หากเจอ ลูกอมนิ้ว หมายความว่าอย่างไร
หากเจอ ลูกอมนิ้ว หมายความว่าอย่างไร ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเกี่ยวกับการอมนิ้วของลูกที่พ่อแม่ควรรู้และเข้าใจ อาจไม่ได้เป็นปัญหาอย่างที่คิด
คุณแม่ควรรู้ หากเจอลูกอมนิ้วหมายความว่าอย่างไร
1. อย่าโทษตัวเองเพียงเพราะว่าคุณหย่านมช้าหรือเร็วเกินไป
มันไม่ใช่เพราะลูกๆ ของคุณกินนมจากขวดแทนที่จะกินจากนมจากเต้า หรือกินจากเต้าแทนกินนมจากขวด มันไม่ใช่เพราะคุณปล่อยให้ลูกทำสิ่งนี้นานเกินไป หยุดคิดและอย่าโทษตัวเอง
2. มันคือความต้องการของลูก
การที่ลูกอมนิ้วมันอาจจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกหรือลักษณะนิสัยของลูกก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้คนเป็นพ่อแม่จะต้องพยายามสังเกตและคอยตั้งคำถาม เพราะหากลูกอมนิ้วนั่นหมายถึงเขาอาจจะเกิดความวิตกกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้
3. เป็นเรื่องที่ซับซ้อน
อย่าไปคาดหวังว่าคุณจะแก้ปัญหาเรื่องการอมนิ้วหัวแม่มือของลูกได้ในวันเดียว ได้ด้วยวิธีการเดียว หรือได้ด้วยขนมชิ้นเดียว มันต้องทำเป็นขั้นตอน และเมื่อคุณเตรียมพร้อมแล้ว ปัญหาการอมนิ้วของลูกก็จะค่อยๆ คลี่คลาย
4. การทำโทษก็ช่วยอะไรไม่ได้
ไม่สำคัญเลยว่าคุณเอานิ้วออกมาจากปากของลูกกี่ครั้ง หรือตีที่มือเล็กๆ ของเขาเพื่อทำโทษ มันก็ไม่ได้ทำให้ลูกหยุดอมนิ้วมือได้เลย ตรงกันข้ามลูกจะพยายามไม่อมนิ้วเวลาที่อยู่ต่อหน้าพ่อแม่เท่านั้นเอง แต่ถึงยังไงลูกก็จะทำมันอยู่ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
5. มันเป็นสัญญาณในการควบคุมตัวเองของลูก
ซึ่งลูกอาจจะใช้วิธีการอมนิ้วเพื่อการควบคุมตัวเอง หรือปลอบใจตัวเอง ในจุดนี้หากคุณมองเห็นก็สามารถที่จะเข้าไปซักถามสิ่งที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ของลูกได้
6. เพราะมันเป็นพัฒนาการ
โดยธรรมชาติแล้วการดูดนิ้วไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี เพราะจริงๆ แล้วลูกน้อยของเราอมนิ้วตั้งแต่อยู่ในท้องมาแล้ว แต่เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะมีพฤติกรรมอื่นที่มาทดแทนการดูดนิ้ว อย่างไรก็ตามพัฒนาการเหล่านี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความแตกต่างของเด็กแต่ละคนด้วย
