คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักจะประสบปัญหา หรือมีความสงสัยเกี่ยวกับการนอนหลับของลูกน้อยวัยทารก ลูกไม่ยอมนอน โดยเฉพาะช่วงทารกแรกเกิด ซึ่งมักพบว่า ลูกจะไม่ค่อยนอนในตอนกลางคืน ร้องกวนบ่อย แต่จะมานอนหลับในช่วงกลางวันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวลและอ่อนเพลียไปตาม ๆ กัน มาดูกันค่ะว่า ลูกไม่ยอมนอน วิธีกล่อมลูกนอน ต้องแก้ปัญหานี้อย่างไร
ลูกไม่ยอมนอน มีสาเหตุมาจากอะไร
เด็ก ๆ ทุกคนต้องการการนอนหลับที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ แต่บางครั้งลูกน้อยของคุณอาจมีปัญหาการนอนหลับ ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้กับพ่อแม่เป็นอย่างมาก สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมนอนนั้น มีหลากหลายปัจจัย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. ปัญหาสุขภาพ
- การเจ็บป่วย: เด็กอาจรู้สึกไม่สบายตัวจากโรคต่างๆ เช่น หวัด ไอ ไข้ ปวดท้อง ปวดฟัน ปวดหู หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนรบกวนการนอนหลับของเด็กได้
- ความอึดอัด: เสื้อผ้าที่รัดเกินไป อุณหภูมิห้องที่ร้อนหรือเย็นเกินไป หรือแสงสว่างที่มากเกินไป ล้วนทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดและไม่สบายตัว ส่งผลต่อการนอนหลับ
- หิวหรืออิ่มเกินไป: เด็กที่หิวหรืออิ่มเกินไป มักนอนหลับได้ยาก เด็กทารกอาจตื่นขึ้นมาร้องไห้เพราะหิวตอนกลางคืน
- ง่วงนอนเกินไป: เด็กที่ง่วงนอนมากเกินไป อาจรู้สึกอึดอัดและหงุดหงิดจนไม่ยอมนอน
2. สภาพแวดล้อม
- เสียงรบกวน: เสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงรถ เสียงเครื่องบิน เสียงจากเพื่อนบ้าน ล้วนรบกวนการนอนหลับของเด็ก
- แสงสว่าง: แสงสว่างจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ กระตุ้นให้สมองของเด็กตื่นตัว ทำให้นอนหลับได้ยาก
- อุณหภูมิ: อุณหภูมิห้องที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ส่งผลต่อการนอนหลับของเด็ก อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับของเด็กควรอยู่ที่ประมาณ 25-26 องศาเซลเซียส
- เตียงนอน: เตียงนอนที่ไม่สบาย หรือมีขนาดเล็กเกินไป ทำให้เด็กลุกนอนบ่อย
3. พฤติกรรม
- ไม่มีกิจวัตรประจำวันก่อนนอน: การไม่มีกิจวัตรประจำวันก่อนนอนที่สม่ำเสมอ เช่น อาบน้ำ อ่านหนังสือ หรือร้องเพลงกล่อม ทำให้เด็กรู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าถึงเวลาเข้านอน
- งีบหลับตอนกลางวันมากเกินไป: เด็กที่งีบหลับตอนกลางวันมากเกินไป มักนอนหลับยากตอนกลางคืน
- เล่นหรือดูทีวีใกล้เวลานอน: แสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ กระตุ้นให้สมองของเด็กตื่นตัว ทำให้นอนหลับได้ยาก
4. ปัจจัยทางจิตใจ
- กังวลหรือเครียด: เด็กอาจกังวลหรือเครียดจากสิ่งต่างๆ เช่น การเริ่มเรียนใหม่ การย้ายบ้าน หรือปัญหาครอบครัว ความเครียดส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้นอนหลับได้ยาก
- รู้สึกเหงาหรือกลัว: เด็กบางคนอาจรู้สึกเหงาหรือกลัวที่จะนอนคนเดียว ต้องการให้อบอุ่นใจโดยการอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่
บทความที่น่าสนใจ: 16 กิจกรรมก่อนนอน ช่วยให้ลูกนอนหลับสบาย ไม่ตื่นกลางดึก
ทำอย่างไรเมื่อทารกน้อยไม่ยอมนอนตอนกลางคืน?
