ปัญหาที่ไม่คาดคิด การได้รับโปรตีนมากเกิน ส่งผลต่อโรคอ้วน
ศ.ดร.แบร์โธลด์ โคแลทซ์โก จากโรงพยาบาลเด็ก มหาวิทยาลัยลุดวิค-แมคซิมิลเลียนส์ ศูนย์การแพทย์มิวนิก ประเทศเยอรมนี ได้กล่าวว่า “เด็กที่กินนมแม่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าเด็กที่กินนมผงถึงร้อยละ 15-25″ แต่หากทารกได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการได้รับโปรตีนในปริมาณที่สูงเกินความต้องการของทารกจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญ ทำให้ร่างกายมีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น และเกิดผลกระทบที่รุนแรงในระยะยาวต่อร่างกาย นำไปสู่โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต ในขณะที่เด็กซึ่งกินนมแม่ หรือกินนมผงที่มีการปรับลดโปรตีนลง แต่มีคุณภาพโปรตีนสูงใกล้เคียงนมแม่ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน เมื่ออายุ 6 ปี”
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการพบว่าการเกิดโรคอ้วนในเด็กทั่วโลกมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากภาวะความเสี่ยงของโรคอ้วนแล้ว ที่ตามมาคือโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ตามลำดับ ในการศึกษาจากโครงการโรคอ้วนในวัยเด็กชาวยุโรป เพื่อศึกษาถึงความเกี่ยวข้องระหว่างน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของทารก พบว่าในเด็กกลุ่มที่ได้รับโปรตีนในปริมาณสูงจะมีน้ำหนักตัว (น้ำหนักตัวต่อความยาวของตัว) และดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) สูงกว่าเด็กกลุ่มที่ได้รับนมที่มีการปรับลดปริมาณโปรตีนลงแต่มีคุณภาพโปรตีนสูงใกล้เคียงกับนมแม่ และเด็กกลุ่มที่ได้รับนมแม่อย่างเห็นได้ชัด” ซึ่งเด็กสองกลุ่มหลัง จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
โรคอ้วนในทารกวันนี้ ส่งผลกระทบต่อการเป็นผู้ใหญ่อ้วนในวันข้างหน้า
มีการศึกษาพบว่า ร้อยละ 10-20 ของทารกที่มีภาวะโรคอ้วนจะมีโอกาสโตขึ้นเป็นเด็กอ้วน ร้อยละ 40 ของเด็กอ้วนจะมีโอกาสโตขึ้นเป็นวัยรุ่นอ้วน และร้อยละ 80 ของวัยรุ่นอ้วนจะมีโอกาสอ้วนต่อเนื่องไปจนเป็นผู้ใหญ่ และหากผู้ใหญ่อ้วนเป็นเพศหญิงก็อาจให้กำเนิดลูกที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้
โรคอ้วน ปัญหาที่มองข้ามไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้
รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า “การป้องกันโรคอ้วนสามารถทำได้ตั้งแต่วัยทารก โดยการให้ลูกน้อยดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้ต่อเนื่องไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่หากแม่มีความจำเป็นที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จริงๆ การเลือกใช้นมที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ในปริมาณที่เหมาะสมใกล้เคียงกับนมแม่ ก็จะช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญของร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน และโรคร้ายแรงเรื้อรังอื่นๆได้ และคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้นมวัวที่ไม่ผ่านการดัดแปลงแก่ลูกน้อยในช่วงขวบปีแรก เพราะในนมวัวมีโปรตีนสูงกว่านมแม่ถึง 3 เท่า การให้ทารกดื่มนมวัวจะทำให้ทารกนั้นได้รับปริมาณโปรตีนมากเกินไป ไตทำงานหนัก มีโอกาสเป็นโรคอ้วนและแพ้โปรตีนนมวัวมากขึ้น”
เพื่อป้องกันโรคอ้วนที่จะเกิดขึ้นต่อลูกน้อยในอนาคต คุณแม่ควรเริ่มจากการดูแลโภชนาการ ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ลูกนั้นได้รับสารอาหารที่ดีผ่านนมแม่ เท่านี้ลูกน้อยของคุณแม่ก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และห่างไกลจากโรคอ้วนอีกด้วย
ขอบคุณที่มา : www.thairath.co.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!