ท้องลด อาการท้องลดหญิงตั้งครรภ์ คืออาการของท้องที่เคยสูงถึงระดับลิ้นปี่ ลดระดับลง จากการที่ศีรษะของทารกในครรภ์เคลื่อนเข้าสู่อุ้งเชิงกราน
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ ยอดมดลูกจะคลำได้ที่ระดับสะดือ พอตั้งท้องได้ประมาณ 32 สัปดาห์ ยอดมดลูกก็จะอยู่ที่ระดับกึ่งกลางสะดือกับกระดูกลิ้นปี่ จนเมื่อมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 36 สัปดาห์ ยอดมดลูกก็จะถึงลิ้นปี่
และเมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้คลอด หรือภายหลังที่ตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ไปแล้ว ศีรษะของทารกก็จะเคลื่อนตัวลงต่ำเข้าสู่อุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอด
สำหรับในรายที่จะคลอดท่าปกติ ทารกจะเริ่มเคลื่อนศีรษะต่ำลงไปในอุ้งเชิงกราน หรือกรณีที่เอาก้นลง ส่วนก้นของลูกก็จะเคลื่อนสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้มดลูกส่วนล่างขยายตัว เรียกว่า หัวลงต่ำ ส่งผลให้ภายนอกของแม่ดูว่าท้องลดต่ำลงมา
อาการท้องลดหญิงตั้งครรภ์ ความรู้สึกตอนท้องลด
อาการท้องลด เป็นหนึ่งในสัญญาณใกล้คลอด โดยแม่ท้องจะรู้สึกโล่ง สบายตัวมากขึ้น ไม่อึดอัด และหายใจสะดวกขึ้น เนื่องจากมดลูกลดระดับลง ไม่ดันกระบังลม ภายหลังรับประทานอาหารก็ไม่ค่อยแน่นท้อง เพราะกระเพาะอาหารถูกกดน้อยลง
แต่ในขณะเดียวกัน แม่ท้องก็จะรู้สึกปวดหน่วงแถวบริเวณหัวหน่าว หรือบริเวณช่องคลอด เหมือนลูกในท้องจะไหลออกมา เพราะการที่ศีรษะของลูกที่อยู่ต่ำในบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้ไปเบียดกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่ท้องให้มีพื้นที่น้อยลง ส่งผลให้คุณแม่ท้องมีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้น เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นด้วย
แม่ท้องบางรายจะมีอาการเท้าบวมมากขึ้น ลุกนั่งลำบากกว่าเดิม หรืออาจมีอาการเป็นตะคริวบ่อยขึ้นด้วย เนื่องจากศีรษะของทารกและมดลูกกดทับเส้นเลือดดำในอุ้งเชิงกรานมากกว่าในระยะอื่น จึงทำให้เลือดไหลกลับจากขาไม่สะดวก
ท้องลดตอนไหน
สำหรับคุณแม่ท้องแรก อาจสังเกตได้ว่า ภายหลังตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ ท้องอาจจะมีขนาดลดลง เพราะทารกในครรภ์ที่เคยอยู่ในมดลูก ระดับเหนือช่องเชิงกราน เริ่มเคลื่อนต่ำลงไปในช่องเชิงกราน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ที่จะตามมาในไม่ช้านี้ แต่สำหรับคุณแม่ท้องที่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว จะสังเกตเห็นท้องลดช้ากว่าในท้องแรกๆ คุณแม่ท้องบางคนจวบจนใกล้คลอดแล้วท้องยังไม่ลด และไม่รู้สึกว่าท้องลดเลย จนกระทั่งถึงระยะเจ็บคลอดเลยก็มี
แม้ว่าอาการท้องลด จะเป็นหนึ่งในสัญญาณใกล้คลอด แต่คุณแม่ท้องก็ต้องสังเกตอาการข้างเคียงอื่นๆ ประกอบไปด้วยนะครับ โดยอาการใกล้คลอดอื่นๆ จะมีอะไรอีกบ้างนั้น ก็สามารถติดตามอ่านได้จากบทความด้านล่างนี้ได้เลยครับ
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
6 อาการใกล้คลอด เตรียมสตาร์ทรถไปโรงพยาบาลด่วน
วิธีเร่งคลอดธรรมชาติ ทำอย่างไรให้ปากมดลูกเปิด
ระยะของการคลอด เป็นอย่างไร เจ็บเตือน เจ็บจริง คลอดรก ตอนไหนเจ็บปวดที่สุด