หากเราเข้าใจลักษณะการนอนของทารกแล้ว อาจพบว่าเป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ บ้านต้องพบเจอปัญหานี้เหมือน ๆ กัน หมอเองก็เคยเป็นคุณแม่ลูกอ่อนที่อดหลับอดนอนจากการดูแลลูกมาแล้ว จนลูกอายุ 3 เดือน การนอนจึงจะดีขึ้นอย่างชัดเจนค่ะ เรามาทำความเข้าใจธรรมชาติการนอนของทารกเพื่อที่จะได้ทราบแนวทางการแก้ปัญหาให้ดีขึ้นและยอมรับในส่วนที่เป็นธรรมชาติตามวัยของลูก กันดีกว่านะคะ
ลักษณะการนอนของทารก แต่ละช่วงวัย
การนอนของทารกเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของทารก การเข้าใจลักษณะการนอนของทารกในแต่ละช่วงวัยจะช่วยให้พ่อแม่สามารถจัดการและสร้างกิจวัตรการนอนที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดลักษณะการนอนของทารกในแต่ละช่วงวัยค่ะ
ตารางการนอน ทารกแรกเกิด
- ทารกแรกเกิดจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการนอน นานถึงวันละ 16-20 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นช่วงสั้น ๆ ช่วงละ 1-4 ชั่วโมง และตื่นช่วงละ 1-2 ชั่วโมง ความหิวและอิ่มมีความสำคัญกับการหลับและตื่นมาก โดยหากทานอิ่มก็จะนอนได้นาน เมื่อหิวก็จะตื่นมาร้องกวนบ่อย ชั่วโมงที่ใช้ในการนอนกลางวันและกลางคืนใกล้เคียงกัน
ตารางการนอน ทารก 3 เดือน
- เมื่อทารกค่อย ๆ โตขึ้นระยะเวลาที่ใช้ในการนอนแต่ละวันจะลดลง แต่ช่วงระยะเวลาที่นอนหลับแต่ละช่วงจะยาวนานขึ้น จนยาวขึ้นชัดเจนหลังอายุ 3-4 เดือน พร้อมกับที่ชั่วโมงที่ใช้ในการนอนกลางวันจะลดลงน้อยกว่ากลางคืนอย่างชัดเจน หลังอายุ 3 เดือน
ตารางการนอน ทารก 4 เดือน
- เมื่อทารกอายุ 4 เดือน จะต้องการชั่วโมงการนอนต่อวันลดลงเหลือประมาณ 14-15 ชั่วโมงต่อวัน และค่อยๆ ลดลงตามอายุ โดยเหลือประมาณ 14 ชั่วโมงที่อายุ 6-9 เดือน โดยเฉลี่ยระยะเวลาในการนอนแต่ละครั้งก็จะมีช่วงที่ยาวขึ้น เป็น 6-8 ชั่วโมง ในช่วงอายุ 4-6 เดือน หลังจากอายุ 6 เดือนจนถึง 1 ปี ทารกจะนอนวันละประมาณ 14 ชั่วโมง โดยมีช่วงนอนกลางวันสั้นลงเหลือเพียงประมาณวันละ 2-4 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 2 ครั้ง ดังนั้นหากลูกน้อยร้องกวนและตื่นบ่อยในช่วงวัย 3 เดือนแรก ก็เป็นปกติตามลักษณะการนอนตามวัยของลูกค่ะ
ลูกอายุเกิน 3 เดือนแล้วแต่ยังตื่นบ่อยกลางดึก เพราะอะไร?
