ชั่วโมงแรกหลังคลอดของทารก เกิดอะไรขึ้นกับลูกบ้าง
ชั่วโมงแรกหลังคลอดของทารก เป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ของพ่อแม่ เพราะทันทีที่พ่อแม่เห็นหน้าลูกก็จะเกิดความรู้สึกรักแรกพบเลยทันที แต่ช่วงเวลานั้น มักถูกพรากด้วยพยาบาลที่ต้องแยกตัวลูกน้อยไปทำความสะอาด ชั่งน้ำหนัก วัดความยาว และดูแลเรื่องอื่นๆ กระบวนการพวกนี้เองที่ มีส่วนให้เกิดผลกระทบต่อทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะอะไรนั้น ทาง TheAsianparent จะเล่าให้ฟังค่ะ
จริงๆ แล้วหลังคลอด คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้พยาบาลพาลูกเราไปอาบน้ำ ล้างไขและคราบเลือดออกจากตัวลูกในทันที เนื่องจากสามารถทำช้ากว่านี้ 1-2 ชั่วโมงได้ เพราะชั่วโมงแรกนี้ สิ่งที่คุณแม่ควรทำมากที่สุดคือ การให้ลูกกินนมแม่ให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างตัวคุณแม่และลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นการคลอดเองหรือผ่าคลอด นอกเสียจากลูกจะมีปัญหา ต้องรีบเข้ารับการดูแลพิเศษ
ชั่วโมงแรกของลูกสำคัญเพราะอะไร?
สิ่งหนึ่งที่อยากให้ว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่รู้ไว้ว่า หลังจากที่ทารกตัวน้อยคลอดออกมาแล้วนั้น ควรวางลูกน้อยไว้บริเวณท้องของคุณแม่ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรกับเจ้าตัวเล็กทั้งสิ้น จากนั้น ให้นำผ้าห่มมาคลุมทั้งคุณแม่และลูกเพื่อสร้างความอบอุ่น โดยปล่อยให้ร่างกายของทั้งคุณแม่และลูกน้อยค่อยๆ ผลิตฮอร์โมนอะดรินาลีน (ฮอร์โมนแห่งความสุข) ขึ้นมา เพื่อไม่ให้รบกวนกับการผลิตฮอร์โมนออกซิโทซินและโพรแลคทิน ที่จะทำหน้าที่ในการผลิตนมแม่และคอยสานสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่และลูกน้อยอีกด้วย
ในระหว่างที่คุณแม่นอนกอดลูกน้อยในอ้อมกอด ระยะเวลานี้คุณแม่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบกับลูกน้อย โดยไม่มีสิ่งอื่นมารบกวน แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าคุณแม่ยังต้องค่อยๆ เบ่งเอารกออกมา และยังต้องเย็บแผลด้วยนะคะ
ประโยชน์ 7 อย่าง ของชั่วโมงแรกหลังคลอด
1.ลูกสามารถดูดนมคุณแม่ได้ทันที
การให้ลูกดูดนมคุณแม่ทันทีนั้น จะทำให้ร่างกายของคุณแม่ขับรกออกมาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายมากขึ้น ลดความเสี่ยงจากการตกเลือดหลังคลอดได้ เมื่อลูกถูกวางไว้บนพุงของคุณแม่ที่ปราศจากการกั้นของเสื้อผ้า ให้ผิวเปลือยเปล่าได้สัมผัสกัน ลูกจะค่อยๆ กระดึบๆ ขึ้นมาหาเต้านมของคุณแม่และพยายามที่จะดูดนมเองเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของเด็กๆ เพื่อที่จะหาแหล่งอาหารแรกเหมือนกับลูกของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ นั่นแหละ
2.ควบคุมระบบต่างๆ ในร่างกายได้
เด็กทารกที่ถูกวางบนร่างกายของคุณแม่ทันที ร่างกายของลูกจะสามารถควบคุมอุณหภูมิและการหายใจได้ดีกว่า โดยปกติแล้วเด็กทารกแรกเกิด เด็กโต และผู้ใหญ่นั้น ไม่สามารถที่จะปรับอุณหภูมิของร่างกายตัวเองได้ เนื่องจาก 9 เดือนที่อยู่ในท้องของคุณแม่นั้น สภาพแวดล้อมในถุงน้ำคร่ำคือสภาพแวดล้อมที่มีการคุมอุณหภูมิได้สมบูรณ์ที่สุด เพราะหากร่างกายของลูกสูญเสียความร้อนมากเกินไป จะทำให้ร่างกายใช้พลังงานและออกซิเจนที่มากเกินกว่าที่ร่างกายจะสามารถทนได้ เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้มีสเถียรภาพ
นอกจากนี้การให้ผิวลูกสัมผัสกับผิวคุณแม่ ยังช่วงลดความเสี่ยงในการมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ด้วย ลูกจะผลิตกลูโคสที่เก็บไว้ในร่างกายเพื่อเป็นพลังงานสำรอง ขณะที่รอคอยน้ำนมจากอกของคุณแม่ค่ะ
