ในการตั้งครรภ์ เกินกำหนดคลอด นั้นส่งผลเสียที่มีความอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์หลายอย่าง ในวันนี้ เราจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะการตั้งครรภ์เกินกำหนดให้กับคุณแม่กัน ว่ามีข้อควรระวังอะไรบ้าง และมีวิธีป้องกันรักษาอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
การตั้งครรภ์เกินกำหนด คืออะไร
รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์ กล่าวถึง ตั้งครรภ์เกินกำหนดคลอดไว้ว่า ตามปกติแล้วอายุครรภ์ที่ครบกำหนดคลอดและทารกมีความสมบูรณ์เต็มที่ คือ อายุครรภ์ช่วงระหว่าง 37 สัปดาห์ถึง 41 สัปดาห์ และอีกไม่เกิน 6 วัน เมื่อคำนวณจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มาปกติ สำหรับแม่ท้องที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 42 สัปดาห์ หรือ 294 วัน ถือว่าเป็น “การตั้งครรภ์เกินกำหนด (Post term pregnancy)” ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงนั่นเองค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : การตั้งครรภ์เกินกำหนด กับ 4 เรื่องที่แม่ท้องต้องรู้
สาเหตุของครรภ์ เกินกำหนดคลอด
ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อยืนยันชัดเจนว่าครรภ์เกินกำหนดคลอดเกิดจากสาเหตุใด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติหรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่พบว่า ทารกในครรภ์พิการบางอย่าง เช่น ทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ (Anencephaly) ต่อมใต้สมองผิดปกติ, ต่อมหมวกไตฝ่อ และการขาดฮอร์โมน Placental sulfatase deficiency ทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมีน้อยลง คุณแม่จึงไม่มีอาการเจ็บท้องคลอด แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตั้งครรภ์เกินกำหนด คือ การที่แม่ท้องจำวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้หรือจำวันผิด ทำให้คำนวณอายุครรภ์ผิดไป
แม่ท้องทุกคนควรเตรียมพร้อมในการฝากครรภ์ที่สำคัญ คือ ควรจำวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายให้ได้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะคุณหมอจะได้คำนวณวันที่ครบกำหนดคลอดได้ไม่คลาดเคลื่อนมากนัก แต่ถ้าจำไม่ได้จริง ๆ คุณหมอจะแนะนำให้เองค่ะ ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดีที่สุด เพื่อลูกน้อยคลอดออกมาจะได้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
ตั้งครรภ์ เกินกำหนดคลอด เสี่ยงอย่างไรบ้าง ต่อแม่และลูกน้อย
-
เสี่ยงต่อคุณแม่
- เสี่ยงที่จะผ่าคลอด เพราะทารกในครรภ์มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น หัวโตขึ้นทำให้คลอดยาก ทำให้คุณแม่ต้องเสี่ยงผ่าตัดคลอด ต้องใช้เครื่องดูดสุญญากาศช่วยในการคลอด หรือต้องใช้คีมช่วยในการคลอด
- ทารกตัวใหญ่ขึ้นส่งผลให้ช่องคลอดฉีกขาดในขณะคลอด
- มีโอกาสที่จะตกเลือดหลังคลอดมากกว่าครรภ์ปกติ เนื่องจากมดลูกหดตัวไม่ดีเกิดจากมีบาดแผลบริเวณช่องคลอด
-
เสี่ยงต่อทารกในครรภ์
- ทารกเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในครรภ์ ยิ่งถ้าหากเกินกำหนดมากขึ้นเท่าใด โอกาสจะเสียชีวิตของทารกจะมีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
- ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการสำลักน้ำคร่ำ และอาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหลังคลอดได้สูง
- ทารกเสี่ยงต่อการบาดเจ็บขณะคลอด เช่น บาดเจ็บที่เส้นประสาทแขนเนื่องจากทารกตัวใหญ่ทำให้ไหล่ติดมดลูกขณะที่คลอด
