เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคุณแม่หลาย ๆ คน ที่อีกไม่นานก็จะคลอดเจ้าตัวเล็กแล้ว หากใครกำลังอุ้มลูกแฝดอยู่ ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือเพิ่มเป็นสองเท่า เพราะต้องเลี้ยงลูกพร้อมกันถึงสองคน ว่าแต่ว่า เราจะรู้ได้ยังไงนะ ว่าเรากำลังอุ้มท้องเด็กแฝดอยู่ อาการตั้งครรภ์แฝด สังเกตได้อย่างไร เดี๋ยวเราจะมาเล่าให้ฟัง
โอกาสในการท้องเด็กแฝด มีมากแค่ไหน ทำไมบางคนถึงมีลูกแฝดได้
การที่คน ๆ หนึ่งท้องลูกแฝด ว่ากันว่าสาเหตุหลัก ๆ มาจากพันธุกรรม หากบรรพบุรุษ หรือญาติ ๆ ของเราเคยมีลูกแฝด หรือเป็นแฝดกันมาก่อน โอกาสที่เราจะมีลูกแฝดก็มีมากขึ้น นอกจากนี้ อายุของคุณแม่ ก็มีส่วนทำให้ท้องเด็กแฝดได้ด้วย หากคุณแม่มีอายุมาก และท้องมาแล้วหลายครั้ง ก็อาจจะท้องเด็กแฝดได้ในครั้งต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ หากทานยาคุมติดต่อกันนาน 3 ปี หรือตั้งท้องโดยการผสมเทียมหรือทำเด็กหลอดแก้ว ก็อาจทำให้มีลูกแฝดได้ด้วยเช่นกัน
ฝาแฝด แบ่งออกเป็นกี่ประเภท
โดยทั่วไปแล้ว เด็กแฝดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ แฝดแท้ ที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน และอสุจิตัวเดียวกัน ดังนั้น เด็กที่เกิดมาจึงหน้าตาใกล้เคียงกันมาก รวมถึงยังอาจมีบุคลิกลักษณะนิสัย และรูปร่างคล้ายกันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เด็กทั้งสองอาจเกิดมาพร้อมกับปัญหาแทรกซ้อนบางอย่าง แพทย์จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในขณะที่แม่กำลังอุ้มท้องเด็กอยู่
วิดีโอจาก : RAMA Channel
ส่วนเด็กแฝดอีกกลุ่มหนึ่ง จะเรียกว่า แฝดเทียม แฝดคู่นี้จะเกิดจากไข่คนละฟองและอสุจิคนละตัวกัน ซึ่งเด็กที่เกิดมาอาจมีหน้าตาไม่ค่อยคล้ายกันเท่าไหร่นัก รวมทั้งอาจมีเพศที่แตกต่างกันได้ด้วย และเนื่องจากว่าเด็กเกิดจากไข่คนละฟอง เด็กจึงไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อนหลังจากการเกิดเท่าไหร่
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงลูกแฝด ยังไงดี ความซนคูณสอง ต้องมีวิธีรับมืออย่างไร
อาการตั้งครรภ์แฝด เป็นแบบไหน?