มีคุณแม่ของลูกวัย 7 เดือนถามหมอว่า “ ลูกดูดนิ้ว คุณแม่จะเอาจุกนมหลอกให้ลูกแทนดีมั้ย คุณแม่ไม่อยากให้ลูกดูดนิ้ว เพราะกลัวฟันเหยิน คุณหมอว่าให้ลูกติดดูดจุกนมหลอกดีกว่าติดดูดนิ้วมั้ยคะ?” ขอบอกตามตรงว่าเป็นคำถามที่หมอต้องคิดหนักพอดูค่ะ เพราะความจริงแล้วไม่อยากให้เด็กติดทั้งดูดจุกนมหลอกและดูดนิ้วเลย แต่ถ้าเปรียบเทียบการเลิก…การดูดจุกนมหลอกจะเลิกง่ายกว่าดูดนิ้วค่ะ เนื่องจากนิ้วเป็นสิ่งที่ติดตัวลูกอยู่ตลอดเวลา จะเอาเข้าปากดูดๆๆๆๆ เมื่อไรก็ได้
ทำไมเด็กจึงดูดนิ้ว
เด็กทารกวัย 0-1 ปีอยู่ในระยะ oral stage เด็กจะมีความสุขกับการดูดและการได้ทานอิ่ม การที่เด็กๆ ในวัยนี้เอานิ้วมือเข้าปากก็น่าจะมีเหตุผลหลายประการ ทั้งเป็นการสำรวจนิ้วมือของตัวเอง หรืออาการคันเหงือกจากฟันที่กำลังจะขึ้น รวมทั้งใช้แทนการสื่อสารว่า”หนูหิวแล้ว” ก็เป็นได้…. อาการดูดนิ้วของเด็กในช่วงขวบปีแรกจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะลดลงได้เองในช่วงอายุ 2-4 ปี แต่หากเด็กติดดูดนิ้วไปจนอายุเกินกว่า 4 ปี อาจส่งผลให้ฟันยื่นเหยินและการสบฟันผิดปกติได้
เคล็ดลับให้ลูกเลิกดูดนิ้วมือ
ลูกชายคนโตของหมอก็ทำท่าจะดูดนิ้วเมื่ออายุ 6-7 เดือน เค้าทำความรู้จักสิ่งของต่างๆ โดยการเอาเข้าปากชิมมาตั้งแต่อายุไม่กี่เดือน ลูกชิมหนังสือ ชิมมือชิมเท้าตัวเอง รวมถึงชิมหน้าแม่ด้วย! ยิ่งเวลาคันเหงือกเมื่อฟันจะขึ้น ยิ่งมันเขี้ยว เคี้ยวนิ้วเคี้ยวมืออย่างเมามัน ถ้าเอายางกัดให้ถือก็จะเคี้ยวยางกัด ชอบยางที่แข็งๆอีกด้วย… วันหนึ่งหมอเห็นลูกชายเอานิ้วโป้งเข้าปากเคี้ยวอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนเป็นดูด หมอรีบจับนิ้วอื่นๆ ใส่เพิ่มเข้าไปในปากน้อยๆ ของลูกตามไปด้วย “คุณลูกขา ดูดเพิ่มอีกสัก 3-4 นิ้วนะคะ” แล้วเค้าก็ดูดทั้งกำปั้นเล็กๆ นั้น น้ำลายย้อยมาถึงข้อศอกเชียว เมื่อไรที่ทำท่าจะดูด 1 นิ้ว หมอก็จับนิ้วอื่นๆ ของลูกเพิ่มเข้าปากอีกทุกที ในที่สุดลูกคงรำคาญ พอหายคันเหงือกก็เลิกเอานิ้วเข้าปากเอง (แม่แอบดีใจ เย้เย้!)
