รับมือ!!!หลากอารมณ์คนท้องต้องเข้าใจ

ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์แม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ไปหลากหลาย เรียกว่า 1 วัน คุณแม่อาจมีอารมณ์ขึ้นลงสลับไปมา มาดูกันว่าอารมณ์ที่มักเกิดขึ้นในยามตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ คนท้องอย่างไร พร้อมทั้งวิธีการรับมือคลายเครียด...แบบฉบับแม่ท้อง อยากรู้แล้วใช่ไหมคะ ติดตามอ่าน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อารมณ์คนท้อง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ในช่วงเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนภายในร่างกายของคุณแม่กำลังเปลี่ยนแปลง  ทำให้คุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เกิดขึ้นหลากหลาย  ทำให้คนรอบข้างมองว่า  คนท้องมักจะมีอารมณ์ที่ไม่แน่นอน  บางคนจากเดิมก่อนที่จะท้องจากคนเงียบ ๆ หรือคนอารมณ์ดีกลายเป็นคนขี้หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย  จนบางทีก็ทำให้คนรอบข้างลำบากใจทำอะไรไม่ถูกไปก็มีเหมือนกันมาดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงอารมณ์คนท้องเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุคนท้องอารมณ์เปลี่ยนแปลง

สาเหตุหลักเลยก็คือ  การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ในช่วงตั้งครรภ์ใน 1 วัน ร่างกายแม่ท้องจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้มากพอ ๆ กับปริมาณฮอร์โมนที่ร่างกายของคนปกติใช้เวลาผลิตถึง 3 ปี กันเลยทีเดียว  มิน่าล่ะ อารมณ์ถึงแกว่งไปแกว่งมา อะไรๆ ก็ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยตลอด จนแม่หลายคนกังวลว่าตัวเองผิดปกติหรือเปล่า  ซึ่งเรื่องนี้แน่นอนว่า  คนรอบข้างต้องพยายามทำความเข้าใจ และพยายามหาทางเอาน้ำเย็นเข้าลูบ ต้องให้กำลังใจและปลอบประโลม เพื่อความสุขในครอบครัวและเพื่อสุขภาพกายสุขภาพจิตของคุณแม่และลูกในท้องนะคะ

หลากหลายอารมณ์คนท้องต้องเข้าใจนะคะ

1. ภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์  สามารถพบได้ถึงร้อยละ 14 -23 ภาวะซึมเศร้านี้มาจากหลายปัจจัย ทั้งด้านพันธุกรรม  สภาพจิตใจของแม่ท้องเอง ฮอร์โมน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม  การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเมื่อตั้งครรภ์อาจกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า  นอกจากนี้  ความเครียด  ความกังวล หรือการไม่พร้อมตั้งครรภ์  หรือปัญหาครอบครัวในช่วงที่ตั้งครรภ์  การไม่ได้การดูแลเอาใจใส่จากสามีหรือคนรอบข้าง เป็นต้น ล้วนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์ได้ทั้งสิ้น

อาการ

– แม่ท้องที่มีภาวะซึมเสร้ามักจะมีสมาธิไม่ดี  ความจำลดลง อารมณ์เศร้าหมอง  ท้อแท้  เหนื่อยหน่าย หดหู่  หงุดหงิด อาการเหล่านี้จะส่งผลให้นอนไม่หลับ  หลับได้น้อยเพราะตื่นบ่อยหรือหรือตื่นเช้ามากกว่าปกติ

– ร่างกายอ่อนเพลีย  เหนื่อยง่าย แม้ว่าใช้แรงงานเพียงเล็กน้อย  ความอยากอาหารลดลง ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงตามไปด้วย  หรือตรงกันข้ามไปเลยค่ะ คือ  ทานมากว่าปกติ  เกิดอะไรขึ้น  แน่นอนว่า  น้ำหนักตัวพุ่งพรวด  ขึ้นมากผิดปกติไม่สัมพันธ์กับอายุครรภ์  แบบนี้ไม่ดีแน่

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

– ความต้องการทางเพศลดลง มีความกลัวสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับการตั้งครรภ์ คิดแต่เรื่องในแง่ร้ายหมดหวัง สิ้นหวัง และรู้สึกผิด เศร้าตลอดเวลา และอาจมีความคิดหรือการกระทำที่จะทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายได้ค่ะ

