พฤติกรรมเสี่ยง ทำลายสมองทารกในครรภ์
พฤติกรรมเสี่ยง ทำลายสมองทารกในครรภ์ มาดูกันค่ะว่าในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอะไรที่จะทำลายสมองของทารกในครรภ์บ้าง
พฤติกรรมที่ 1 : คนท้องขาดสารอาหารที่จำเป็นสำหรับสมองทารก
การขาดสารอาหารที่สำคัญต่อการพัฒนาสมองทารกในครรภ์หากขาดสารอาหารสำคัญเหล่านี้ส่งผลเสียอย่างยิ่ง สารอาหารนั้นได้แก่ โปรตีน โฟเลท และไอโอดีน มาดูกันค่ะว่า ขาดสารอาหารเหล่านี้จะเป็นอย่างไร
ขาดโปรตีน
1. สำหรับแม่ท้องแล้ว โปรตีนเป็นสารอาหารหลักสำหรับร่างกายในการสร้างและเพิ่มขนาดเซลล์ของทารกในครรภ์ รวมไปถึงหลัง คลอดที่ร่างกายของแม่ท้องต้องนำไปสร้างน้ำนม ช่วยเพิ่มปริมาตรเลือด สร้างน้ำย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โปรตีนจึงจำเป็นต่อแม่ท้องและลูกน้อยตั้งแต่แรกปฎิสนธิจนถึงกำหนดคลอดเลยทีเดียว
2. คนท้องต้องการต้องการโปรตีนมากขึ้นเป็นสองเท่าจากปกติ แหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ คือ อาหารจากสัตว์ เช่น นม เนย เนื้อสัตว์ทุกชนิด ปลาและไข่ โปรตีนที่ได้จากพืช เช่น ถั่ว เป็นอาหารที่อาจใช้แทนได้ แต่โปรตีนจากพืชเป็นโปรตีนที่ไม่ครบถ้วนสำหรับความต้องการของร่างกาย ถ้าได้รับโปรตีนเพียงพอ
3. ถ้าแม่ตั้งครรภ์ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินบีรวมไม่เพียงพออีกด้วย การได้รับปริมาณโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้แม่ตั้งครรภ์มีอาการบวม (Nutrition edema) และทารกที่คลอดออกมาจะไม่แข็งแรง
อ่านต่อหน้าถัดไปได้เลยจ๊า
4 . หากลูกขาดโปรตีน จะส่งผลให้สมองของทารกในครรภ์มีขนาดเล็กกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ต่อไป
ขาดโฟเลท
1. ทางการแพทย์ได้ค้นพบว่า โฟเลทมีความสำคัญตั้งแต่เริ่มมีการปฏิสนธิเลยทีเดียวค่ะ เพราะโฟเลทมีส่วนช่วยในการแบ่งเซลล์ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนสำคัญในการจัดโครงสร้างของสมองทารกในครรภ์
2. หากคุณแม่ขาดโฟเลทในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกหลังปฏิสนธิจะทำให้สมองของทารกในครรภ์พิการทางสมอง เช่น เป็นโรคสมองเปิด คือ เกิดช่องโหว่ที่ปลายสมอง เพราะหลอดเลือดสมองสร้างตัวไม่สมบูรณ์ ทำให้เมื่อคลอดออกมาแล้วจะไม่สามารถเดินได้ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ คล้ายกับเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรม หรืออาจจะเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ หรือมีความพิการแขน ขา หัวใจ ปอด กระดูกได้
3. การสร้างส่วนประสาทของลูกผิดปกติได้ เนื้อประสาทของลูกอาจจะยื่นออกมากลางหลัง ซึ่งอาจทำให้ลูกเสียชีวิตหลังคลอดได้
4. โฟเลทเป็นวิตามินที่สำคัญในการสร้างเนื้อเยื่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายให้เจริญเติบโตเต็มที่
5. หากขาดโฟเลทในระหว่างที่ตั้งครรภ์ จะทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์หยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงในกระดูก ส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจาง ปากแหว่งเพดานโหว่ และที่สำคัญ คือ โรคหลอดประสาทพิการ
6. คุณแม่สามารถรับประทานอาหารที่ให้สารอาหาร ได้แก่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ให้วิตามินโฟเลทสูงเช่น เนื้อหมูสันในและเนื้ออกไก่ ส่วนผลไม้ที่มีโฟเลทสูงได้แก่ สับปะรดศรีราชา ส้มโชกุน มะละกอแขกดำสุก ฝรั่งแป้นสีทอง แยมสัปปะรด เป็นต้น
สำหรับกลุ่มอาหารประเภทธัญพืช ได้แก่ ข้าวกล้องหอมมะลิซ้อมมือ ข้าวแตน ผักสดจะพบวิตามินโฟเลทมากในผักจำพวก ผักโขม แขนงกะหล่ำ ผักกาดดองเค็ม และผักใบเขียว กลุ่มอาหารประเภทธัญพืช ได้แก่ ข้าวกล้องหอมมะลิซ้อมมือ ข้าวแตน เป็นต้น