สาเหตุที่หมอไม่ได้ดึงนิ้วลูกออก เพราะเขาอยู่ในวัยที่เขาจะมีความสุขกับการดูด ถึงแม้จะดึงออกลูกก็ดูดใหม่ได้อยู่ดี จึงใช้วิธีจับนิ้วของเขาใส่เข้าไปให้มากขึ้นแทน คิดเองว่าดูดทั้งกำปั้นน่าจะไม่ถนัดเท่าไรนัก ตอนแรกก็ไม่แน่ใจหรอกค่ะว่าวิธีนี้จะช่วยให้ลูกไม่ติดดูดนิ้วได้หรือไม่ เพราะไม่เคยมีทฤษฎีใดหรือใครบอกให้ทำแบบนี้ แต่ก็ไม่เคยเห็นเด็กติดดูดนิ้วทีละหลายๆ นิ้วพร้อมกัน หรือดูดทั้งกำปั้น! มีแต่ติดดูดนิ้วโป้งนิ้วเดียวที่พบบ่อยที่สุด และมีเด็กที่ดูดนิ้วชี้กับนิ้วกลางพร้อมกันอยู่บ้าง
หมอได้ลองวิธีนี้อีกครั้งกับลูกเพื่อน เมื่อเราคุยกันเรื่องลูกดูดนิ้ว ลูกสาวเค้าอายุ 3 เดือน ดูดนิ้วโป้งอย่างเอร็ดอร่อย พอดึงออก เธอก็ดึงกลับไปดูดใหม่ หมอแนะนำให้จับนิ้วใส่เข้าปากลูกเพิ่มเหมือนกัน ผลปรากฎว่า 6 เดือนต่อมา หมอเจอเพื่อนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้…ลูกสาวเธอเลิกดูดนิ้วไปแล้วค่ะ!
ลูกดูดนิ้ว ให้ลูกใส่ถุงมือจะช่วยได้หรือไม่
มีคุณยายท่านหนึ่งเล่าให้หมอฟังว่า คุณยายทำถุงมือใส่ให้หลานสาววัยเกือบ 3 ขวบ เป็นถุงมือผ้ายาวเลยข้อมือ เมื่อสวมมือแล้ว คุณยายจะพันเทปลงบนถุงมือผ้าบริเวณข้อมือให้ไม่แน่นจนรัดข้อมือหลานเกินไป แต่แน่นพอที่หลานจะไม่สามารถดึงถุงมือออกได้ หลานมักจะเผลอดูดนิ้วตอนหลับ เมื่อใส่ถุงมือก็ดูดไม่ได้ ใส่อยู่เกือบ 1 เดือน ก็เลิกดูดนิ้วไปได้ค่ะ
คุณแม่อีกท่านหนึ่งบอกว่าลูกอายุ 3 ขวบกว่า ชอบดูดนิ้วตอนนั่งรถเพลินๆ หมอเสนอให้คุณแม่เปิดเพลงเด็กให้ลูกร้องไปตลอดทาง เมื่อปากไม่ว่างก็จะได้ไม่ดูดนิ้ว ก็ได้ผลดี นอกจากเด็กดูดนิ้วน้อยลงแล้ว ยังสามารถร้องเพลงเด็กได้ทั้งแผ่นอย่างคล่องแคล่วอีกด้วย แต่วิธีการนี้คุณแม่จะต้องฟังแต่เพลงเด็กทุกครั้งที่ลูกนั่งรถไปลูก
อีกบ้านหนึ่ง แม่ของลูกฝาแฝด 3 ขวบ ดูดนิ้วทั้งคู่เล่าว่า ลูกอยู่บ้านกับพี่เลี้ยงตอนกลางวัน พี่เลี้ยงดูหนังยิงกันเลือดท่วมจอให้เด็กๆ ดูอยู่ด้วย จากนั้นพี่เลี้ยงก็หันมาบอกเด็กน้อยว่า ถ้าดูดนิ้วต่อไปเลือดจะไหลแบบนี้เลย (เด็กๆ คงรู้สึกสยองแน่ๆ) พอตกเย็นเมื่อแม่กลับมาพบว่า เด็กๆ ไม่ดูดนิ้วแล้ว และเลิกดูดนิ้วไปเลย ผ่านไป 2 วันแม่ถามพี่เลี้ยงจึงได้ทราบสาเหตุว่าเพราะพี่เลี้ยงพาดูหนังโหด แม่ถึงกับอึ้งไป ใจก็อยากจะดุพี่เลี้ยง แต่น้องก็เลิกดูดนิ้วทันทีเพราะเธอ!
