ถ้าหากพูดถึงเรื่องขนแปรงเด็กหรือโรคขนคุด คุณแม่หลายท่านอาจจะทำหน้าสงสัยว่ามันคืออะไร ซึ่งวันนี้เราจะไปทำความรู้จักพร้อม ๆ กันผ่านประสบการณ์ตรงของคุณแม่ท่านนี้กันค่ะ
ภายหลังจากที่พาลูกกลับมาบ้าน ลูกก็เอาแต่ร้องไห้งอแง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่จับให้นอนหงาย ลูกของคุณแม่ก็เอาแต่คอยแอนหลัง เหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่างทิ่มอยู่ ซึ่งตอนแรกนั้นแม่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร จนกระทั่งคุณแม่เปิดเสื้อน้องถึงรู้ว่า หลังของน้องนั้นมีคล้าย ๆ กับขนขึ้นอยู่ด้านหลังเต็มไปหมด
คุณแม่เลยตัดสินใจไปพบคุณหมอ จึงได้ทราบความจริงว่า “น้องเป็นขนแปรงเด็ก หรือที่ศัพท์ทางการแพทย์เขาเรียกกันว่าโรคขนคุด” นั่นเอง โดยคุณแม่ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โรคดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นกับทารกแรกเกิดไปจนถึง 3 สามเดือน ไม่เป็นอันตรายและสามารถที่จะหายไปได้เอง
และในวันนี้คุณหมอรวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ก็จะมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคขนคุดที่ว่านี้กันค่ะ
โรคขนคุด คือโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบบ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นลักษณะตุ่มตามรูขุมขน ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ป่วยที่เป็นและผู้ปกครองได้เป็นอย่างมาก โรคนี้พบมากทั้งในเด็กทารก เด็กโตและวัยรุ่น
ขนคุดในเด็กเกิดจากอะไร?
ขนคุดในเด็กเป็นโรคที่เกิดขึ้นเองโดยมีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เช่น หากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคนี้ และนั่นก็ส่งผลให้ลูกมีโอกาสที่จะเป็นได้มากกว่าเด็กคนอื่น ๆ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติทำให้มีการสร้างสารเคอราตินมากกว่าปกติ ทำให้รูขุมขนมีการอุดตัน มีเซลล์ที่ตายอยู่รอบรูขุมขน ทำให้ขนไม่สามารถงอกทะลุรูขุมขนออกมาได้ จึงเกิดเป็น “ขนคุด”อยู่ใต้ผิวหนังนั่นเอง
อาการของโรคขนคุดในเด็กเป็นอย่างไร?
ลักษณะรอยโรคของขนคุดจะเห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง ตามรูขุมขน ผิวหนังสาก แห้ง ดูคล้ายหนังไก่ อาจมีบางบริเวณเห็นเป็นรอยแดงรอบรูขุมขน พบบ่อยที่ต้นแขนด้านนอกทั้งสองข้าง ต้นขา อาการจะเป็นมากขึ้นในฤดูหนาวที่มีอาการเย็นและแห้ง และจะมักพบในเด็ก ๆ ที่มีผิวแห้งมากกว่าผิวมัน อาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นเพียงโรคเดียวหรือพบร่วมกับโรคอื่น เช่น ในเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
การรักษาโรคขนคุดทำได้อย่างไร?
โรคขนคุด ไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ โดยคุณหมอจะใช้ยาทา เพื่อให้สารเคอราตินที่อุดตันรูขุมขนหลุดออก โดยทั่วไปอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1-3 เดือน หลังการรักษา แต่มักจะมีอาการกลับมา เมื่อหยุดการดูแลรักษาผิวโดยเฉพาะหากปล่อยให้ผิวแห้ง ไม่รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง
หลักในการดูแลผิว คุณหมอได้แนะนำว่า ควรใช้สบู่อ่อน สำหรับผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่าย เช่น สบู่เด็กอ่อน งดอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน งดการขัดผิว และหมั่นทาโลชันให้ความชุ่มชื้นหลังอาบน้ำเช้า-เย็น และทาได้บ่อยขึ้นอีกบริเวณผิวที่แห้ง ถ้ามีอาการมาก คุณหมออาจให้ใช้ยาอนุพันธุ์ของวิตามินเอ ชนิดทา ยาทาสเตียรอยด์ ใช้ในช่วงที่ตุ่มของโรคขนคุดมีอาการ แดง คัน อักเสบ มาด้วย และปัจจุบันมีการใช้เลเซอร์เป็นทางเลือกในการรักษาอีกทางหนึ่งสำหรับเด็กโตและวัยรุ่นด้วยค่ะ
ขอบคุณคุณแม่น้องส้มและคุณหมอรวีรัตน์มาก ๆ ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
แพทย์ชี้! โรคผิวหนังที่พบบ่อยในเด็กและผู้ใหญ่
สิวในทารกแรกเกิดใช่โรคผิวหนังหรือเปล่า?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!