บทความแนะนำ แม่ท้องขาดกรดโฟลิกทำให้ลูกเสี่ยงพิการและพัฒนาการล่าช้า
ขาดไอโอดีน
1. ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุสำคัญและเป็นส่วนประกอบ ของการสร้างฮอร์โมนธัยรอยด์ในร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการ ทางสมองและการเจริญเติบโต ของทารกตั้งแต่ในครรภ์จนกระทั่งคลอด
2. ศ.นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายถึง คนท้องที่ขาดไอโอดีน มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ดังนี้
– เริ่มจากทารกในครรภ์มารดาระหว่าง 0-12 สัปดาห์แรก ต่อมธัยรอยด์ ในตัวทารกยังไม่ทำงานยังไม่สร้างธัยรอยด์ฮอร์โมน แต่จะทำงานต่อเมื่อทารกในครรภ์ อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงก่อนคลอด ฉะนั้นทารกในครรภ์ระหว่าง 0-12 สัปดาห์แรก จะรับธัยรอยด์ฮอร์โมนโดยตรงจากแม่ท้องผ่านรกมาควบคุมการเจริญพัฒนาการของสมองเด็ก
– ถ้าแม่ท้องเกิดขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรง จนเกิดภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน ทารกในครรภ์จะขาดฮอร์โมนตามไปด้วย
– สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การพัฒนาการของสมองทารกในครรภ์จะผิดปกติ สมองจะไม่พัฒนา ไอคิวธรรมชาติที่ให้มา 150 จะลดลงไปเหลือประมาณ 60 ฉะนั้น ระยะเวลาการพัฒนาสมองทารกตั้งแต่ในครรภ์จึงมีความจำเป็นที่สุด
3. ไอโอดีนมีมากในอาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย สาหร่าย เป็นต้น การรับประทานอาหารทะเลบ่อยครั้งและการใช้เกลือเติมไอโอดีนจะช่วยแก้ปัญหาการขาดไอโอดีนในแม่ท้องได้
บทความแนะนำ ลูกเสี่ยงIQลดหากแม่ท้องขาดไอโอดีน
เรื่องน่ารู้ : ร่างกายส่งสัญญาณอย่างไรเมื่อคนท้องเริ่มขาดสารอาหาร
1. อาการที่แสดงว่าคุณแม่กำลังขาดสารอาหาร เช่น มีอาการเหมือนแผลร้อนในเกิดขึ้นในปาก กระพุ้งแก้ม มีอาการปากแห้ง เจ็บลิ้น ลิ้นแตก อ่อนเพลีย มักจะนอนไม่หลับ หน้ามืดเป็นลมง่าย อารมณ์เสีย ใจสั่น แสดงว่าร่างกายกำลังอ่อนแอ
2. ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ เริ่มพิจารณาเรื่องสารอาหารที่รับประทาน ว่าได้ทานอย่างเหมาะสมหรือไม่ และควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจ เพื่อที่จะได้หาทางเสริมสารอาหารให้อย่างเหมาะสม หรือหากเกิดจากอาการอื่นก็จะได้รักษาได้อย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายขาดสารอาหารย่อมส่งผลถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ตามไปด้วย
พฤติกรรมที่ 2 : คนท้องสัมผัสสารพิษและมลภาวะต่าง ๆ
สารพิษที่เป็นอันตรายต่อคนท้องและส่งผลต่อการทำลายสมองของทารกในครรภ์ ได้แก่
สารตะกั่ว
– สารตะกั่วมักพบในสีทาบ้าน หรืออาจปนเปื้อนมากับอาหาร อากาศ และน้ำ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม
– หากคุณแม่ตั้งครรภ์สูดอากาศที่มีสารพิษที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนเข้าไปจะสามารถผ่านทางรกไปสู่ลูกในท้องได้
– การตรวจสอบสารตะกั่วได้จากระดับสารตะกั่วในสายสะดือจะมีค่าเท่ากับระดับสารตะกั่วในเลือดของแม่
– พิษจากสารตะกั่วทำลายสมอง และระบบประสาท ตับ ไต หัวใจ ทางเดินอาหาร ส่งผลให้ทารกในครรภ์พิการทางสมอง ตาบอด หูหนวก หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้
– นอกจากนี้ สาระตะกั่วยังไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ หรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของอวัยวะบางส่วนของทารกในครรภ์อีกด้วย
สารปรอท
– สารปรอทปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ และดิน จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การเผาขยะ ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตามบ้านเรือน ปนเปื้อนในเครื่องสำอางและอาหาร โดยเฉพาะในอาหารทะเลจะพบมากในสัตว์ทะเลที่มีขนาดใหญ่
– คนท้อง ควรหลีกเลี่ยงสารปรอทด้วยการไม่เข้าใกล้สถานที่ที่มีการเผาไหม้ของขยะหรือเชื้อเพลิงต่าง ๆ ควรเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ แทนการใช้เครื่องสำอางที่ผลิตจากสารเคมี
บทความแนะนำ ใช้เครื่องสำอางอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูกในท้อง
– หากนำอาหารทะเลมาทำอาหารสำหรับรับประทาน ต้องล้างอาหารให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนนำมาปรุง และที่สำคัญไม่ควรรับประทานอาหารที่ไม่สุกเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของแม่ท้องโดยตรง
สารหนู
– สารหนูมักปนเปื้อนอยู่ในผัก ผลไม้ น้ำดื่ม อาหารทะเล เครื่องสำอาง ยาแผนโบราณ และยากำจัดศัตรูพืช หากได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายแล้วถูกดูดซึมสู่กระแสเลือด ก่อนส่งผ่านไปสู่อวัยวะต่าง ๆของร่างกาย จะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ
– สารหนูบางส่วนเท่านั้นนะคะที่จะขับออกมาทางอุจจาระและปัสสาวะ แต่จะมีบางส่วนเช่นกันที่เข้าไปสะสมอยู่ในเลือด เล็บและเส้นผม
– ทารกในครรภ์หากได้รับสารหนูปนเปื้อนในน้ำนมแม่จะทำให้มีระดับ สารหนูในเลือดสูง เกิดภาวะโลหิตจาง ทำให้เม็ดเลือดขาวน้อยลง และการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ระบบประสาทและสมองผิดปกติ และยังมีผิวหนังลอกด้วย
บทความแนะนำ สารเคมีในชีวิตประจำวันที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง
พฤติกรรมที่ 3 : คนท้องกับเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และบุหรี่
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวการร้ายทำลายสมองทารกในครรภ์ ทำลายอย่างไร มาดูกันค่ะ
เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำรวจพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของแม่ตั้งครรภ์ที่สำรวจพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของแม่ตั้งครรภ์ไทย จำนวนตัวอย่าง 772 คน พบว่า
– 30.9 % ของคนท้องเป็นนักดื่มมาก่อน (ดื่มในช่วง 12 เดือนก่อนการตั้งครรภ์)
– 40.6 % ของคนท้องที่เป็นนักดื่ม ดื่มแอลกอฮอล์ต่อเพราะไม่รู้ว่าตนตั้งครรภ์ (ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์)
– 15.1% ขอคนท้องที่เป็นนักดื่ม ยังคงดื่มแอลกอฮอล์ต่อแม้รู้ว่าตนตั้งครรภ์แล้ว ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ไม่รู้ว่าแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หรือ มีภาวะติดสุราจนไม่สามารถเลิกดื่มแอลกอออล์ได้
– 12.6 % ของคนท้องดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ จากข้อมูลดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า “มีเด็กไทยมากถึง 89,000 คนต่อปี 1 ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงของการเกิดอาการผิดปกติจากดื่มแอลกอฮอล์ของแม่ขณะตั้งครรภ์ หรือ FASD”
สำหรับความผิดปกติของสมองที่เกิดขึ้นของทารกในครรภ์ มีดังนี้
1. กลุ่มอาการผิดปกติของทารกจากการดื่มแอลกอฮอล์ของแม่ท้องขณะตั้งครรภ์ หรือ FASD (Fetal Alcohol Spectrum Disorder)ใช้เรียกอาการแสดงหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทารกทุกด้าน ทั้งต่อร่างกาย สมอง พฤติกรรมและการเรียนรู้ของทารก โดยระดับความรุนแรงและอาการแสดงมีตั้งแต่แท้งลูกจนถึงพิการแต่กาเนิด
2. ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกที่ผิดปกติ เช่น การเรียนรู้ การจดจำ ภาษา การพูด สมาธิสั้น IQ ต่ำ
