ค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูก ต้องเตรียมเงินเท่าไร ลูกจะไม่เป็นเด็กด้อยคุณภาพ
ความฝันของคู่สามีภรรยาที่แต่งงานแล้วก็คือ ชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ พ่อแม่ลูกพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ในยุคสมัยนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่า เงิน เป็นปัจจัยสำคัญมากในการมีลูก คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความพร้อมในเรื่อง ค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูก ด้วย
หากประสบปัญหาเรื่องเงินขึ้นมา นั่นอาจส่งผลทำให้ลูกไม่ได้รับสารอาหารที่ดีตั้งแต่อยู่ในท้อง ลูกเจ็บป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อลูกโตขึ้นไม่มีทุนส่งให้เรียนหนังสือ ต้องมาช่วยพ่อแม่ทำงาน เขาไม่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างที่ควรจะเป็น ลองคิดดูว่าเขาจะเติบโตมาอย่างมีความสุขหรือเปล่า และจะเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพในอนาคตไหม บทความนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทบทวนและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะมีลูกค่ะ
ค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูก การมีลูก 1 คน พ่อแม่ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
หากจะประเมินค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ในการมีลูก ช่วงเวลาตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึง 10 ขวบ ควรมีเท่าไรนั้น เพื่อให้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถแบ่งเป็นช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ดังนี้ค่ะ
- ค่าใช้จ่ายช่วงเริ่มท้อง
- ค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์ สำหรับเด็กแรกเกิด
- ค่าอาหารการกินของลูก
- ค่าพี่เลี้ยงเด็ก
- ค่าเล่าเรียนลูก
- ค่าใช้จ่ายเสริม
เรามาดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาข้างต้นกันดีกว่า
1. ค่าใช้จ่ายช่วงเริ่มท้อง
ในช่วง 9 เดือนแรกของการมีลูก จะมีค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ ค่าพบหมอเพื่อตรวจครรภ์ และต้องเตรียมค่าคลอดลูกเอาไว้คร่าวๆ โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ รวมทั้งหมด จะอยู่ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์ และพบแพทย์ราว 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน
- ค่าทำคลอด ประมาณ 30,000 – 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็คเกจที่เลือก ถ้าไม่ทำคลอดในโรงพยาบาลเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไป ก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 บาท ในรอบระยะเวลา 9 เดือน
2. ค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์ สำหรับเด็กแรกเกิด
คุณพ่อและคุณแม่ต้องเตรียมอุปกรณ์เด็กแรกเกิดให้พร้อม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะตกราว 30,000 – 50,000 บาท ได้แก่ เสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม นม และเครื่องอุ่นนม เปลนอน เครื่องอาบน้ำ อาหารสำหรับเด็ก และตลอดระยะเวลาการเลี้ยง จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือนอีกราว 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว)
3. ค่าอาหารการกินของลูก
ช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือนแรก ให้ลูกกินนมแม่ จะช่วยประหยัดค่าอาหารไปได้มาก หลังจากนั้น ค่าอาหารการกินของลูก จะเกิดขึ้นทุกวัน จนเรียกได้ว่าเป็น ค่าใช้จ่ายประจำ ซึ่งค่าอาหารลูก อยู่ที่ราว 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน
4. ค่าพี่เลี้ยงเด็ก
คุณแม่ที่เป็นเวิร์กกิ้งมัม เมื่อต้องกลับไปทำงานประจำ หมดระยะเวลาลางานแล้ว จำเป็นต้องใช้บริการ พี่เลี้ยงเด็ก ค่าใช้จ่ายพี่เลี้ยงเด็กสมัยนี้มีตั้งแต่หลักพัน ถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาจ้าง จ้างเป็นชม. หรือตลอดทั้งวันทั้งคืน คร่าวๆ กันเงินส่วนนี้ไว้เดือนละ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้
5. ค่าเล่าเรียนลูก
เมื่อลูกโตขึ้นและถึงวัยต้องเข้าเรียนอนุบาล ค่าเล่าเรียน หรือ ค่าเทอมลูก เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ในช่วงอนุบาลจนจบชั้นประถม ลูกต้องเรียนอย่างน้อย 9 ปี ค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากเลือกเรียนในโรงเรียนรัฐบาลจะไม่มากเท่าไร แต่ถ้าลูกเรียนโรงเรียนเอกชน คุณพ่อคุณแม่จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมากขึ้นไปอีกในชั้นประถมและมัธยม
การวางแผนการเงินสำหรับค่าเทอมลูก ผู้ปกครองต้องคำนวณให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของตัวเอง โดย ค่าเล่าเรียน เฉลี่ยต่อปีราวๆ 20,000 – 50,000 บาท รวมตลอด 9 -10 ปี อยู่ราวๆ 200,000 – 500,000 บาท ยังไม่รวมอุปกรณ์การเรียนขึ้นอยู่กับโรงเรียน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล
6. ค่าใช้จ่ายเสริม
สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนเสริม เช่น ค่ารักษา หาหมอ ค่าวัคซีนต่างๆ ที่ต้องฉีดให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี ค่าเดินทางท่องเที่ยว ของเล่นลูก ค่ายานพาหนะ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะขึ้นลง ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว ภายในระยะเวลา 10 ปี กะไว้คร่าวๆ ว่าอยู่ที่ 500,000 – 1,000,000 บาท
เบ็ดเสร็จแล้ว มีลูกหนึ่งคน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,200,000 บาท (โดยประมาณ)
ช่วงเวลา 10 ปีนั้น แม้จะต้องใช้เงินค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าไม่เกินความพยายามของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น สามารถบริหารให้เพียงพอได้ ถ้าสามีภรรยาไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รู้จักออมเงิน ลงทุนเติมเงินเก็บ ใช้แต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ รู้จักวางแผนการเงินเป็นอย่างดีค่ะ
ที่มา: Asian Money Guide
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม 600 บาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่ 2561
สอนลูกอย่างไรให้เป็นเศรษฐี ใช้เงินเป็น ไม่ให้ตกเป็นทาสของเงิน
ค่าเทอมลูก ส่งลูกเรียนหนังสือ เก็บเงินเท่าไหร่ วางแผนยังไง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!