Aimee and Jenna Hobbs ช่างภาพถ่ายภาพครอบครัว ได้สร้างสรรค์ผลงานชุดที่ให้ความสำคัญกับคนเป็นแม่ที่ใช้ชื่อว่า “A Mother’s Beauty” ซึ่งแสดงให้เห็นภาพ ร่างกายหลังคลอด ของผู้หญิงในแบบที่ไม่ปรุงแต่งและดูเปราะบางแต่เต็มไปด้วยพลัง
ภาพถ่ายของ ร่างกายหลังคลอด ที่แสดงให้เห็นถึงความสวยของเรือนร่างแม่
ช่างภาพได้กล่าวว่ามีแม่หลายคนอายกับการเข้าร่วมถ่ายภาพชุดนี้ แต่เราพยายามจะให้คุณแม่ได้มองเห็นความมีคุณค่า “เราต้องการที่จะจับเอาภาพความงดงามที่แท้จริงของคนเป็นแม่” บ่อยครั้งที่คนเป็นแม่มีความคิดว่า อยากได้รูปร่างแบบเดิมก่อนมีลูกกลับคืนมา แต่ภาพเหล่านี้จะทำให้แม่ ๆ ทุกคนได้เห็นถึงความงามที่แท้จริงของเรือนร่างหลังคลอด
แม้ว่าการให้กำเนิดลูกและความเป็นแม่นั้นจะทำให้เปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ และได้ทิ้งร่องรอยแผลเอาไว้ แต่มันกลับกลายเป็นสิ่งอันน่ามหัศจรรย์ยิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับคนเป็น “แม่”
A Mother’s Beauty ภาพถ่ายเซทนี้เป็นบรรดาอาสาสมัครคุณแม่ราว15 คน บางคนก็มาเพียงคนเดียวและบางคนก็มาพร้อมกับลูก ๆ เพื่อรวมแสดงให้เห็นถึงความสวยงามของผู้หญิงในความ “ไม่สมบูรณ์แบบ”
Aimee ยังเพิ่มเติมอีกว่า เธอหวังว่าภาพถ่ายชุดนี้จะโดนใจคุณแม่คนอื่น ๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขารู้สึกรักในตัวเองเช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ ที่ได้เห็นภาพเหล่านี้ เธอหวังว่าคุณแม่ทั้งหลายจะได้เห็นมุมมองที่กว้างมากขึ้นว่า “ความสวยงาม” นั้นคืออะไรและยอมรับในหลาย ๆ รูปร่างและขนาดที่เปลี่ยนไปหลังคลอดลูก
เพราะความเป็นแม่ทำให้เรามีรูปร่างเหมือนกัน มีรอยแผลเป็นเหมือนกัน มีวิธีที่จะจูบและโอบอุ้มลูกน้อยในแบบที่คนไม่เคยเป็นแม่จะไม่อาจสัมผัสได้
ความเป็นแม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ร่างกาย แต่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองในทางที่ดีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังการคลอด
ระยะหลังคลอดหรือระยะอยู่ไฟ เป็นช่วงที่ร่างกายปรับตัวคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนการตั้งครรภ์ ระบบต่างๆ ในร่างกายไม่ว่าจะเป็นระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ระบบปัสสาวะ ระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจ น้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เต้านม การตกไข่และการมีประจำเดือน ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคและสรีระของร่างกายหลังคลอดตามระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน
มดลูก
มดลูกจะโตและอยู่สูงจากระดับสะดือทันทีที่คลอดแล้ว โดยมีความกว้างประมาณ 12 ซม. ยาว 15 ซม. หนา 8-10 ซม. มีน้ำหนักประมาณ 2 ปอนด์ และมดลูกจะลดขนาดลงเพื่อกลับคืนสู่สภาพปกติประมาณวันละ ½ นิ้ว เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “มดลูกเข้าอู่” และระดับของมดลูกจะอยู่กึ่งกลางระหว่างหัวเหน่ากับสะดือหรือประมาณ 3 นิ้วเหนือหัวเหน่าภายหลังจากคลอดในวันที่ 7 และระดับยอดมดลูกจะอยู่เหนือหัวเหน่าหลังจากคลอดประมาณวันที่ 10-12 โดยมีน้ำหนักประมาณ 8-9 ออนซ์ และภายใน 6-8 สัปดาห์ก็จะมีขนาดปกติ คือมีขนาด 3x2x1 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 2-3 ออนซ์