2. วิตกกังวล

อาการวิตกกังวลของคนท้อง แบ่งออกเป็นหลัก ๆ 3 ข้อ ดังนี้

1. วิตกกังวลเรื่องการทำงาน  ในช่วงตั้งครรภ์แม่ท้องที่ทำงานประจำอยู่อาจมีเรื่องเครียด  หรือมีภาวะกดดันจากการทำงาน  ส่งผลให้สุขภาพอ่อนล้า  ปวดศีรษะ  เบื่ออาหาร  เป็นต้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

2. วิตกกังวลเรื่องรูปร่าง ทรวดทรง  การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายทำให้อารมณ์ของคุณแม่แปรปรวน  การแพ้ท้อง รูปร่างที่เริ่มเปลี่ยนแปลงขยายใหญ่ขึ้น  ผิวพรรณเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณแม่บางคนเกิดความวิตกกังวลเกรงว่า  หากคลอดแล้วรูปร่างจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่  ช่วงท้องทำไมฉันดูน่าเกลียดแบบนี้ ซึ่งถ้าคุณแม่ทำความเข้าใจว่า น้ำหนักตัวที่เพิ่มในขณะตั้งครรภ์อยู่ในภาวะสมดุล น้ำหนักตัวจะกลับสู่ภาวะเดิมภายใน 2 เดือนหลังคลอด ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้น้ำหนักตัวกลับสู่ภาวะเดิมได้เร็วขึ้นอีกด้วย จะทำให้คุณแม่คลายกังวลลงไปได้บ้าง

3. วิตกกังวลเรื่องลูกในท้อง  ความรักความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูกในท้องนั้น ส่งผลให้คุณแม่เกิดความวิตกกังวลได้  เช่น  กังวลว่าลูกจะไม่สมบูรณ์ ลูกจะไม่โตตามอายุครรภ์ เป็นต้น แม้ว่าสามีหรือคนรอบข้างจให้คำแนะนำหรือเตือนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนระหว่างตั้งครรภ์ บางทียิ่งทำให้คุณแม่วิตกกังวลมากขึ้น

3. เครียด

ความเครียดขณะตั้งครรภ์ เกิดจากความกังวลหรือหวาดหวั่นต่อเรื่องราวในอนาคต เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการเลี้ยงดู  การเงิน หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกรงว่าจะต้องพบเจอ  จนก่อให้เกิดอารมณ์ผันผวน หงุดหงิด  ก้าวร้าว โโยเฉพาะกับสามีหรือคนสนิท และที่สำคัญไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้  ผลของความเครียดจากแม่ทำให้คุณแม่มีอาการหัวใจเต้นเร็ว  เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด หลอดเลือดตีบ  ความดันโลหิตสูง และที่สำคัญทารกในครรภ์สามารถรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ของคุณแม่ได้จากสารเคมีที่ร่างกายของคุณแม่หลั่งออกมาในกระแสเลือด

บทความแนะนำ  แท้งได้ หากแม่ท้องเครียดจัด

แม่รู้ไหมความเครียดทำร้ายลูกในท้องได้นะ!!!

เมื่อคุณแม่รู้สึกโกรธ  เครียด  หงุดหงิด  กระทั่งอารมณ์หวาดผวา ร่างกายของคุณแม่จะหลังสารแห่งความเครียด  ที่เรียกว่า  สารอะดรีนาลิน  ส่งผ่านความรู้สึกไปยังลูก  แน่นอว่าเจ้าตัวน้อยย่อมรับรู้ความรู้สึกนี้  ส่งผลให้ลูกคลอดออกมามีน้ำหนักแรกคลอดน้อยผิดปกติ  อาจคลอดก่อนกำหนดได้    หรือเมื่อลูกคลอดออกมาจะมีพัฒนาการที่ล่าช้า  มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่ดี  และทำให้เป็นเด็กเลี้ยงยากด้วยนะคะ

4. อารมณ์อ่อนไหว&ใจน้อย

อารมณ์อ่อนไหวบางครั้งมีใจน้อย  อารมณ์นี้มักจะพบในช่วงแรกของการตั้งครรภ์  เพราะระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว   อารมณ์อ่อนไหวใจน้อยใครพูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็พานจะร้องไห้  ดูละครเศร้า  ฟังเพลงเศร้าก็ร้องไห้ได้  บางทีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่ายเช่นนี้อาจทำให้คนรอบข้างปรับตัวไม่ทัน แต่อย่างไรก็ตามต้องพยายามเข้าใจคนท้องหน่อยนะคะ ก็ฮอร์โมนมันขึ้น !!!!นี่คะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

