแม่มายังลูกน้อยได้
4.ในกรณีที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวและไม่สามารถทานนมแม่ได้ สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ในการเลือก โปรตีนผ่านการย่อยบางส่วนที่เป็นเวย์ 100% หรือ H.A. (Hypoallergenic) ตามคำแนะนำจากแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย
ผื่นแพ้ผิวหนังในทารก มักเป็นอาการเรื้อรัง ตามสถิติพบว่า ผู้ป่วยโรคผื่นแพ้ผิวหนังร้อยละ 60 จะมีอาการก่อนอายุ 1 ปี และมีอาการก่อนอายุ 5 ปี มากถึงร้อยละ 85 แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และดีขึ้นมากเมื่ออายุประมาณ 10 ปี ดังนั้น หากพบว่า ลูกเป็นผื่นแพ้ผิวหนัง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะเมื่อลูกน้อยได้รับการรักษาที่เหมาะสม และดูแลเป็นอย่างดีเร็วเท่าไร ก็ยิ่งลดความเจ็บปวดจากแผลเรื้อรังของลูกน้อย และเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรคได้มากขึ้นเท่านั้น
เมื่อลูกมีร่างกายที่แข็งแรง เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาไปได้อย่างเต็มศักยภาพ คุณพ่อคุณแม่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองได้ที่ https://www.nestlemomandme.in.th/sensitive-expert
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ผื่นที่เต้านม ผื่นแบบไหนเป็นสัญญาณมะเร็งเต้านมกันนะ?
วิธีดูแลสุขภาพผิวลูกรักในช่วงอากาศเย็น ไม่ให้มีปัญหาผดผื่นมากวนใจ
ผื่นคนท้อง แม่ขอแชร์! คันตามแขนขา ผดผื่นขณะตั้งครรภ์ หายในสองเดือน
ที่มา : Allergy Expert.org, Allergy Expert.org, Allergy Expert.org, Bangpakok Hospital, Thairath, Bangkok Hospital