3. หรือส่งผลต่ออาการแสดงทางกายหรือที่เรียกว่า FAS (Fetal Alcohol Syndrome) ซึ่งมีลักษณะที่ชัดเจน คือ น้ำหนักแรกเกิดน้อย, สมองมีขนาดเล็กกว่าปกติ, รูปหน้าผิดปกติ, ดวงตา กรามมีขนาดเล็ก, ไม่มีดั้ง, ปลายจมูกชี้, ไม่มีร่องจมูก, ริมฝีปากบนบาง, หูชี้,หัวใจผิดปกติ, การเจริญเติบโตของแขนขาผิดปกติ
เนื่องจาก FASD ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงส่งผลระยะยาวตามมาไม่ว่าจะปัญหาในเลี้ยงดู ปัญหาด้านพฤติกรรมและปัญหาในการดำเนินชีวิตในสังคมเมื่อเติบโตขึ้น ส่งผลต่อไปถึงครอบครัวและสังคมตามมาต่อไป
บุหรี่
ความสำคัญของการต่อต้านการสูบบุหรี่ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นนะคะ เพราะปัจจุบันนี้จัดเป็นความสำคัญระดับโลกไปแล้ว คือ “ทุกวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก หรือ World No Tobacco Day สำหรับโทษของบุหรี่นั้นทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วเพราะมีหลาย ๆ องค์กรที่รณรงค์เรื่องพิษภัยจากบุหรี่
แต่จะมีใครรู้บ้างว่าผลเสียนอกจากจะเกิดกับตัวผู้สูบเอง และสำหรับคนรอบข้างที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปก็เปรียบได้กับคนที่สูบบุหรี่เช่นกัน หรือที่เรียกว่า “ควันบุหรี่มือสอง ซึ่งในควันบุหรี่สีขาว ๆ นั้นมีสารเคมีอยู่มากกว่า 60 ชนิดที่วงการแพทย์ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองนั้นเท่ากับได้รับผลกระทบโดยตรงหรืออาจจะมากกว่าผู้สูบเอง 5 – 10 เท่าเลยทีเดียว เพราะมีความเข้มข้นของสารพิษมากกว่า ”
ผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อทารกในครรภ์
1. แม่ท้องสูบบุหรี่หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่จะมีผลต่อทารกในครรภ์ กล่าวคือ สารเคมีในบุหรี่จะทำลายโครโมโซมของทารก ทำให้ทารกตายแรกคลอดได้
2. ทำให้พัฒนาการของทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้ากว่าปกติ มีน้ำหนัก ส่วนสูง รอบอกและรอบศีรษะต่ำกว่าเกณฑ์ ระบบประสาท ระบบการหายใจและหลอดเลือด ซึ่งภายหลังแรกคลอด พบว่า มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ภายหลังคลอดทันทีและมีแนวโน้มจะเป็นโรคหอบหืดเมื่อโตขึ้น
3. ทารกในครรภ์ต้องการออกซิเจน การที่แม่สูบบุหรี่ทำให้ปริมาณออกซิเจนที่จะส่งผ่านไปยังลูกน้อยทางสายสะดือนั้นลดลง มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กตลอดจนพัฒนาการต่าง ๆ ที่ถดถอย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการแท้งด้วย
4. สำหรับทารกที่คลอดออกมาแล้วและต้องอยู่ในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทารก คือ ทำให้ทารกมีระดับสติปัญญาต่ำ เมื่อโตขึ้นจะมีบุคลิกไม่อยู่นิ่ง (Hyperactive) เป็นเด็กสมาธิสั้นมีพัฒนาการทางอารมณ์และพฤติกรรมการเรียนรู้ไม่เหมาะสมกับวัย สำหรับทารกที่เป็นเพศหญิงนั้นเมื่อโตขึ้นอาจเกิดภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากท่อนำไข่ถูกสารเคมีจากบุหรี่ทำลาย
บทความแนะนำ บุหรี่มหันตภัยร้ายต่อลูกในครรภ์
ได้ทราบถึงพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะทำลายสมองของทารกในครรภ์แล้วนะคะ คุณแม่ลองสำรวจตนเองดูว่าอยู่ในพฤติกรรมเสี่ยงใดบ้างจะได้หาทางหลีกเลี่ยง เพราะได้ทราบผลกระทบแล้วว่า เป็นอันตรายต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์อย่างมาก
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือเตรียมตัวคลอดอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก พญ.ภักษร เมธากูล ผู้เขียน
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่อยากให้ทารกพิการ
เสี่ยงแท้งหรือไม่ คนท้องกินยาสตรีบำรุง