ในระหว่างนี้ หากยังไม่สามารถดูเพศลูก หรืออัลตราซาวนด์ได้ ก็สามารถทายว่าลูกเป็นเด็กแฝดหรือไม่ จากอาการต่อไปนี้ได้
1. อาการแพ้ท้อง
หากคุณแม่แพ้ท้องอย่างหนัก ทั้งคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะได้ลูกแฝด ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า คนที่อุ้มลูกแฝด มักจะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าคนที่ท้องลูกคนเดียวถึง 15%
2. ท้องใหญ่
หากสังเกตเห็นว่าตัวเองยังอายุครรภ์ไม่เยอะ แต่ท้องใหญ่มากผิดปกติ ก็เป็นไปได้ว่าคุณแม่ได้ลูกแฝด เพราะเมื่อมีเด็กในท้องหลายคน มดลูกจะขยายออกมากผิดปกติ อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ท้องใหญ่กว่าปกติได้เช่นเดียวกัน
3. ลูกดิ้นเร็ว
คุณแม่ที่ท้องแฝด อาจรู้สึกว่าลูกดิ้นไว เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ หรือคนท้องคนอื่น ๆ แต่ว่าแพทย์หลาย ๆ คน ก็ยังไม่ปักใจเชื่อเท่าไหร่นัก เพราะว่าคุณแม่ที่ท้องเป็นครั้งที่สอง มักจะรู้สึกว่าลูกดิ้นไวกว่าปกติอยู่แล้ว
4. เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
คุณแม่ท้องแฝดหลาย ๆ คน มักจะบอกว่ารู้สึกเหนื่อยเป็นพิเศษในช่วงไตรมาสแรก โดยจะรู้สึกง่วง และร่างกายอ่อนล้ามาก ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจมาจากการที่ร่างกายของคุณแม่นั้นทำงานหนักมากขึ้น เพื่อดูแลเด็ก ๆ ทั้ง 2 คน แต่ทั้งนี้ ก็อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คุณแม่เหนื่อยได้ง่าย เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหนัก การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ เป็นต้น
5. หัวใจคุณแม่จะเต้นเร็วกว่าปกติ
คุณแม่ที่ท้องแฝด อาจจะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เมื่อเทียบกับคุณแม่ครรภ์เดี่ยวคนอื่น ๆ เพราะหัวใจคุณแม่จะงานหนัก เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั้งตัวคุณแม่และเด็ก ๆ
อย่างไรก็ตาม อาการทั้งหมดนี้ เป็นแค่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น ไม่สามารถนำมายืนยันได้แบบ 100% ว่าเรากำลังท้องลูกแฝดจริง ๆ หากอยากทราบว่าลูกเป็นเพศไหน หรือเป็นเด็กแฝดหรือไม่ สามารถไปตรวจกับคุณหมอ เพื่อให้ได้คำตอบที่แน่ชัดจะดีที่สุดค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยง ลูกแฝด ยังไง? ไม่ให้เขารู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง สิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้
วิธีตรวจหาครรภ์แฝด เพื่อให้รู้ว่ามีลูกแฝดหรือไม่
การตรวจหาลูกแฝดด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ปลอดภัยโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ มีอยู่หลายวิธี ดังต่อไปนี้
- การวัดระดับฮอร์โมน (HcG) การตรวจระดับฮอร์โมน HcG จะสามารถตรวจได้จากเลือดหรือปัสสาวะของคุณแม่ ซึ่งจะทำได้ 10 วันหลังจากการปฏิสนธิ สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แฝด จะมีระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกเพียงคนเดียว
- การฟังเสียงหัวใจของเด็กในท้อง หากคุณแม่ท้องเด็กแฝด คุณหมออาจได้ยินเสียงหัวใจของเด็ก 2 คนพร้อม ๆ แต่ทั้งนี้ เสียงที่ 2 ที่ได้ยินอาจเป็นเสียงอย่างอื่น เช่น เสียงหัวใจของคุณแม่ หรือเสียงแบ็คกราวด์โดยรอบ เป็นต้น
- การตรวจหา alpha fetoproteine หรือ AFP เป็น การตรวจหาสารดังกล่าวจากเลือดของคุณแม่ ซึ่งทำได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 หากคุณแม่มีลูกแฝด ค่า Maternal serum alpha-fetoprotein จะสูงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับระดับที่ตรวจพบในแม่ครรภ์เดี่ยว
- การอัลตราซาวนด์ วิธีนี้มีความแม่นยำมากที่สุด และนิยมมากที่สุด ซึ่งเมื่อคุณหมอฉายภาพอัลตราซาวนด์ขึ้นจอ คุณแม่ก็จะรู้ได้ในตอนนั้นทันที ว่าเด็กในท้องมีคนเดียวหรือมี 2 คน