ในขณะตั้งครรภ์การที่มดลูกขยายใหญ่ และหลังคลอดก็มีการลดตัวอย่างรวดเร็ว หรือการที่มดลูกถูกยึดด้วยเอ็นต่างๆ อย่างหลวมๆ ถูกผลักไปข้างหน้า เช่น มดลูกจะถูกดันสูงขึ้นไปบริเวณชายโครงเมื่อมีปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ หรือบริเวณภายในผนังมดลูกที่รกเกาะซึ่งเป็นส่วนที่บางกว่าส่วนอื่นจะหนาตัวขึ้นเมื่อมดลูกมีการหดรัดตัวดี หลังการคลอดใน 24 ชั่วโมงแรกบริเวณที่รกเกาะจะเป็นแผลใหญ่และมีเลือดซึมออกมา แต่หลอดเลือดในบริเวณนั้นจะตีบลงและมีก้อนเลือดเล็กๆ มาปิดในระยะต่อมา ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้มากที่สุดในระยะ 10-14 วันแรกของการคลอด จึงต้องเฝ้าระวังและดูแลรักษาเป็นพิเศษในระยะสำคัญนี้
เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก
เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่เหลืออยู่ในโรงมดลูกจะแบ่งตัวเป็น 2 ชั้น ภายหลังจากการคลอดได้ 2-3 วัน คือ
1. ชั้นผิว
ส่วนนี้เรียกว่า น้ำคาวปลา จะมีระยะการหลุดออกมาเป็น 3 ระยะคือ
-ใน 2-3 วันแรก ชั้นผิวส่วนนี้ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยเลือดจึงออกมาเป็นสีแดง
-ในราววันที่ 10 จะมีเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกสลายตัวปะปนออกมาด้วย จึงทำให้สีแดงจางลง และมีปริมาณน้อยลงด้วย
-ภายใน 3 สัปดาห์หลังคลอด สีของน้ำคาวปลาจะหมดไป แต่อาจมีอยู่นานถึง 6 สัปดาห์ในบางราย
2. เยื่อบุโพรงมดลูก
เป็นส่วนที่อยู่ติดกับเนื้อมดลูก ซึ่งภายในเยื่อบุโพรงมดลูกจะมีต่อมของเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ และภายใน 3 สัปดาห์ก็จะมีการเจริญจนเต็มโพรง แต่จะกินเวลานานถึง 6 สัปดาห์ในส่วนที่เป็นรอยเกาะของรก ในส่วนที่รกเกาะหากไม่มีการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะทำให้กลายเป็นแผลเป็น ซึ่งการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปจะมีอันตรายได้
ปากมดลูกและตัวมดลูกส่วนล่าง
ปากมดลูกจะมีลักษณะนุ่มบางและมีรอยฉีกขาดออกไปทางด้านข้างภายหลังที่รกคลอดแล้ว และมีการหดตัวอย่างช้าๆ พบว่าหลังคลอดประมาณ 2-3 วันแรก จะมีขนาดเท่ากับสอด 2 นิ้วมือได้ และจะแคบลงเมื่อครบ 3 สัปดาห์ หรือเรียกว่า ปากมดลูกด้านนอก จะมีลักษณะแตกต่างไปจากเดิมเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 6 คือขนาดจะกว้างออกและด้านข้างจะมีรอยแตก ส่วนมดลูกก็จะหดตัวหนาขึ้นและสั้นลง ภายใน 2-3 สัปดาห์ก็จะเป็นคอมดลูกตามเดิม
ช่องคลอดและปากช่องคลอด
เป็นอวัยวะที่ผนังมีการหย่อนมากกว่าเดิม ไม่สามารถกลับสู่สภาพปกติเหมือนตอนก่อนคลอดได้ โดยผนังช่องคลอดจะปรากฏเป็นรอยย่นให้เห็น และจะสมบูรณ์เหมือนเดิมในสัปดาห์ที่ 6-10 ส่วนลักษณะของเยื่อพรหมจารีจะขาดกะรุ่งกะริ่งเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ซึ่งทำให้รู้ได้ว่าเคยผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว ในรายที่แผลสมานกันได้รวดเร็วจะเป็นการฉีดขาดจากการตัดฝีเย็บ ปกติแล้วภายใน 5-7 วันแผลนี้จะหายเข้าสู่สภาพเดิมได้ หากเกิดอาการบวมและอักเสบก็อาจเกิดจากไม่ได้เย็บแผลหรือเย็บไม่ถูกวิธี จนอาจทำให้มีการติดเชื้อเข้าไปภายในมดลูก ปีกมดลูก และช่องท้อง ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่ารักษาหาย
ระบบปัสสาวะ