โดยทั่วไป เมื่อลูกน้อยอายุ 3-4 เดือน ก็จะเริ่มนอนตอนกลางคืนได้ยาวขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงสบายขึ้น แต่บางครอบครัวยังพบว่าลูกยังตื่นบ่อย ร้องกวนมากตอนกลางคืน
บางคนอายุมากกว่า 9 เดือนแล้ว ก็ยังมีปัญหานี้
ทั้งที่โดยปกติเด็กทารกอายุ 9 เดือนขึ้นไป จะสามารถเรียนรู้การควบคุมให้เริ่มนอนหลับด้วยตนเองและหลับต่อเองได้กลางดึก สาเหตุมักเกิดจากให้นมลูกบ่อยเกินไป เช่น
- ให้ลูกทานนมทุก 1-2 ชั่วโมง
- หรือให้นมทุกครั้งที่ลูกร้อง ทั้งกลางวันและกลางคืน
- ทำให้ลูกตื่นมาร้องบ่อยเพื่อขอทานนมในกลางดึกเหมือนช่วงกับกลางวัน แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ตอบสนองโดยการให้ลูกทานนมทุกครั้งเวลากลางคืน ทำให้ลูกไม่สามารถหลับยาวได้ตามวัยอันควร
ลูกไม่ยอมนอน วิธีกล่อมลูกนอน ทำอย่างไรดี
เมื่อลูกอายุ 6-9 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถแก้ปัญหาการร้องกวนไม่ยอมนอนตอนกลางคืนได้ โดยเมื่อลูกตื่น ร้องกวนกลางดึกก็ควรหาสาเหตุก่อน เช่น
- มีการปัสสาวะ
- อุจจาระเปื้อน
- อากาศร้อน
- อากาศเย็นเกินไป
- มีไข้ ไม่สบาย หรือไม่
หากไม่มีสาเหตุใด ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีกล่อมลูกนอน ดังนี้
- ตบที่ก้นเบาๆ
- กอดหรืออุ้ม เพื่อปลอบให้หลับ
- หากยังร้องกวนอยู่อาจให้ทานน้ำแทนการทานนม เด็กหลายคนก็สามารถหลับต่อได้ หรือเมื่อได้เรียนรู้ว่าตื่นมาก็ไม่ได้ทานนม ก็จะไม่อยากตื่น สามารถนอนหลับได้ยาวขึ้นจนไม่ตื่นเลยทั้งคืน
- คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เงียบสงบ น่านอนหลับ
- ไม่กระตุ้นหรือเล่นกับลูกให้ตื่นเต้นมากเกินไปก่อนเข้านอน
- อาจจะอ่านนิทานฟังสบายๆ ให้ลูกหลับฝันดี แล้วปิดไฟ
- ฝึกให้ลูกนอนหลับบนที่นอน
- ไม่อุ้มลูกเดินจนหลับ
- หากลูกตื่นมาเล่นด้วยตอนกลางดึกก็ตอบสนองให้น้อยที่สุด เช่น แค่ตบก้นเบาๆ หรือไม่ตอบสนอง เพื่อให้ลูกนอนหลับต่อไปได้เอง
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีการเหล่านี้ อาจมีความยากง่ายที่ต่างกันในเด็กแต่ละคน และอายุที่เด็กจะนอนยาวได้อาจต่างกันในแต่ละคน เช่น ประสบการณ์ของหมอเอง ลูกคนโตสามารถนอนยาวได้จริงเมื่ออายุเกือบ 1 ขวบ โดยต้องฝึกกันนานพอสมควรตามวิธีการดังกล่าว ส่วนลูกคนเล็กไม่ต้องฝึกอะไรเลย ก็สามารถค่อยๆ นอนหลับยาวกลางคืนได้เองที่อายุ 9-10 เดือน หมอขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวสามารถแก้ไข ผ่านพ้นปัญหาลูกน้อยไม่ยอมนอนไปได้อย่างง่ายดายและมีความสุขนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เกณฑ์น้ำหนักทารกแรกเกิด ลูกของคุณหนักขึ้นตามนี้หรือเปล่า
ลูกชอบกลืนยาสีฟัน ทำไงดี อันตรายไหมแบบนี้ มีผลร้ายไหม?
ทารกแรกเกิด เต้านมโต น้ำนมไหล ผู้ใหญ่ให้บีบเต้าเอาน้ำนมออก ทำยิ่งบวมแดง