ทำไมลูกยังไม่คลาน? เช็คพัฒนาการลูก แบบไหนที่เรียกว่า ช้า
ทำไมลูกยังไม่คลาน?
ทำไมลูกยังไม่คลาน?
การคลาน เป็นหนึ่งในพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก จัดอยู่ในกลุ่มกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่ง ก็คือพัฒนาการเกี่ยวกับอวัยวะ ที่ใช้สำหรับการเคลื่อนไหว และ ทรงตัวนั่นเองค่ะ โดยปกติ เด็กทั่วไปมักจะมีลำดับพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ดังนี้
ชันคอได้เมื่อ อายุ 2 – 3 เดือน, คว่ำหงายได้เมื่อ อายุ 4 – 5 เดือน, นั่งได้มั่นคงเมื่อ อายุ 6 – 7 เดือน, เกาะยืนและคลานสี่ขาเมื่อ อายุ 8 – 9 เดือน, เกาะเดินเมื่อ อายุ 9 – 10 เดือน, ยืนเมื่อ อายุ 11 เดือน, เดินได้ อายุ 1 ปี และวิ่งได้ อายุ 18 เดือน
ทั้งนี้มีเด็กบางส่วน ที่ไม่คลาน แต่ข้ามไปเกาะยืน ยืนด้วยตัวเอง และ เดินเลย ซึ่งหากพัฒนาการในระยะ ๆ อื่น ๆ เป็นไปตามวัย โดยที่เด็กข้ามการคลานไปก็ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ
เมื่อไหร่จึงจะเข้าข่ายพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า
ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้เองดังนี้ค่ะ
อายุ 5 – 6 เดือน คอยังไม่แข็ง, อายุ 7 เดือน ยังคว่ำหงายเองไม่ได้, อายุ 9 เดือน ยังนั่งเองไม่ได้, อายุ 18 เดือน ยังเดินเองไม่ได้, และ อายุ 20 เดือน ยังวิ่งไม่ได้
เมื่อผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้า หมอแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ หรือ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และ พฤติกรรมเด็ก เพื่อจะได้ตรวจยืนยัน หาสาเหตุ และแนวทางการช่วยเหลือต่อไปค่ะ
ทำไมลูกยังไม่คลาน
อ่านการส่งเสริมพัฒนาการลูกในหน้าถัดไป
สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการ ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ผู้ปกครองสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝนตามวัยดังนี้ค่ะ
แรกเกิด – อายุ 3 เดือน :
เปิดโอกาสให้เด็กได้นอนคว่ำบ้างในช่วงที่เด็กตื่นตัว เพื่อฝึกการชันคอ แต่ไม่แนะนำให้จัดเด็กในท่านอนคว่ำขณะหลับ หรือ เวลาไม่มีคนดูแลใกล้ชิดนะคะ เนื่องจากทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นได้ เพราะวัยนี้ หากมีสิ่งของเช่น ฟูก หมอน หรือ ผ้าห่มบังเอิญมาปิดจมูก เด็กจะยังไม่สามารถหายใจทางปาก หรือ ยกศีรษะให้พ้นได้ ทำให้อาจจะขาดอากาศหายใจ และ เสียชีวิตได้ค่ะ
อายุ 3-4 เดือน :
ให้เด็กนอนบนพื้นที่ไม่นิ่ม หรือ แข็งจนเกินไป หาของเล่นล่อให้เด็กสนใจ เพื่อฝึกให้เด็กอยากจะคว่ำ-หงาย
อายุ 5-6 เดือน :
เริ่มจัดท่าให้เด็กนั่งเล่นบนพื้นที่ไม่นิ่ม หรือ แข็งจนเกินไป เพื่อเด็กจะได้ฝึกหัดทรงตัวขณะนั่ง โดยช่วงแรก เด็กจะเอามือค้ำเพื่อพยุงตัวให้นั่งได้ก่อน เมื่อได้ทำบ่อย ๆ เด็กก็จะสามารถทรงตัวนั่งเองได้ โดยที่ไม่ต้องใช้มือค้ำค่ะ
อายุ 6-12 เดือน :
กั้นคอกพร้อมปูแผ่นรองคลานกันกระแทก เพื่อที่เด็กจะได้เริ่มฝึกคลาน เกาะยืน เกาะเดิน รวมถึงปล่อยมือในช่วงสั้น ๆ ได้
อายุ 12 เดือนขึ้นไป :
เปิดโอกาสให้เด็กได้เดินทรงตัว และล้มลงในที่ที่ปลอดภัย เช่น บนแผ่นรองคลาน จะทำให้เด็กเรียนรู้การหัดก้าวเดินและระมัดระวังตัวเอง เมื่อเด็กเดิน-วิ่งได้คล่อง หมั่นหาโอกาสให้เด็กได้ออกกำลังกาย เล่นนอกบ้าน เช่น ในสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่มีความแข็งแรง และยังส่งผลให้เด็กมีสุขภาพที่ดีอีกด้วยค่ะ
กุมารแพทย์เตือน! ไม่ให้ใช้รถหัดเดิน
ไม่แนะนำให้ใช้รถหัดเดิน
นอกจากนี้ กุมารแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้รถหัดเดิน เนื่องจากไม่ได้ช่วยให้เดินเร็วขึ้น แต่ ตรงกันข้ามอาจทำให้เด็กเดินได้ช้าลง รวมถึงเมื่อเด็กเดินได้เองอาจติดการเดินเขย่งได้ค่ะ
เพราะการนั่งรถหัดเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกเพื่อดันตัวเอง ให้เคลื่อนที่ไปซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติการเดินปกติที่ต้องเอาส้นเท้าลง และ เดินให้เต็มฝ่าเท้านั่นเองค่ะ
อีกทั้งอุบัติเหตุในวัยก่อน 1 ปี ที่พบได้บ่อย ก็มักมาจากรถหัดเดิน เพราะเด็กสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วมาก อาจพลัดตกจากที่สูง เช่น บันใด หรือ อาจเคลื่อนที่ไปแล้วดึงของที่ห้อยลงมาตกลงมาใส่ตัวเองได้ค่ะ
สุดท้ายที่หมออยากจะฝากไว้ก็คือ ในเด็กที่ไม่มีปัญหาทางด้านร่างกาย สาเหตุของพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้าที่พบได้บ่อยก็ คือ การไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนตามวัย เช่น การปล่อยให้นอนแต่บนที่นอน หรือ การอุ้มบ่อย ๆ นั่นเองค่ะ ดังนั้น การปล่อยให้เด็กได้มีประสบการณ์ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กได้อย่างดีทางหนึ่งนะคะ
ทำไมลูกยังไม่คลาน-03
พญ.ณัฐวรรณ จารุวรพลกุล
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก
รพ.พญาไท 3
theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent Thailand เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
พัฒนาการเด็กแรกเกิด – 1 ปี ที่พ่อแม่ต้องรู้
วิธีเล่นแบบไหนช่วยเสริมพัฒนาการลูก
ทำไมเด็กแรกเกิดจึงอยากให้อุ้มอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง วางทีไรร้องทุกที แม่ต้องทำยังไง
ลูกคลานช้า คลานถอยหลังผิดปกติไหม ท่าคลานเด็กมีแบบไหนบ้าง?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!