ภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
ภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ ดื่มนมแล้วท้องอืด ลูกกินนมวัวแล้วท้องอืด แพ้นมวัว หรือภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ ลูกแพ้นมวัวหรือไม่
ดื่มนมแล้วท้องอืด ไม่ได้แพ้นมวัว อาจเป็นภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
กินนมวัวแล้วท้องอืด ท้องเฟ้อ เสียดท้อง ท้องเสีย อาจไม่ได้เกิดจากแพ้นมวัว แต่เป็นภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
ปัจจุบันมีความเข้าใจผิดในประเด็นที่ว่า กินนมวัวแล้วท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียเป็นอาการของการแพ้นมวัว และนมแลคโตสฟรีคือนมสำหรับผู้แพ้นมวัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หมอจึงอยากเขียนบทความนี้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและแก้ไขความเข้าใจผิด ดังนี้ค่ะ
ปรึกษาปัญหาสุขภาพของลูกรัก ทั้งอาการท้องอืด ท้องเสีย ภาวะย่อยผิดปกติ หรืออาการป่วยต่าง ๆ ของลูกน้อย กับกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านระบบแชท และวิดีโอคอลแบบส่วนตัว ได้ฟรี เพียง ดาวน์โหลด ALive Powered by AIA แอปพลิเคชันที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรมี คลิกเลย!
อะไรคือภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
#ความเข้าใจผิดข้อ 1: ดื่มนมแล้วท้องอืด กินนมวัวแล้วท้องอืด ท้องเฟ้อ เสียดท้อง ท้องเสีย แปลว่า “แพ้นมวัว”
ข้อเท็จจริงดื่มนมแล้วท้องอืด แพ้นมวัวหรือภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ :
หากผู้ใหญ่ หรือเด็กโตที่เคยทานนมวัวได้ปกติมาก่อน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เสียดท้อง ท้องเสีย หลังจากดื่มนมวัว มักจะเกิดจากภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ ( lactose intolerance) หรือภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส (lactase deficiency) ซึ่งเอนไซม์ชื่อ “แลคเตส” เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อย “น้ำตาลแลคโตส” ในนมวัว ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ชนิดนี้จากสาเหตุใดก็ตามเมื่อทานนมวัวแล้วจะไม่สามารถย่อยได้ปกติ จึงเกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารอันได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ดังกล่าวนั่นเองค่ะ
ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตสอาจเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ คือ
- ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตสที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด (Primary lactase deficiency) เด็กบางคนอาจจะไม่สามารถสร้างเอนไซม์แลคเตสได้เลยตั้งแต่แรกเกิด ทำให้มีอาการท้องเดินทุกครั้งที่ดื่มนม และจะเป็นอย่างถาวรไปชั่วชีวิต ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อย
- ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตสที่เกิดขึ้นชั่วคราวจากสาเหตุอื่น (Secondary lactase deficiency) เช่น ภายหลังจากการติดเชื้อที่ลำไส้อย่างรุนแรง เช่นการติดเชื้อไวรัสโรต้า ทำให้เซลล์เยื่อบุบริเวณผิวลำไส้ส่วนบนถูกเชื้อทำลายจนไม่สามารถผลิตเอนไซม์แลคเตสได้ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ร่างกายก็จะสามารถสร้างเซลล์ของผิวลำไส้กลับขึ้นมาใหม่ได้จึงจะหาย ภาวะนี้จึงเกิดขึ้นชั่วคราว วิธีแก้ไขคือการดื่มนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตสประมาณ 1-2 สัปดาห์ จนหายท้องเสีย
