คนท้องกินนมวัวมากไป ยิ่งบำรุงยิ่งแย่
คนท้องกินนมวัวมากไป อยากบำรุงลูกในท้อง โหมกินนมมาก ๆ ลูกเสี่ยงแพ้นะรู้ไหม ถ้าไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาเป็นภูมิแพ้ แม่ท้องต้องรู้ อะไรกินมากไปลูกเสี่ยงแพ้แบบนี้ มาดูปริมาณที่พอดี ที่คุณหมอแนะนำกันค่ะ
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารอย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงภูมิแพ้ของลูกได้?
ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เด็กมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการแพ้อาหารและโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ คุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่าน โดยเฉพาะบ้านที่มีความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ทางพันธุกรรมคือ คุณพ่อ, คุณแม่ และ/หรือ มีลูกคนที่ผ่านมาเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ย่อมมีความกังวลใจว่า ลูกน้อยคนถัดมาจะเป็นโรคภูมิแพ้ไปด้วย วันนี้หมอมีหลักในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ของลูกมาฝากกัน โดยมีหลักการง่ายๆ 5 ข้อ ดังนี้ นะคะ
1. คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างสมดุลย์
โดยทานอาหารให้หลากหลาย ทั้งนี้คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 25 กรัมและพลังงานเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 300 กิโลแคลอรี มากกว่าปกติก่อนการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ครบไตรมาสที่ 2 ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ทานข้าวเพิ่มขึ้นวันละ 1 ทัพพี ทานเนื้อสัตว์ไขมันต่ำเพิ่มขึ้นวันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ เป็นต้นค่ะ
2. คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องงดอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีรายงานว่าแพ้บ่อย เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี และอาหารทะเล
โดยที่คุณแม่ไม่ได้แพ้อาหารเหล่านี้ เพราะการงดอาหารโดยไม่มีข้อบ่งชี้ นอกจากอาจทำให้เกิดการขาดสารอาหารทั้งคุณแม่ และลูกในครรภ์ ซึ่งอาจมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกแล้ว ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการที่ลูกจะแพ้อาหารได้นะคะ
3. คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรทานอาหารกลุ่มเสี่ยงต่อการแพ้ ในปริมาณที่มากเกินกว่าปกติ
เช่น ปกติก่อนตั้งครรภ์ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว ทานไข่วันละไม่เกิน 1 ฟอง พอตั้งครรภ์ก็มีความเข้าใจผิดว่า ต้องบำรุงเป็นพิเศษ จึงดื่มนมวันละ 1-2 ลิตร ทานไข่วันละ 2-3 ฟอง การกระทำเช่นนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้คุณแม่น้ำหนักขึ้นเยอะเกินไป แล้วยังจะเพิ่มความเสี่ยงของการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ ให้แก่ลูก ด้วยค่ะ
4. คุณแม่ตั้งครรภ์บางท่านกลัวว่าลูกจะแพ้นมวัว จึงดื่มนมถั่วเหลืองแทนในปริมาณที่มากกว่าปกติ
เพื่อทดแทนการดื่มนมวัว อันนี้ก็ไม่สมควรทำเช่นกันค่ะ เพราะลูกอาจมีโอกาสแพ้ถั่วเหลืองได้ หลักการที่ถูกต้องคือ ไม่ควรทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำ ๆ มากจนเกินไปนะคะ
5. มีการศึกษาพบว่าหากคุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมลูกรับประทานจุลินทรีย์สุขภาพ
เช่น บิฟิโดแบคทีเรียม, แลคโตบาซิลลัส จะช่วยลดโอกาสในการเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบในลูกได้ ทั้งนี้ผลในการป้องกันภูมิแพ้ อาจแตกต่างกัน ขึ้นกับ ชนิดของจุลินทรีย์ ปริมาณ และระยะเวลาที่ทานค่ะ
จะเห็นได้ว่า หลักการทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมานี้ สามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก ใช่ไหมเอ่ย หวังว่าคุณแม่คงจะมีความเข้าใจมากขึ้น และนำไปปรับใช้ ในการเลือกรับประทานอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคภูมิแพ้ของลูกให้เหลือน้อยที่สุด จนกระทั่งห่างไกลจากภูมิแพ้ กันทุก ๆ บ้าน นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
11 ข้อห้ามคนท้อง แม่ท้องต้องรู้ ดูแลลูกในท้องให้ปลอดภัย อย่าทำแบบนี้!
ทารกในครรภ์โตช้า อันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง
ลูกดิ้นมาก แข็งแรงจริงเหรอ ลูกดิ้นบ่อยมาก ผิดปกติไหม ทำไมแม่ต้องนับลูกดิ้น
ระวังเด็กเล็กติดเชื้อไรโนไวรัส ก่อน 2 ขวบ เสี่ยงเป็นหอบหืดหรือภูมิแพ้