เมื่อรู้ว่าท้องแฝด ควรดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อเข้ารับการตรวจจนทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์เด็กแฝด สิ่งต่อไปที่คุณแม่ต้องทำ คือ หมั่นรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นรับประทานธาตุเหล็ก โฟลิก และวิตามินให้หลากหลาย รวมทั้งงดการมีเพศสัมพันธ์ในไตรมาสสุดท้าย พักผ่อนให้เพียงพอ เครียดให้น้อยลง และปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังควรเฝ้าสังเกตตัวเองด้วย ว่ามีอาการที่บ่งบอกว่าจะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ และในช่วงนี้ คุณแม่อาจต้องพบเจอกับภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดจากการตั้งครรภ์เด็กแฝด สามารถอ่านต่อได้ที่นี่เลยค่ะ
อันตรายจากการตั้งครรภ์แฝด
หลายคนดีใจเมื่อรู้ว่าตัวเองได้ลูกแฝด เพราะไม่ต้องอุ้มท้องบ่อย ๆ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามอันตรายจากการตั้งครรภ์แฝด และโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วย มาดูกันว่า การตั้งครรภ์แฝดคุณแม่มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
- เลือดจาง การตั้งครรภ์แฝดจะให้แม่มีเลือดจากมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำเลือดเพิ่มขึ้น และความต้องการธาตุเหล็กมีมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว
- ครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 20 ซึ่งมากกว่าผู้ที่ตั้งครรภ์ปกติถึง 3 เท่า
- รกเกาะต่ำ เนื่องจากรกมีขนาดใหญ่ หรือมีรก 2 อัน แผ่ขยายลงมาใกล้หรือปิดบริเวณปากมดลูก ทำให้ตกเลือดก่อนคลอด
- อึดอัด หายใจไม่ออก อาเจียนบ่อย เพราะมดลูกขนาดใหญ่ ไปกดอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้องและทรวงอก
- สายสะดือโผล่มากกว่าปกติ เมื่อเจ็บท้องและถุงน้ำคร่ำแตก เพราะสายสะดือถูกกด ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่พอ ลูกอาจเสียชีวิตได้
- อาจต้องใช้เครื่องมือช่วยในการคลอดมากกว่าปกติ เช่น ต้องดมยาสลบ หรือต้องได้รับการผ่าตัดมากกว่ารายปกติ เพราะท่าของทารกผิดปกติ หรือมีรกขวางทางคลอด
- ตกเลือดหลังคลอดมาก เพราะมดลูกใหญ่ การหดรัดตัวไม่ดี
- มักคลอดก่อนกำหนดและลูกมีน้ำหนักน้อย คุณแม่ที่ตั้งท้องแฝดมักจะคลอดก่อนกำหนดราว 3-4 สัปดาห์ ลูกก็จะตัวเล็ก ปอดยังไม่แข็งแรง รวมถึงมีปัญหาในการเลี้ยงดูแม้จะตั้งครรภ์ครบกำหนด โดยน้ำหนักเฉลี่ยของเด็กแฝดสองจะน้อยกว่าน้ำหนักเฉลี่ยของเด็กคนเดียวประมาณ 1,000 กรัม หากเป็นแฝดสาม แฝดสี่ น้ำหนักเฉลี่ยก็ยิ่งน้อยลง และอาจคลอดเร็วขึ้นด้วย
- อัตราการเสียชีวิตของทารกสูงเป็น 2-3 เท่าของทารกครรภ์เดี่ยว แฝดน้องมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าแฝดพี่ถึงร้อยละ 30 เพราะท่าของทารกมักจะผิดปกติ อาจขวางตัวหรือเอาก้นลง สายสะดือโผล่ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด
เป็นยังไงกันบ้างคะ ได้รับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ลูกแฝด รวมถึงวิธีการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ กันไปแล้ว หากบ้านไหนที่คุณแม่ตั้งท้องลูกแฝด ก็อย่าลืมดูแลตนเองเป็นพิเศษด้วยล่ะ คอยเช็กสุขภาพตนเอง และลูกน้อยในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ น้อง ๆ ในครรภ์จะได้คลอดออกมา มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
อาการ ครรภ์เป็นพิษ เป็นอย่างไร สาเหตุของครรภ์เป็นพิษคือ?
10 ข้อดีของการมีลูกแฝด ลูกแฝดเจ๋งยังไง มาดูเหตุผลกันเถอะ
เลี้ยงลูกแฝด ยังไงดี ความซนคูณสอง ต้องมีวิธีรับมืออย่างไร
ที่มา : verywell , trueplookpanya , rakluke
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!