คนท้องอ้วน VS คนท้องบวมต่างกันอย่างไร

เรื่องอ้วนและเรื่องบวม สำหรับคนท้อง บางครั้งดูเหมือนเส้นบาง ๆ ในความแตกต่างนะคะ มาดูกัว่าความอ้วนและความบวมของคนท้องนั้ต่างกันอย่างไร

คนท้องอ้วน คนท้องบวม ต่างกันอย่างไร

คนท้องอ้วน

ก่อนอื่นเลยนะคะในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรทราบก่อนว่าน้ำหนักที่ดีและปลอดภัยสำหรับแม่และลูกน้อย ควรจะเพิ่มในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้หมายความว่า ทารกในครรภ์จะแข็งแรงมากขึ้น แต่กลับทำให้คลอดยากเสียอีก อีกทั้งเสี่ยงต่อความดันสูงและเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อีกด้วย

เกณฑ์ค่าเฉลี่ยน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับแม่ตั้งครรภ์

น้ำหนักคุณแม่ที่ควรเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน

น้ำหนักเพิ่มขึ้นที่เหมาะสม จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่และลูกในครรภ์น้อยที่สุด คือ ช่วงน้ำหนักระหว่าง 12 – 15 กิโลกรัมซึ่งสัดส่วนของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุครรภ์จะแตกต่างกันดังนี้

* ไตรมาสที่ 1 (1-3 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม

* ไตรมาสที่ 2 (4-6 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 กิโลกรัม

* ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัม

* หากตั้งครรภ์ทารกแฝด น้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้นจากเดิมประมาณ 16 – 20 กิโลกรัม

น้ำหนักมาจากไหนและเพิ่มขึ้นมาจากส่วนใดบ้าง

สัดส่วนของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 12 – 15 กิโลกรัม จะกระจายตามส่วนต่าง ๆ ดังนี้

ทารกประมาณ 3,000 กรัม

– รกประมาณ 500 กรัม

– น้ำคร่ำประมาณ 800 กรัม

– มดลูกประมาณ 900 กรัม

– เต้านมประมาณ 400 กรัม

– เลือดและน้ำในร่างกายคุณแม่ประมาณ 1,200 กรัม

– ไขมันและโปรตีนประมาณ 5,000 กรัม

หากคุณแม่รู้สึกว่า ตนเองจะ Enjoy eating จนน้ำหนักพุ่งพรวด อันนี้จะมาโทษเจ้าหนูในครรภ์ว่ากินเก่งไม่ได้นะคะ หากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากจากค่าเฉลี่ย ทารกที่คลอดออกมาจะตัวใหญ่ ทำให้คลอดยาก และเสี่ยงต้องผ่าคลอด รวมถึงเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนมากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ปวดหลังมากขึ้น แผลติดเชื้อง่ายและสมานตัวได้ช้า

ดังนั้น คุณแม่ควรหมั่นตรวจสอบน้ำหนักของตนเองอยู่เสมอนะคะ ไม่ให้น้ำหนักขึ้นพรวดพราดสูงเกินเกณฑ์ไปมากนัก หากสังเกตเห้นว่าน้ำหนกัเพิ่มมากขึ้นไปแล้ว ต้องปรึกษาคุณหมอนะคะ เพื่อจะได้ให้คำแนะนำในการควบคุมอาหารและป้องกันอาการแทรกซ้อน

บทความแนะนำ คุมน้ำหนักตอนท้องอย่างไร ให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์พอดี

ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับการเพิ่มน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสมของแม่ท้อง

1. คุณแม่ควรชั่งน้ำหนักเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และอย่าลืมจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวด้วยนะคะ

2. น้ำหนักตัวที่เหมาะสม คือน้ำหนักตัวที่สามารถเพิ่มขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์คือไม่เกิน 0.3 กิโลกรัมและหากเพิ่มขึ้นมากเกิน 0.5 กิโลกรัม ก็จะต้องเริ่มระวังแล้วค่ะ ส่วนคุณแม่ที่คิดว่าการตรวจเช็คแบบนี้นั้นยากเกินไปก็อาจจะควบคุมน้ำหนัก โดยการตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิน 1 กิโลกรัมภายใน 1 เดือน แทนก็ได้

3. กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และลดการกินของจุกจิก พยายามกินอาหารให้ตรงตามเวลา และบริโภคสารอาหารให้ครบถ้วนจ

4. คำนึงถึงความสมดุลของอาหารมากกว่าเรื่องปริมาณ โดยการลดปริมาณน้ำตาลและไขมันที่จะเป็นตัวทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และควรจะลดปริมาณเกลือ เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ และทำให้กินข้าวได้มากเกินไป ส่วนการรักษาสมดุลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับร่างกายของคุณแม่และลูกน้อย โดยคุณแม่ควรจะบริโภคอาหารที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียมและ บริโภคผักให้มาก ๆ

5. ใส่ใจในการออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น การเดิน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่จะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ต่อมาเมื่อคุณแม่เข้าสู่ช่วงปลอดภัยแข็งแรงดีแล้วขอแนะนำให้ไปเดินเล่น การเดินออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาทีจะดีต่อสุขภาพทั้งแม่และลูกนะคะ

อ่าน คนท้องอ้วน คนท้องบวม ต่างกันอย่างไร : คนท้องบวม คลิกหน้าถัดไป

คนท้องอ้วน คนท้องบวม ต่างกันอย่างไร

คนท้องบวม

อาการบวมตามร่างกายถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น น้ำหนักครรภ์ก็จะมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ผนังหลอดเลือดต่าง ๆ เริ่มขยายตัวตาม ประกอบกับร่างกายอุ้มน้ำไว้มากกว่าปกติ ทำให้อวัยวะอื่น ๆ เริ่มขยาย หรือบวม มากขึ้น

