การคลอดก่อนกำหนดคือการคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จนถึงก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือคลอดก่อน 259 วัน นับจากวันแรกของประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้าย แม่ท้องควรรู้ไว้ การคลอดก่อนกำหนด นั้นเกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อจะได้ดูแลตัวเอง และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเสี่ยงแบบนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อลูกน้อยในท้องอยู่พอสมควร อยากรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลยค่ะ
เมื่อไรถึงเรียก คลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) คือ ภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์จะได้ 37 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าทารกจะมีอวัยวะต่าง ๆ ครบสมบูรณ์ แต่การทำงานของอวัยวะแทบทุกส่วนยังไม่ดีเท่าทารกครบกำหนด ทำให้เมื่อคลอดออกมาแล้วจะต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลก่อน เพื่อให้ส่วนต่าง ๆ ของทารกทำงานได้ดีขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการคลอดก่อนกำหนด แต่ก็พบว่ามีหลายปัจจัยอยู่เหมือนกันที่มีความสัมพันธ์กับการชักนำให้กล้ามเนื้อมดลูกของคุณแม่มีการหดรัดตัวเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องคลอดทารกก่อนกำหนด ดังนี้
- การคลอดก่อนกำหนดสามารถเกิดได้จาก การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มาก ๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุครรภ์อ่อน ๆ สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่จากคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นประจำ
- การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การทานยาบางชนิดในขณะที่ยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ อาจมีผลต่อทารกในครรภ์
- น้ำหนักตัวของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์น้อยเกินไป
- การได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะธาตุสังกะสี ซึ่งรายงานระบุว่า สาเหตุของแม่ตั้งครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนดเนื่องจากการได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอ
- ทำงานหนักมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์หรือทำอาชีพที่ต้องยืนตลอดเวลา
- การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์
- การเสียสมดุลฮอร์โมน
- การติดเชื้อในช่วงตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด ทางเดินปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน หรือการติดเชื้อในช่องคลอดและน้ำคร่ำ เป็นต้น
- ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท
- การหดรัดตัวของมดลูกที่ไว้ต่อการกระตุ้นและรุนแรงจนทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- ภาวะรกเกาะต่ำ ใกล้ปากมดลูก
คลอดก่อนกำหนด เกิดจากอะไร
- การคลอดก่อนกำหนด อาจเกิดจาก อาการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือการมีโรคประจำตัวของแม่ที่ตั้งครรภ์ เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจ ปอด ตับ หรือเบาหวาน แต่ปัจจุบันนี้การรักษาของแพทย์สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น ทำให้โอกาสเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดลดลง
- ความเครียดในขณะตั้งครรภ์
- แม่ท้องที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี เนื่องจากว่าร่างกายยังไม่พร้อมเต็มที่ต่อการตั้งท้อง ทำให้โอกาสคลอดก่อนกำหนดมีสูง
- แม่ท้องที่มีอายุเกิน 35 ปี
- แม่ตั้งครรภ์ที่มีฐานะทางการเงินค่อนข้างต่ำ ทำให้ได้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไม่เพียงพอ และอาจเกิดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ขึ้นได้อีก
- ภาวะที่มีความผิดปกติของมดลูก
- การตั้งครรภ์แฝด
- มีภาวะทารกในครรภ์พิการ
- แม่ท้องที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 สัญญาณคลอดก่อนกำหนด แม่ท้องเช็กด่วน! ถ้าไม่อยากต้องเสียลูก
โดยอาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่ที่พบคือ มีอาการเจ็บครรภ์เองโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเลือดออกคล้ายประจำเดือน ปวดถ่วงท้องน้อย ปวดร้าวที่ขาหนีบและหน้าขา ปวดหลัง มดลูกมีการหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกอย่างชัดเจน คือ ปากมดลูกเปิดเพิ่มขึ้นหรือมีความบางมากกว่า 80 % หรือปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตรขึ้นไป มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีสีน้ำตาลปนเลือด อาจมีมูกข้นเป็นก้อนหลุดออกมา แสดงอาการเปิดของมดลูก ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตก ซึ่งถ้าพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ แม้เพียงอาการใดอาการหนึ่ง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนนะคะ
สัญญาณเตือนของ การคลอดก่อนกำหนด
- อาการบวม และความดันโลหิตสูง
- มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
- มีอาการน้ำเดิน ก่อนครบกำหนดคลอด
- มีความรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ
- มีอาการท้องแข็งบ่อย
ผลกระทบจาก การคลอดก่อนกำหนด
ทารกที่คลอดก่อนกำหนด จะมีความเสี่ยงต่ออวัยวะที่พัฒนาไม่สมบูรณ์ และเกิดอาการต่าง ๆ แทรกซ้อนได้ เช่น อาการหายใจลำบาก เกิดภาวะอุณหภูมิต่ำหรือตัวเย็น เกิดภาวะตัวเหลือง และซีด มีการสำลักนม ท้องอืดง่าย ติดเชื้อโรคได้ง่าย ฯลฯ และอาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ในระยะยาวอาจพบปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจวายพิการแต่กำเนิด มีความผิดปกติของสมอง ชัก หูหนวก ตาบอด และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ไอคิวต่ำ เป็นต้น
การดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด
อย่างที่ได้เกริ่นไปเมื่อข้างต้นว่า ทารกคลอดก่อนกำหนดนั้นค่อนข้างน่าห่วงมากกว่าเด็กที่เกิดปกติ เพราะร่างกายยังทำงานได้ไม่เต็มที่ บางรายก็อาจจะได้ดูแลรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลก่อน โดยหลัก ๆ แล้วทางกุมารแพทย์จะให้คำแนะนำ ดังนี้
- ให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ในการดูแลทารกอย่างใกล้ชิด
- เฝ้าดูการหายใจของทารกอยู่เสมอ เพราะปอดของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ บางรายก็ต้องใช้เครื่องหายใจช่วย
- ดูแลและควบคุมอุณหภูมิในร่างกายของทารกให้มีความอบอุ่นอยู่เสมอ
- ตรวจเลือดเท่าที่จำเป็น เพื่อเช็กความปกติของร่างกาย
- ดูแลเรื่องการดื่มนมของทารก โดยให้ปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน
- รักษาทารกจนมีน้ำหนักมากกว่า 2,000 กรัม จึงสามารถกลับบ้านได้
- ให้คำแนะนำ เตรียมความพร้อมให้กับคุณแม่ก่อนกลับบ้าน
ทั้งนี้หากแม่ตั้งครรภ์ที่รู้ตัวว่ามีปัญหาสุขภาพ หรืออยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ควรงดหรือเลิกทำกิจกรรมที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดได้ รวมถึงการดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ไม่เครียด และมาตรวจตามที่หมอนัดทุกเดือนนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ต้องรู้! การดิ้นของทารกในครรภ์ 8 เดือน มีผลทำให้ท้องแข็งและคลอดก่อนกำหนดได้
เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด อันตรายต่อโอกาสรอดของลูก
5 สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนดที่ต้องระวัง เช็คด่วนหากเข้าข่ายให้รีบพบแพทย์!!
ที่มา : Chularat3, Bangkokhospital