แผลเป็นนูนหลังผ่าคลอด เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คุณแม่หลายคนกังวลใจ และอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจในรูปร่างได้ อย่างไรก็ตาม รอยแผลเป็นเหล่านี้สามารถรักษาให้ได้ วันนี้เราจะพาไปดูกันวิธีรักษาที่จะช่วยให้แผลเป็นหลังผ่าคลอดยุบหายไป และช่วยให้คุณแม่กลับมามีผิวเนียนสวยเหมือนเดิม
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ แผลเป็นนูนหลังผ่าคลอด
แผลเป็นหลังผ่าคลอด ความเชื่อหนึ่งที่มีมาทุกยุคทุกสมัยและคุณแม่ก็คงเคยได้ยินเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า การรับประทานไข่ไก่จะยิ่งทำให้แผลเป็นนูน หายช้า เป็นคีลอยด์ ความจริงก็คือ “ไข่” เป็นสารอาหารจำพวกโปรตีน เช่นเดียวกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม รวมถึงถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งจะช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น เพราะช่วยสร้างเนื้อเยื่อทำให้เซลล์แต่ละเซลล์ สามารถประสานยึดติดเป็นเนื้อเดียวกันได้
แผลเป็นนูนหลังผ่าคลอด เกิดจากสาเหตุใด
นพ.ธรรมนูญ พนมธรรม ศัลยแพทย์ตกแต่ง โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูน (คีลอยด์) ดังนี้
- ปัจจัยเรื่องอายุ สำหรับคุณแม่ผ่าคลอด หรือผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ๆ ร่างกายจะมีโอกาสการสร้างพังผืดเยอะกว่าผู้สูงอายุ
- ลักษณะของผิวหนัง เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ในคนที่มีผิวสี เช่น คนเอเชีย หรือคนแอฟริกา มีโอกาสการเกิดแผลเป็นนูนมากกว่าคนที่มีผิวขาว
- ตำแหน่งของแผล ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ถ้าตำแหน่งที่เกิดแผล อยู่บริเวณหน้าอกทางด้านหน้า – ด้านหลัง ไหล่ หู หรือบริเวณผิวหนังที่มีการเคลื่อนไหวได้บ่อย ๆ ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดแผลเป็นที่มีปัญหาและดูไม่สวยงามได้
นอกจากนี้ลักษณะอาการตึงของแผล จากการเย็บไม่แข็งแรง หรือเย็บน้อยชั้นเกินไป ก็อาจจะทำให้แผลมีความตึงมากและเกิดเป็นแผลนูนหนาได้ ส่วนใหญ่คุณหมอจะใช้การเย็บแผลด้วยเทคนิคที่จะช่วยลดความตึงของแผลลงและเกิดเป็นแผลเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามธรรมชาติของผิวหนัง แผลที่มีขนาดใหญ่จะใช้เวลานานจึงจะหาย โอกาสที่จะเกิดแผลเป็นจึงมีมาก โดยที่แผลเป็นในระยะแรกจะเห็นได้ชัดและค่อย ๆ จางลง ใช้เวลาเป็นเดือน หรือปี ซึ่งแผลเป็นจะเห็นได้ชัดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสี ความเรียบ ความยาว ความลึก และความกว้างของแผลด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : แผลผ่าคลอด กี่วันหาย วิธีดูแลแผลผ่าคลอด แผลนูนคัน แผลปริ แผลอักเสบ
ทำอย่างไรให้แผลนูนหลังผ่าตัดคลอดยุบลง
คงเป็นคำถามที่ค้างคาใจคุณแม่ผ่าคลอดที่มีแผลเป็นนูนทุกคนอย่างแน่นอน การดูแลแผลผ่าตัดหลังจากผ่าคลอดตั้งแต่เนิ่น ๆ มีด้วยกันหลายวิธี แต่ยังไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุด รวมทั้งแต่ละวิธีมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป เช่น
- การใช้ซิลิโคนเจล (Silicone gel sheet)
- โพลรียูรีเทน (Polyurethrane)
- สารสกัดจากหัวหอม (Topical onion extrace) ซึ่งมีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพว่า ได้ผลดีในการป้องกันแผลเป็น
- วิตามินอี (Vitamin E) หรือ Mucopolysaccharide มีข้อบ่งชี้ว่า ทำให้แผลเป็นนุ่มลงได้
- การทายาสเตอรอยด์จะช่วยบรรเทาอาการคัน ตึง ปวด เพื่อไม่ให้ลุกลาม แต่ไม่ได้ช่วยให้แผลเป็นนูน (คีลอยด์) ยุบลง สเตอรอยด์อาจทำให้ผิวบาง และยังทำให้เกิดไฮเปอร์พิกเมนต์ หรือสีผิวจางกว่าผิวหนังด้านข้าง ทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอกันด้วย
- การฉีดสเตอรอยด์เข้าไปในแผลเป็นหรือการรักษาด้วยเลเซอร์เป็นการรักษาที่ได้ผลดีพอสมควร แต่ต้องทำหลายครั้ง แผลเป็นนูน จึงจะเรียบลง
การผ่าตัดช่วยรักษาแผลนูนได้จริงไหม
การผ่าตัดจะช่วยจัดตำแหน่งรอยแผลเป็นนูนให้ดีขึ้นได้จริงหรือ เพราะทุกครั้งที่มีการผ่าตัดย่อมมีแผลใหม่เกิดขึ้น อีกทั้งการผ่าตัดเพื่อลดรักษาคีลอยด์ให้ประสบผลสำเร็จ ยังขึ้นอยู่กับขนาดของแผลอีกด้วย ทั้งนี้แผลเป็นอาจจะหดและจางลงเอง แต่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ทิ้งไว้เฉย ๆ สัก 1 ปี จนแผลจางลงเต็มที่ก่อนจึงจะทำการรักษา