5. กลัวการคลอด

ข้อนี้เห็นจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกๆคน ยิ่งคุณแม่มือใหม่  เพราะผู้เขียนเองก็เคยผ่านความรู้สึกเช่นนี้มาแล้ว กลัวความเจ็บปวดในการคลอดลูก  กลัวการผ่าตัดคลอด  แม้กระทั่งบางคนกลัวตายเพราะคลอดลูก  ความกลัวทำให้จินตนาการแต่เรื่องไม่ดี  ทำให้ทุกข์ใจ แต่อยากให้ให้คุณแม่คิดว่า   ความเจ็บปวดเพียงชั่วขณะกับการที่เราจะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยที่เฝ้าประคบประหงมตั้งแต่อยู่ในท้อง รอคอยจะได้พบหน้ากันมันมีความสุขมากมายมากกว่าความเจ็บปวด  ที่สำคัญการคลอดเป็นกลไกธรรมชาติทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอนโดยมีคุณหมอช่วยดูแลจนคลอดทารกน้อยอย่างปลอดภัย

อ่าน คลายเครียด…แบบฉบับแม่ท้อง คลิกหน้าถัดไป

คลายเครียด…..แบบฉบับแม่ท้อง                                                                            

การตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตผู้หญิงเพราะการให้กำนิดทารกน้อย ๆ นั้นหมายถึงอะไรมากมาย ทั้งเป็นโซ่ทองคล้องใจพ่อแม่  เป็นผู้สืบสกุล  เป็นหลานปู่ ย่า ตา ยาย สารพัดสารพัน  ทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนหรือแทบจะทุกคนก็ว่าได้มีหลากหลายอารมณ์ร่วมกันในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง   อารมณ์หลากหลายดังกล่าวนี้ก็ได้แก่  ดีใจที่จะมีเจ้าตัวน้อยมาชื่นชม  อีกทั้งก็มีความกังวลใจว่าจะดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์ได้ดีเพียงไร  ไหนจะวิธีคลอด  กลัวเจ็บ กลัวๆๆๆไปสารพัด

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่คุณแม่ไม่ควรละเลยคือ  พยายามลดความเครียดให้เหลือน้อยที่สุด เพราะความเครียดมีผลต่อทารกในครรภ์ตามคำยืนยันของคุณหมอ หากคุณแม่อยากให้ลูกคลอดออกมาอารมณ์ดี ไม่โยเย เลี้ยงง่าย คุณแม่ต้องมีสุขภาพจิตที่ดีระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ ข้อนี้สำคัญมาก คุณแม่ควรหาวิธีการจัดการกับเจ้าความเครียดนี้ค่ะ  มาคลายเครียด…แบบฉบับแม่ท้อง กันดีกว่าค่ะ

1. ดูภาพยนตร์ ละครคลายเครียดกันดีกว่า

การดูภาพยนตร์หรือดูละครเบาสมอง คลายเครียด หัวเราะได้ทั้งแม่และลูก เพราะเมื่อคุณแม่อารมณ์ดี อารมณ์แจ่มใส ได้หัวเราะ ผ่อนคลาย  ร่างกายก็จะหลั่งสารแห่งความสุข หรือที่เรียกว่า เอ็นโดรฟินส์ สารนี้จะผ่านเข้าสู่ตัวลูกน้อยมีผลทำให้เขารับรู้ถึงความรู้สึกสภาพอารมณ์ของคุณแม่ด้วย  สารเอ็นโดรฟินส์มีผลทำให้ลดความวิตกกังวล ลดความเครียด ทำให้นอนหลับได้สนิท และหลับได้ง่ายขึ้น ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างสมดุล

2.  ฟังเพลงจังหวะสบายๆ

การฟังเพลงที่มีจังหวะสบาย ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิคของต่างประเทศก็ได้ค่ะ  ฟังเพลงในแบบที่คุณแม่ชื่นชอบแต่ขอให้เป็นจังหวะสบาย   มีผลการวิจัยออกมาว่า เพลงหรือดนตรีคลาสสิคมีผลต่อสมองของเด็กให้ได้รับการกระตุ้นเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีต่อไป  การฟังเพลงคลาสสิคหรือเพลงที่ฟังสบายๆทำให้คุณแม่รู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย ลูกก็จะรับรู้ถึงความรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลายตามไปด้วย จากผลการวิจัยเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ลูกสามารถจดจำเสียงดนตรีที่ลูกได้ยินมาบ่อยเมื่ออยู่ในครรภ์ และสามารถแยกแยะระดับเสียงดนตรีได้การฟังเพลงที่มีจังหวะและท่วงทำนองที่เป็นจังหวะซ้ำ ๆ กัน มีเสียงสูงต่ำ จะช่วยกระตุ้นเซลล์สมองของลูกได้เป็นอย่างดี