คุณพ่อคุณแม่ชอบวิธีการใด ก็สามารถนำไปลองปฏิบัติกันได้นะคะ
การจัดการนิสัยดูดนิ้วมือสำหรับทันตแพทย์
หมอขอนำความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ “การจัดการนิสัยดูดนิ้วสำหรับทันตแพทย์” เขียนโดย รศ.ทพญ.ประภาศรี ริรัตนพงษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาลงไว้เพื่อเป็นข้อมูลโดยย่อดังนี้
- การดูดนิ้วในเด็กอายุ 1 ปี เป็นพฤติกรรมที่ปกติ
- นิสัยดูดนิ้วมือ สามารถเลิกได้เองในช่วงอายุ 2-4 ปี
- ถ้าเด็กหยุดการดูดนิ้วได้ก่อนอายุ 4 ปี ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการดูดนิ้ว (ที่อาจทำให้ฟันหน้าบนเริ่มยื่นนั้น) จะเป็นเพียงชั่วคราว
- ถ้าอายุเกิน 4 ปีแล้วยังคงดูดนิ้ว จะพบความผิดปกติของการสบฟันรุนแรงขึ้น เช่น ฟันหน้าบนยื่น และสบเปิด (ฟันหน้าบนยกขึ้นจนกัดเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ได้)
- การรักษาโดยทันตแพทย์จะเริ่มในช่วงเด็กอายุ 4-6 ปีไปแล้ว
- เด็กเล็กวัยก่อน 4 ปี ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกลดการดูดนิ้ว
- หากลูกดูดนิ้วในช่วงที่เหงาหรือกังวล ผู้ปกครองควรแสดงความรักโดยการโอบกอดเด็ก ให้ความมั่นใจ และเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปจากการดูดนิ้ว หากิจกรรมที่ต้องใช้มือหรือปากให้เด็กทำ
- หากลูกดูดนิ้วก่อนนอน เพราะเด็กพยายามกล่อมให้ตัวเองหลับ ผู้ปกครองควรเป็นผู้กล่อมให้ลูกหลับเองโดยเล่านิทาน ร้องเพลง กอดกันนอนและจับมือลูกไว้ อีกตัวช่วยหนึ่งคือ ให้ลูกทำกิจกรรมในช่วงบ่ายจนเหนื่อย พอถึงเวลานอนก็พาเข้านอนตอนง่วงพอสมควรแล้ว จะช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้น
- การลงโทษ/ตำหนิ ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยิ่งทำให้เด็กกังวลและดูดนิ้วมากขึ้น
- เด็กบางรายเลิกดูดนิ้วได้เองจากการที่ผู้ปกครองเลิกสนใจกับการดูดนิ้วของเขา
- การใส่ถุงมือผ้า การใช้ผ้าหรือเทปพันที่นิ้ว การดัดแปลงชุดนอนให้แขนเสื้อยาวมากเกินปกติ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการเลิกนิสัยดูดนิ้วและต้องการตัวช่วยให้เค้าไม่เผลอเอานิ้วเข้าปาก โดยเฉพาะตอนนอน
- การให้รางวัล เป็นแรงเสริมสนับสนุนให้เด็กอยากเลิกดูดนิ้วได้ผลดีกว่าคำตำหนิหรือลงโทษ วิธีนี้ใช้ได้ผลกับเด็กวัยอนุบาลขึ้นไป อาจทำเป็นปฏิทินแล้วให้ดาวเมื่อเด็กไม่ดูดนิ้ว หรือแม้แต่กำลังจะดูดแล้วแม่เตือนเบาๆลูกก็ไม่ดูด ก็ควรได้ดาว เมื่อสะสมดาวได้ครบ 10 ดวง 15 ดวง แล้วแต่จะตกลงกัน ก็จะได้รางวัลชิ้นหนึ่ง ไม่ต้องใหญ่โตอะไร แต่เป็นสิ่งที่ลูกอยากได้ ก็จะมีแรงจูงใจให้เด็กพยายาม
อ่านวิธีการเลิกนิสัยดูดนิ้วของลูก คลิกที่นี่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คำสอนของแม่กับนิ้วมือทั้งห้า
หุ่นนิ้วเสริมพัฒนาการทารก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!