โดยทั่วไปภาวะที่ร่างกายย่อยน้ำตาลแลคโตสผิดปกติ อาจที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกายเราที่ลำไส้เล็กจะสร้างเอนไซม์แลคเตสน้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่วัยเด็กโตและผู้ใหญ่ จึงมักจะเริ่มปรากฏอาการท้องเสีย ท้องอืด หลังดื่มนม ในช่วงวัยดังกล่าว ทางแก้ไขคือดื่มนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส หรือหากอาการไม่รุนแรงอาจสามารถดื่มนมวัวได้ในปริมาณทีละน้อย ก็จะลดการเกิดอาการลงได้
ความแตกต่างของอาการแพ้นมวัวและภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
- ผู้ที่แพ้นมวัวจะมีอาการผิดปกติแสดงออกมาได้หลายระบบของร่างกาย หลังจากดื่มนมวัว โดยมักเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยทารกที่เริ่มทานนมวัว ได้แก่ อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ เปลือกตาบวม ผื่นคันเป็น ๆ หาย ๆ
- อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเหลว อาเจียน ปวดท้อง อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- อาการทางเดินหายใจ เช่น หายใจครืดคราด หอบเหนื่อย โรคหืด จมูกอักเสบเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ซึ่งอาการในระบบต่าง ๆ สามารถเกิดพร้อมกันได้ทุกระบบ
- อาจมีอาการแพ้รุนแรงแสดงออกในระบบหัวใจและหลอดเลือดคือ ความดันต่ำ ช็อค หมดสติได้
- อาการแพ้นมวัวนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ดื่มนมในปริมาณน้อย เมื่อโตขึ้นอาการจะค่อยๆเป็นห่างขึ้น และอาจหายสนิทได้เป็นส่วนมากภายในอายุ 5 ปี
อาการแพ้นมวัวแตกต่างจาก ภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติหรือภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส ซึ่งมักจะเริ่มมีอาการเมื่อเข้าสู่วัยเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย และมักมีอาการเมื่อดื่มนมในปริมาณค่อนข้างมาก
#ความเข้าใจผิดข้อ 2: นมแลคโตสฟรีคือนมสำหรับผู้แพ้นมวัว
ข้อเท็จจริงเนื่องจากการแพ้นมวัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขาดเอนไซม์ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ดังนั้น นมแลคโตสฟรีจึงไม่ใช่นมที่ใช้สำหรับรักษาผู้ที่แพ้นมวัว:
ลูกแพ้นมวัวหรือภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
นมที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว ได้แก่
- นมสูตร extensive hydrolysate formula (eHF) เป็นนมที่ถูกย่อยโปรตีนนมวัวให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลง นมสูตรนี้ที่มีขายในท้องตลาด เช่น Nutramigen, Dumex Hi-Q Peptide, Pregestimil เป็นต้น
- นมสูตรอะมิโน เป็นนมซึ่งถูกย่อยโปรตีนนมวัวจนโมเลกุลเหลือเพียงกรดอะมิโน ซึ่งจะใช้ในผู้ป่วยแพ้นมวัวที่มีอาการรุนแรง เช่น Nutramigen AA, Neocate, Puramino เป็นต้น
- นมถั่วเหลือง เป็นนมที่ใช้ในการรักษาผู้ที่แพ้นมวัวแต่ไม่ได้แพ้ถั่วเหลืองร่วมด้วย เช่น Isomil, Dumex Hi-Q soy เป็นต้น
- นมสูตรพิเศษอื่น ๆ เช่น นมเนื้อไก่ นมข้าวอะมิโน เป็นนมที่ผลิตจากการสกัดโปรตีนจากไก่หรือข้าวแล้วเติมสารอาหารต่าง ๆ ลงไป
ทั้งนี้ การจะเลือกใช้นมชนิดใดในกลุ่มเหล่านี้สำหรับเด็กแพ้นมวัวขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ที่ได้ดูแลผู้ป่วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตารางการนอนทารกแรกเกิด – 15 เดือน ทารกควรนอนนานเท่าไหร่ นอนกี่ครั้งต่อวัน
ลูกขาดวิตามิน ลูกขาดสารอาหาร ลูกไม่กินข้าว อาหารเสริม ทารกขอกินแต่นม ทั้งที่ถึงวัยต้องเสริมอาหารแล้ว
ลูกแพ้ไข่ รู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้ไข่ ลูกแพ้อาหาร ผื่นขึ้น วิธีสังเกตว่าลูกแพ้อาหาร อาการทารกแพ้อาหาร
อาการแพ้นมวัว เป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!