สำหรับการฉีดยาสเตอรอยด์ การใช้ซิลิโคนเจลชีทและวิธีอื่น ๆ เช่น การฉายแสงเลเซอร์ การจี้ความเย็น วิธีการเหล่านี้สามารถใช้รักษาแผลเป็นนูนได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาไม่อาจการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อรักษาไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการรักษารอยนูนจากแผลผ่าคลอด คือ การดูแลตามขั้นตอนที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่วันแรกหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ได้แก่
- ในระยะ 2 – 3 วันแรกหลังผ่าตัดแม้แผลผ่าคลอดจะยังมีพลาสเตอร์ปิดอยู่ ก็ไม่ควรอาบน้ำ เพราะน้ำอาจซึมเข้าแผล จนเกิดอาการติดเชื้อที่บาดแผลได้
- ควรใช้ผ้ารัดหน้าท้องในเวลากลางวัน จนกว่าแผลผ่าตัดจะหายสนิท เพื่อจะได้เคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น โดยไม่เจ็บแผล เพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องยังหย่อนอยู่มาก
- ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณบาดแผลให้มากขึ้น ช่วยสมานให้แผลติดกันได้เร็วขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : แผลผ่าคลอด ดูแลแผลอย่างไร ให้ไม่เป็นแผลนูนแดง หมดห่วงเรื่องคีลอยด์
โภชนาการสำคัญกับการรักษาแผลคีลอยด์ แผลนูน
ระยะการสมานตัวของแผล สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะการอักเสบ ระยะการเพิ่มจำนวน และระยะการปรับเปลี่ยนใหม่ ในแต่ละขั้นตอน ร่างกายของคนเราต้องการสารอาหารที่จะมาช่วยในการผลัดเปลี่ยนเนื้อเยื่อและเซลล์ที่ถูกทำลายให้สมานกันเช่นเดิม ความใส่ใจในโภชนาการ รับประทานที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยรักษาให้แผลหายเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยถนอมไม่ให้แผลเกิดการอักเสบ หรือเกิดเป็นแผลเป็นนูนอีกด้วย โดยกระบวนการหายของแผล แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
-
ระยะการอักเสบ (Inflammatory)
ในระยะ 0 – 3 วันแรก หรือระยะการอักเสบ เซลล์ที่ถูกทำลาย เนื้อตายและแบคทีเรียจะถูกกำจัดออกจากแผล ในกระบวนการเริ่มต้นของการสมานแผล ร่างกายของเราก็ต้องการสารอาหารที่จะช่วยในการห้ามเลือด ป้องกันการติดเชื้อ และซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ ในระยะนี้อาการบวม แดง เจ็บแผล อาจจะเกิดขึ้นเป็นปกติ
-
ระยะการเพิ่มจำนวน (Proliferative)
ในระยะนี้ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันและหลอดเลือดที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ จะทำหน้าที่ในการจัดเรียงตัวเองบนพื้นผิวบริเวณที่เป็นแผล และเกิดการหดตัวของเซลล์ เพื่อทำให้ปากแผลติดชิดกัน ในขั้นตอนนี้ร่างกายก็ยังคงต้องการสารอาหารและออกซิเจนที่เพียงพอ เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงหลอดเลือดและเนื้อเยื่อนั่นเอง
-
ระยะการปรับเปลี่ยนใหม่ (Maturation)
ในระยะนี้ คอลลาเจนจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากอาการบาดเจ็บของเซลล์และเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านล่างได้รับการซ่อมแซมเสร็จสิ้นแล้ว เซลล์ที่ถูกนำมาใช้ในระยะของการซ่อมแซม ก็จะถูกกำจัดออกไปจากร่างกาย คอลลาเจนที่ร่างกายสร้างขึ้นชั่วคราว ก็จะถูกทดแทนด้วยการสร้างที่ประณีตกว่าเดิม เพื่อปกปิดรอยแผลและลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็น โดยระยะการปรับเปลี่ยนใหม่นี้ จะเริ่มต้นขึ้นประมาณ 3 สัปดาห์ – 1 ปี หลังจากการผ่าตัด
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อไรที่แผลผ่าคลอดจะหายสนิท ผ่าคลอดเจ็บกี่วัน ดูแลแผลอย่างไรให้ถูกวิธี
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหลังการผ่าตัด
- น้ำตาล
- ไนเตรต มักพบในอาหารแปรรูป
- แอลกอฮอล์
- คาเฟอีน
อาหารที่ควรรับประทานหลังการผ่าตัด
- โปรตีน
- วิตามินบี เช่น ไข่ เนื้อไก่ ปลา ผักใบเขียว อัลมอนด์ อาโวคาโด เป็นต้น
- วิตามินซี เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
- วิตามินเอ เช่น ผักใบเขียว ปลา และไข่
- ซิงค์ เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ โอ๊ต เป็นต้น
หากคุณแม่อยากรักษาแผลเป็นนูนหลังคลอด ก็ควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อน ยิ่งถ้าหากคุณแม่เคยมีปัญหาเรื่องแผลมาก่อนแล้ว อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และเพื่อความปลอดภัยของร่างกายตัวเองค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ผ่าคลอดแนวยาว ผ่าคลอดแนวขวาง ข้อดีข้อเสีย และวิธีดูแลแผลผ่าคลอด
ปวดแผลผ่าคลอด เจ็บ ๆ เสียว ๆ เมื่อไหร่จะหายสักที เรื่องที่คุณแม่ผ่าคลอดควรรู้
10 เมนูอาหารคุณแม่หลังผ่าคลอด หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง อะไรควรหลีกเลี่ยง
ที่มา : cosmosclinic, mgronline