คลิปเพลงฟังสบายสไตล์แม่ท้อง : เพลงสากลคลาสสิค

คลิปเพลงฟังสบายสไตล์แม่ท้อง : แม่ท้องผ่อนคลายเพื่อสมาธิ (เพลงไทย)

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คลิปเพลงฟังสบายสไตล์แม่ท้อง :  บรรเลงทำนองผสมผสานเสียงธรรมชาติ

https://www.youtube.com/watch?v=8p7WX14AfDE&list=RD8p7WX14AfDE#t=1

3. ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายที่จะช่วยเสริมพัฒนาการให้ทารกในครรภ์  เรียกว่าแม่ท้องมีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตเด่น ย่อมส่งผลถึงลกในท้องก็จะดีตามไปด้วย การออกกำลังกายที่ชวยให้แม่ท้องสดชื่นอารมณ์ดี  เช่น

– การเดินการเดินถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีมากสำหรับคนท้อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินวันละ 30 นาทีดีต่อสุขภาพแม่ท้องและทารกในครรภ์  การเดินเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง  เพียงแค่คุณแม่มีสมาธิจดจ่อกับการเดิน  เดินช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง  พยายามไม่คิดเรื่องอื่นใด  เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดหรือเหม่อลอยจนอาจเกิดการสะดุดหกล้มได้ การกระทำเช่นนี้ก็ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้เหมือนกันนะคะ

บทความแนะนำ  เดิน 30 นาทีต่อวันดีต่อสุขภาพครรภ์

– การฝึกโยคะ  โยคะทั่วไปจุดประสงค์  ฝึกความแข็งแรง ทำให้หัวใจเต้นแรงเหนื่อยง่าย แต่โยคะคนท้องเราต้องพยายามให้เหนื่อยน้อยที่สุดการฝึกโยคะต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพราะถ้าเราไม่ยืด กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เตรียมจะรองรับน้ำหนักตัวของลูกในท้อง จะหนักขึ้นเรื่อยๆ มันจะไปลงอุ้งเชิงกราน นั่นก็คือ ช่วงสะโพก ก้น ต้นขา หากไม่เตรียมพร้อม จะรู้สึกเจ็บ ปวดตามส่วนต่าง ๆ ได้ง่าย  ควรเริ่มฝึกตอนไตรมาสที่ 2 ค่ะ เพราะร่างกายเริ่มปรับตัวได้แล้ว  โยคะทำให้จิตใจสงบ  ร่างกายแข็งควบคู่กันไปค่ะ

– การว่ายน้ำ การว่ายน้ำดีต่อสุขภาพจิตของคุณแม่ เพราะช่วยลดความเครียด ช่วยให้ร่างกายสดชื่น  เมื่อร่างกายขยับในน้ำไม่ว่าจะเดินหรือว่ายน้ำ แรงดันของน้ำจะไหลเวียนผ่านตัวของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ แรงดันของน้ำจะช่วยนวดตัว ทำให้ร่างกายผ่อนคลายและรู้สึกสดชื่นมากขึ้น ในขณะที่คุณแม่ลอยตัวเหนือน้ำ ช่วยให้แม่ท้องได้ลอยนิ่ง ๆ และสร้างสมาธิ มีความเย็นของน้ำช่วยให้จิตใจสงบ

บทความแนะนำ  คนท้องว่ายน้ำเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์ดีเยี่ยม

4. การอ่านหนังสือ

คุณแม่เคยรู้สึกว่า  แม้ตาจะจดจ่ออยู่กับหน้าหนังสือ  แต่สมองกลับคิดอะไรมากมาย  กลับมาค่ะ!!กลับมา พยายามทำใจให้สงบ  บอกตัวเองว่าตอนนี้กำลังทำอะไร  ทำสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ  “อ่านหนังสือ  อ่านหนังสือ  อ่านหนังสือ”   ท่องไว้ในใจหากรู้สึกว่า  จิตของคุณแม่เริ่มคิดไปเรื่องอื่น  การทำจิตให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำจะทำให้คุณแม่เกิดสมาธิ   สำหรับหนังสือที่อ่าน  คุณแม่สามารถเลือกอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ และที่สำคัญ ควรเลือกหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เนื้อหาไม่ควรหนักมากจนทำให้รู้สึกเครียด