อาการบวมแบบปกติทั่วไปของคนท้อง

1. อาการบวมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงตอนกลางวันและบวมเพิ่มมากขึ้นในช่วงเย็น

2. มักเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างวันของคุณแม่ เช่น ยืน เดิน หรือนั่งเป็นเวลานาน

3. เกิดสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว

4. อาการบวมระหว่างตั้งครรภ์โดยทั่วไปอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัด แต่หากปราศจากอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลและไม่เป็นอันตรายต่อคุณและลูกน้อย

แม้อาการบวมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ แต่อาการบวมเหล่านี้สามารถบรรเทาได้นะคะ มาดูกันค่ะว่าทำอย่างไร

ลดอาการการบวมง่าย ๆ ขณะตั้งครรภ์

1. พยายามอย่ายืน หรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ จะยิ่งทำให้เท้าบวมมากขึ้น

 

2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อ้วนจนเกินไป เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นจะทำให้เกิดอาการเท้าบวมและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้

บทความแนะนำ คุมน้ำหนักตอนท้องอย่างไร ให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์พอดี

3. ออกกำลังเท้าและข้อเท้าให้แข็งแรงด้วยการกระดกปลายเท้าขึ้น-ลง และหมุนข้อเท้าช้า ๆ เป็นประจำ จะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นและช่วยลดอาการบวมได้ หรือออกกำลังกายด้วยการเดิน หรือการฝึกโยคะก็ได้นะคะ

4. เวลานอน ให้เอาหมอนรองขาให้เท้ายกสูงเข้าไว้ หรือนอนตะแคงซ้ายเพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งน้ำหนักไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ที่ชื่อว่าเวนาคาวา ( vena cava) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของร่างกาย หรือใช้ผ้านวม ผ้าห่ม หรือหมอนใบใหญ่วางซ้อนกันที่ปลายเตียงเพื่อหนุนให้เท้าสูงขึ้น เวลานอนพลิกตัวปลายเท้าก็ยังคงอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ

5. การนวดแบบผ่อนคลาย การแช่เท้าในน้ำอุ่น ๆ ทำให้เลือดไหลเวียนดี ลดอาการเท้าบวมได้

6. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เชื่อกันว่าสามารถลดอาการบวมของคนท้องได้ เช่น กระเทียม หัวหอมสด และ แอปเปิ้ล ดีต่อคนท้องอย่างมาก

7. ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ของหมักดอง รวมถึงอาการประเภทฟาสต์ฟูดส์ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้

8. ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละหกถึงแปดแก้ว หรือทานผักผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก หากคุณดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ร่างกายของคุณแม่อาจพยายามกักเก็บน้ำไว้ในร่างกายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณแม่ยิ่งมีอาการบวมมากขึ้นค่ะ

9. ไม่นั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกส่งผลให้เท้าบวมได้ค่ะ หากต้องนั่งทำงานติดต่อกันนาน ๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการเหยียดขาตรง ๆ บ้าง หมุนข้อเท้า หรือลุกเดินบ้างนะคะ

10. เสื้อผ้า-รองเท้าต้องไม่คับหากคุณแม่สวมเสื้อผ้า กางเกง ถุงเท้า รองเท้า รวมไปถึงชุดชั้นใน ที่รัดแน่นเกินไปจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ในกรณีที่เท้าบวม คุณแม่ต้องเปลี่ยนรองเท้าตามขนาดของเท้าที่เปลี่ยนไปด้วยนะคะ โดยเลือกขนาดที่พอดีไม่คับเกินไป ส้นเตี้ย และยึดเกาะพื้นได้ดี

บทความแนะนำ เทคนิคเลือกชุดชั้นในสำหรับคนท้อง

บวมแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ

อาการบวมตามตัวของคนท้องบวมที่เท้าอย่างรวดเร็วเกินไป อาจะเป็นสัญญาณอันตรายถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ สังเกตได้ดังนี้

1. เกิดอาการบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น หน้าบวม ตัวบวม หรือข้อนิ้วบวมจนถอดแหวนออกไม่ได้อย่างรวดเร็ว

2. น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

3. มีอาการปัสสาวะน้อยลง

4. ปวดศีรษะมาก หรือมีอาการตาพร่ามัว หรือ มองเห็นแสงเป็นจุดๆ

5. รู้สึกจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่

บทความแนะนำ ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร เมื่อครรภ์เป็นพิษ เกือบคร่าชีวิตคุณแม่

หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดเพราะอาจจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งการตรวจสอบจะตรวจความดันโลหิตและตรวจหาไข่ขาวในปัสสาวะต่อไป

ได้ทราบกันแล้วนะคะถึงอาการบวมแบบปกติทั่วไปของคนท้อง และวิธีการบรรเทาอาการบวมที่เกิดขึ้น สำหรับอาการบวมที่ผิดปกติที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หรือที่รู้จักกันว่าครรภ์เป็นพิษที่มีการบวมผิดปกติว่ามีอาากรเช่นไร ที่สำคัญควรรีบปรึกษาคุณหมอทันทีเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์

ร่วมแชร์ประสบการณ์บอกเล่าเรื่องราวในช่วงตั้งครรภ์ หรือภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงตั้งครรภ์ มาบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเป็นประโยชน์ครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.healthandtrend.com

https://www.kumsamunpai.com

https://women.mthai.com

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การปฏิบัติตัวของคนท้อง : ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างไรให้ถูกต้อง

วิธีแก้ข้อเท้าและเท้าบวมหลังคลอด