- รกเสื่อม เพราะอายุครรภ์เกินกำหนด ส่งผลให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนเรื้อรัง(Chronic hypoxia) ทำให้ทารกเจริญเติบโตไม่เต็มที่ น้ำคร่ำจะน้อยลง เมื่อมดลูกยิ่งหดตัว รกจะยิ่งขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้น ทำให้ทารกอยู่ในภาวะเครียด (Fetal distress) หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้
การดูแลรักษา จากการตั้งครรภ์เกินกำหนด
เมื่อแพทย์ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอนแล้ว ว่าเกินกำหนดครรภ์ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง แพทย์จะเริ่มทำการตรวจสุขภาพทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ สัปดาห์ละ 2 ครั้งขึ้นไป และวัดปริมาณน้ำคร่ำ แพทย์จะทำการชักนำคลอด เมื่อปากมดลูกมีความพร้อมแล้ว แต่ถ้าหากคุณแม่มีอายุครรภ์ 42 สัปดาห์เต็ม แพทย์จะชักนำคลอดทันที ซึ่งโดยปกติแล้ว 90% ของคุณแม่จะเข้าสู่ระยะคลอดภายใน 2 วันหลังจากนั้น
การดูแลทารกหลังคลอด
หลังจากคุณแม่คลอดทารกน้อยแล้ว ถ้าหากทารกมีอาการหายใจช้า หรือติดขัด แพทย์จะทำการดูดขี้เทาผ่านท่อช่วยหายใจ เพื่อให้สามารถหายใจได้อย่างเต็มที่ ถ้าหากทารกหายใจได้ดี มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที แพทย์จะทำการกู้ชีพทารกแรกคลอดไปตามปกติ โดยไม่ต้องทำการดูดขี้เทาผ่านท่อช่วยหายใจ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นเสียงของเด็กได้
การดูแลตนเองของคุณแม่หลังคลอด
หากคุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรม เช่น มดลูกติดเชื้อ การดูแลคุณแม่หลังคลอดก็จะเหมือนกับการดูแลหลังคลอดของคุณแม่โดยทั่วไป และสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ ถ้าหากทารกน้อยไม่มีปัญหาใด ๆ และแพทย์จะคอยนัดให้มาตรวจหลังคลอดในตลอด 6 สัปดาห์ โดยในช่วงเวลานั้น คุณแม่ต้องงดการมีเพศสัมพันธ์เอาไว้ก่อน และเข้ารับการคุมกำเนิดที่ถูกต้องค่ะ
แนะนำการบริหารร่างกายหลังคลอดของคุณแม่
-
การให้นมบุตร
หนึ่งในวิธีการบริหารร่างกายที่ดีที่สุด ก็คือ น้ำนมแม่ นั่นเองค่ะ เพราะว่าน้ำนมแม่นั้น มีสารอาหารที่ครบถ้วน ที่ดีต่อลูกน้อย และสุขภาพของคุณแม่เป็นอย่างดี ช่วยลดภาวะการตกเลือดหลังคลอด มดลูกแห้งเร็ว และการให้นมยังช่วยให้ร่างกายของคุณแม่กลับมาเข้าทรวดทรงได้เร็วอีกด้วย!
-
ฝึกอุ้มให้นม
ในการฝึกอุ้มให้นมของคุณแม่ ควรจะนั่งบนเก้าอี้ที่นั่งได้สบาย สามารถปล่อยได้ทั้งแขนและหลัง เพื่อป้องกันอาการปวดหลัง ปวดเมื่อย จากการอุ้มให้นมลูก
-
ปั๊มเก็บนม
ถ้าหากคุณแม่มีน้ำนมมาก ก็สามารถปั๊มเก็บเอาไว้ได้นะคะ เพราะดีต่อสุขภาพของคุณแม่ด้วย และไม่ต้องคอยป้อนจากเต้าให้ลูกน้อยอีกด้วย โดยปกติแล้ว นมแม่สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 6 ชั่วโมง ในตู้เย็นธรรมดา 24 ชั่วโมง และสามารถเก็บในช่องแข็งได้ประมาณ 2 สัปดาห์ และนำมาละลายเมื่อต้องการนำมาใช้งานค่ะ
โดยสรุปแล้ว การที่อายุครรภ์เกินกำหนดคลอด เป็นเรื่องที่อันตรายมาก ทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ บ่งบอกถึงสุขภาพครรภ์ในหลาย ๆ อย่าง ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพลูกน้อยในครรภ์โดยตรง และเสี่ยงต่อการคลอดด้วย เช่น ทารกน้อยอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในการคลอด เพราะว่ามดลูกเกิดการหดตัวลง ทำให้ลูกน้อยขาดออกซิเจนอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
นักวิจัยพบ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรกินยาพาราเซตามอล
ตั้งครรภ์ได้ไหม ? หากเป็นโรคเบาหวาน
ภาวะรกเกาะต่ำขณะตั้งครรภ์ คืออะไร อันตรายแค่ไหน