ส่วนนำของทารกจะไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะในระหว่างการคลอด ทำให้ผนังใต้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะเกิดบวม มีเลือดคั่งและเลือดออก ความจุของกระเพาะปัสสาวะจะมีมากขึ้น มีความยืดหยุ่นลดน้อยลง ทำให้เกิดการโป่งของกระเพาะปัสสาวะ เมื่อถ่ายปัสสาวะก็จะถ่ายออกได้ไม่หมด นอกจากนั้น ใน 1-2 วันแรกหลังคลอด ยังอาจพบโปรตีนในปัสสาวะด้วย ซึ่งภาวะนี้จะเกิดร่วมกับการขยายตัวของหลอดไตและกรวยไต จึงทำให้ทางเดินปัสสาวะมีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ในเวลา 8-12 สัปดาห์ กรวยไตและหลอดไตที่ขยายตัวก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ
ระบบไหลเวียนของเลือดและหัวใจ
มดลูกจะมีการหดรัดตัวทันทีหลังคลอด เพื่อไล่เลือดในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกเข้าสู่ระบบไหลเวียน ในร่างกายจึงมีปริมาณเลือดไหลเวียนเพิ่มมากขึ้นกะทันหัน แต่มารดาที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวหัวใจหรือหลอดเลือดก็จะไม่เกิดอันตรายขึ้น เพราะระหว่างการคลอดที่มีการเสียเลือดจะช่วยรักษาสมดุลเอาไว้ได้ จะพบว่ามีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติถึง 20% ปริมาณเลือดมากกว่าปกติ 32% น้ำเหลืองมีปริมาณมากกว่าปกติ 40% เมื่อครรภ์ครบกำหนด และภายใน 1 สัปดาห์หลังการคลอดจำนวนเหล่านี้ก็จะลดลงเข้าสู่สภาพปกติเหมือนตอนก่อนคลอด
การเปลี่ยนแปลงของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
ในระหว่างเจ็บครรภ์น้ำหนักของมารดาจะลดลงจากการเสียน้ำทางเหงื่อและการหายใจร่วมกับน้ำหนักของเด็กและรกไปประมาณ 5.5 กิโลกรัม และในสัปดาห์แรกของเหลวจะถูกขับออกมาอีกประมาณ 2 ลิตร ทำให้น้ำหนักของมารดาลดลงไปอีกประมาณ 4 กิโลกรัม และของเหลวจะถูกขับออกมาอีกประมาณ 1.5 ลิตรในอีก 5 สัปดาห์ต่อมา
การเปลี่ยนแปลงของเต้านม
ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากรกจะหมดไปภายหลังการคลอด ทำให้ต่อมปิทูอิตารี่ส่วนหน้าเกิดการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน ส่งผลให้มีน้ำนมเกิดขึ้น น้ำนมจะมีในประมาณวันที่ 3-4 ในครรภ์แรก แต่จะมีในประมาณวันที่ 2 หากเป็นครรภ์หลังๆ โดยมารดาจะรู้ว่านมแข็ง คัดเต้านม เจ็บร้อนบริเวณเต้านม และอาจจะบวมไปถึงบริเวณรักแร้ในบางราย ในครั้งแรกที่เกิดนมคัดนี้ เกิดจากหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองมีการคั่ง เมื่อยังไม่มีการหลั่งก็จะเก็บน้ำนมไว้ แต่ประสาทที่ปลายหัวนมและเซลล์รอบๆ ต่อมน้ำนมจะหดตัวจากการดูดกระตุ้นของเด็ก ทำให้มีน้ำนมไหลออกมา การดูดของทารกและความดันภายในเต้านมจะมีผลต่อจำนวนและคุณภาพของน้ำนม เต้านมเป็นอวัยวะที่ยังคงมีการเจริญเติบโตต่อไปอีกแม้ภายหลังจากคลอดแล้ว น้ำนมที่มีใหม่ๆ หลังจากคลอด 2-3 วันแรก เรียกว่า น้ำนมเหลือง(Colostum) จะมีลักษณะเป็นสีเหลืองใสๆ ซึ่งมีส่วนประกอบในน้ำนมตามปกติ แต่จะมีโปรตีนและเกลือแร่อยู่ในปริมาณที่มากกว่า และยังมีสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันลำไส้อักเสบด้วย น้ำนมเหลืองจะหมดไปประมาณวันที่ 5-7 หลังคลอด และมีน้ำนมตามปกติที่มีสารอาหารเหมาะกับการเลี้ยงดูทารกมากกว่านมจากแหล่งอื่นๆ
credit content : www.huffingtonpost.com
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
13 ภาพถ่ายวินาทีแม่คลอดลูกที่เจ็บปวด ทรมาน และสวยงามที่สุด!!
สุดยอดภาพถ่าย”ลูกเข้าเต้า” ที่ถูกแชร์เป็นหมื่น!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!