3.ประโยชน์ของการชะลอการตัดสายสะดือ
การไม่ตัดสายสะดือทันทีนั้น ลูกจะยังได้รับออกซิเจนจากสายสะดืออยู่ ขณะที่ร่างกายจะค่อยๆ ปรับมาเป็นการหายใจทางปอด ลูกจะมีโอกาสได้รับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มากขึ้น ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคโลหิตจาง และการขาดธาตุเหล็ก แม้แต่ในคุณแม่ที่ผ่าคลอดก็สามารถทำได้นะคะ ลองปรึกษาคุณหมอก่อนที่จะถึงวันคลอดดูว่า ในกรณีของคุณแม่นั้นทำได้หรือไม่ มีความเสี่ยงใดๆ หรือไม่
ประโยชน์ 7 อย่าง ของชั่วโมงแรกหลังคลอด
4.ประโยชน์ต่อความผูกพันธ์ระหว่างแม่และลูก
การวางลูกไว้บนตัวของแม่นั้น ลูกจะรู้สึกมั่นใจและสบายตัว เนื่องจากสายใยระหว่างแม่และลูกสำคัญต่อการมีชีวิตรอดของทารกแรกเกิด ฮอร์โมนออกซิโทซินจะเพิ่มมากขึ้นในสมองของคุณแม่ระหว่างที่ตั้งครรภ์ และเมื่อลูกคลอดออกมาฮอร์โมนนี้ก็จะทำหน้าที่ ด้วยการแสดงออกถึงพฤติกรรมต่างๆ ของคุณแม่ อย่างเช่น การกอด การจูบ พูดเรื่องในด้านบวก โดยที่ฮอร์โมนนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณแม่ให้นมและอุ้มลูกให้ผิวได้สัมผัสกัน
5.ช่วยให้การให้นมแม่สำเร็จ
เนื่องจากการให้ลูกดูดนมทันทีหลังจากที่คลอดออกมา จะทำให้ลูกเรียนรู้เรื่องการดูดนมแม่ได้เร็วกว่า และช่วยให้มีแนวโน้มการให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ตามคำแนะนำของ WHO ประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วยละค่ะ
6.การแยกจากคุณแม่
เด็กทารกเกิดมาพร้อมกับการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคุณแม่ทันทีหลังการคลอด ลูกจะตื่นตัวและจ้องมองมาที่ใบหน้าของคุณแม่ จดจำกลิ่น เสียง และสัมผัสของคุณแม่ได้ แต่เมื่อลูกโดนจับแยกจากคุณแม่ เจ้าตัวเล็กจะทำการประท้วง สงเสียงดัง เพื่อดึงความสนใจของคุณแม่ ให้คุณแม่มาโอบกอดและสัมผัสตัว และเมื่อการร้องไห้ไม่เป็นผล เด็กๆ จะเข้าสู่ช่วงสิ้นหวัง ยอมแพ้ ลูกจะเงียบและสงบ เป็นสัญชาตญาณที่หลีกเลี่ยงอันตรายจากนักล่า รวมไปถึงระบบร่างกายลูกจะทำงานช้าลงเพื่อสำรองพลังงานและความร้อนเอาไว้
7.เพิ่มภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
ระหว่างที่อยู่ในครรภ์ ตลอดจนการคลอด ลูกจะได้รับการปกป้องจากคุณแม่ และเรียนรู้ว่าแบคทีเรียอันไหนดีหรืออันไหนที่ไม่ดีต่อร่างกาย ซึ่งเป็นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคอื่นๆ ในอนาคต มีงานวิจัยที่บอกว่าหากทารกแรกเกิดไม่ได้รับแบคทีเรียที่ดีจากคุณแม่ ระบบภูมิคุ้มกันของเขาก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลถึงการติดเชื้อของลูกได้ในอนาคต การให้นมแม่ก็เป็นการช่วยเพิ่มแบคทีเรียที่ดีให้กับลูกได้นะคะ
วางแผนยังไงหากอยากอยู่กับลูกในชั่วโมงแรก
- ปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ รวมไปถึงนโยบายของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อดูว่ามีแผนที่คุณแม่ต้องการหรือไม่
- ขอดูสถานที่จริงว่ามีเครื่องมือพร้อมไหม เช่น มีไฟที่สามารถหรี่ได้ สภาพโดยรอบเงียบหรือไม่ และมีความเป็นส่วนตัวมากน้อยแค่ไหน
- ควรพูดคุยทำความเข้าใจกับคุณหมอ และพยาบาลถึงความต้องการของคุณแม่ล่วงหน้า
ที่มา bellybelly รูป: abc, Kate Kennedy Birth Photography
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คลอดลูกในน้ำ ปลอดภัยกับแม่และลูกแค่ไหน?
เทคนิคลดความกลัวการคลอดลูก ของแม่ใกล้คลอด
เช็คความปกติลูก 10 เรื่อง แม่ต้องสังเกตทารกแรกเกิด ตั้งแต่หัวจรดเท้า