5. เล่นเกม

การเล่นเกมก็สามารถช่วยให้คุณแม่คลายเครียดได้  เช่น   เล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ ต่อจิ๊กซอว์  เป็นต้น  นอกจากความเพลิดเพลิน และมีสมาธิแล้ว ยังเป็นการบริหารสมองอีกด้วย และการที่บริหารสมองอยู่เสมอจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น ลดความเครียด ทำให้ใจสงบและรู้สึกสดชื่น ซึ่งส่งผลให้ลูกน้อยอารมณ์ดีไปด้วย

6. นอนหลับพักผ่อน

การนอนหลับเป็นวิธีการพักผ่อนที่ดีสำหรับแม่ท้อง การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ คือ  หลับได้สนิทและยาวนาน  ขอแนะนำวิธีการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ  เริ่มตั้งแต่การเตรียมตัวเข้านอน  ให้งดการออกกำลังกายหรือฝึกกายบริหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 – 4 ชั่วโมง  ไม่รับประทานอาหารหนักหรือดื่มน้ำมากจนเกินไป เพื่อให้กระเพาะอาหาร  ลำไส้ได้พักขณะหลับ ก่อนนอนดื่มนมอุ่นจะช่วยให้หนักท้องและนอนหลับง่าย

เมื่อถึงเวลานอนก็ต้องตั้งใจนอนจริง ๆ ค่ะ  ไม่ควรเปิดทีวี ดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ  ควรฝึกนอนให้เป็นเวลา  เพราะหากเราฝึกการเข้านอนเป็นเวลาเมื่อทำเป็นประจำพอรู้สึกง่วงก็จะนอนหลับได้ง่ายขึ้น

ท่านอนของคนท้องสำคัญนะคะ

คนท้องจะนอนหลับได้ดี  ท่นอนก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะตอนนี้ร่างกายไม่เหมือนเดิมแล้ว  การนอนจำเป็นต้องจัดระเบียบให้ร่างกายค่ะเพราะท่านอนที่เหมาะสมจะทำให้คุณแม่นอนหลับง่าย ท่านอนที่ดีที่สุด คือ การนอนตะแคงซ้าย จะช่วยป้องกันไม้ให้มดลูกกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดจากขาไหลย้อนกลับเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้น ช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดี ทำให้ไตสามารถขับของเสียได้ตามปกติ  ในขณะที่นอนคุณแม่ควรหาหมอนหลาย ๆใบ มาหนุนรองตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะทำให้นอนหลับสบายขึ้น เพราะหมอนข้างจะช่วยรองรับน้ำหนักบริเวณแขนและขาได้

ท่านอนที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง คือ  ท่านอนหงาย เนื่องจากมดลูกตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป จะเริ่มมีขนาดโตอาจไปกดทับเส้นเลือดใหญ่บริเวณกลางลำตัว ทำให้เกิดอาการเท้าบวม  เส้นเลือดขอด  ริดสีดวงทวารหรือบางครั้งอาจกดทับจนเส้นเลือดไหลกลับไม่ได้  ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง เกิดอาการใจสั่นหรือวิงเวียนศีรษะ

ได้ทราบกันแล้วนะคะว่าหลากหลายอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของคนท้องในช่วงตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง พร้อมกับวิธีการคลายเครียดฉบับแม่ท้อง  เครียดได้ก็หายได้  เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนรวมไปถึงคุณพ่อนะคะที่ต้องเจอศึกหนักจากอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ แต่เชื่อเถอะคะว่ามันเป็นเพียงระยะเดียวเท่านั้น  หากคุณแม่รู้ทันอารมณ์และพยายามควบคุมด้วยการหากิจกรรมต่าง ๆ มาช่วยผ่อนคลาย ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์   คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย  เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ  หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ

อ้างอิงข้อมูลจาก

หนังสือ เตรียมตัวคลอดอย่างไรให้ปลอดภัย ทั้งแม่และเด็ก ผู้เขียน พ.ญ.ภักษะ เมธากูล

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของแม่ท้องทั้ง 3 ไตรมาส

10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจให้ลูกในท้อง