วัดราชนัดดารามวรวิหาร เป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า โลหะปราสาท องค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก โลหะปราสาท ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการสร้างเจดีย์ หากใครมีโอกาสผ่านถนนราชดำเนินในตอนกลางคืน จะได้เห็นความโดดเด่นเรืองรอง
โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดาราม เป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย และเป็นแห่งที่ 3 ของโลก แห่งแรกอยู่ที่อินเดีย แห่งที่สองอยู่ที่ศรีลังกา ตอนนี้โลหะปราสาทที่อินเดีย และศรีลังกาถูกทำลายไปแล้ว ส่วนโลหะปราสาทที่ตั้งอยู่ที่ไทยนั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น เจดีย์ประธาน ของวัดราชนัดดาราม คำว่าโลหะปราสาท(Lohaprasada) เป็นชื่อดั้งเดิมของอินเดียที่เรียกมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ให้ความหมายว่า ตึกที่มียอดเป็นโลหะ นั่นเอง หากใครต้องการนชื่นชมความงดงามของโลหะปราสาทก็ ต้องมาที่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะโลหะปราสาทเหลืออยู่ที่ไทยแห่งเดียวเท่านั้น
โลหะปราสาท
ประวัติและความเป็นมาของโลหะปราสาท
โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดาฯ ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการสร้างเจดีย์ อีกทั้งพระองค์ยังโปรดฯ ให้ช่างเดินทางไปดูแบบถึงยังประเทศศรีลังกา และนำเค้าเดิมนั้นมาเป็นแบบสร้าง แล้วปรับปรุงให้เป็นศิลปะแบบไทย เป็นปราสาท 3 ชั้น มียอด 37 ยอด อันหมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ พื้นที่กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด ที่กลางปราสาทเป็นที่ตั้งของบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น ที่ใช้สำหรับเดินขึ้นสู่ยอดปราสาท อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
โลหะปราสาทแห่งนี้เป็นองค์ที่ 3 ของโลก โดยโลหะปราสาทแห่งแรกตั้งอยู่ที่ประเทศอินเดีย มีชื่อว่า “มิคารมาตุปราสาท” สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาลโดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา บุตรีธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ที่ลืมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ อันมีค่าไว้ หลังจากเสร็จกิจการฟังธรรม โดยมีพระอานนท์เป็นผู้เก็บรักษาให้ ซึ่งนางได้ให้สาวใช้กลับไปเอาคืน และกล่าวไว้ว่าถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืน แต่พระอานนท์ไม่ทรงรับ และนางกลับคิดได้ว่าเครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ นางจึงนำเครื่องประดับไปขาย และนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาสร้างวัด รวมถึงโลหะปราสาทหลังแรก ที่มียอดยอดปราสาททำด้วยทองคำ ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะในปัจจุบัน โลหะปราสาทหลังนี้หักพังจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว
โลหะปราสาทองค์ที่ 2 ตั้งอยู่ที่ประเทศศรีลังกา ผู้สร้างคือพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราชปุระ เมื่อประมาณ พ.ศ. 382 โดยเป็นปราสาทสูงถึง 9 ชั้น และมีหลังคามุงด้วยทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง ซึ่งภายหลังโลหะปราสาทนี้ถูกไฟไหม้และถูกทำลาย จนเหลือเพียงซากเสาหินประมาณ 1,600 ต้น ที่ยังคงเผยให้เห็นความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งอดีต
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :พา เที่ยวไทย ชม 20 วัดสวย เดินทางง่าย ใกล้เมืองกรุงฯ
โลหะปราสาท 2
สำหรับโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ในกรุงเทพฯ แห่งนี้ได้จำลองมาจากประเทศศรีลังกา เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2394 นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ 5 ปี มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสตามโลหะปราสาทที่เมืองลังกา
ส่วนลักษณะสถาปัตยกรรมสร้างตามแบบศิลปกรรมไทย โดยสร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น และมียอดปราสาท 37 ยอดด้วยกัน มีความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ซึ่งอาคารชั้นล่าง ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 5 จะเป็นคูหาและระเบียงรอบ ส่วนชั้นที่ 2 ชั้นที่ 4 และชั้นที่ 6 ทำเป็นคูหาจตุรมุขมียอดเป็นบุษบกชั้นละ 12 ยอด และ ชั้นที่ 7 เป็นยอดปราสาทจตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ
ภายในโลหะปราสาท มีบันไดเวียน 67 ขั้น จำลองแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตามโลหะปราสาทที่ศรีลังกา แต่ยังคงลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทย ผสมผสานพุทธศิลป์ ไว้อย่างลงตัว โลหะปราสาทแห่งนี้สร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น ลดลั่นกันขึ้นไป ยอดปราสาทที่เราเห็นในแต่ละชั้นเป็นยอดบุษบกในชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 6 ชั้นละ 12 ยอด และในชั้นที่ 7 เป็นยอดปราสาทจตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ โลหะปราสาทแห่งนี้จึงมี 37 ยอด ซึ่งมีนัยหมายถึง โพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ (โพธิปักขิยธรรม คือธรรมที่นำไปสู่การนิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ภายในจะมีนิทรรศการโลหะปราสาทชั้นล่าง ส่วนชั้นอื่นๆ สามารถขึ้นบันไดไปได้ และชั้นบนสุดสามารถชมความงามในเขตพระนครที่จุดชมทัศนียภาพ 360 องศาได้ นอกจากนี้ผู้ได้เยี่ยมชมยังสามารถบูชาพระบรมสารีริกธาตุโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ไกลๆ และสำหรับใครที่ต้องการความสงบ อยากทำสมาธิหรือเดินจงกรม ที่แห่งนี้ก็มีพื้นที่พิเศษให้ด้วย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พาเที่ยวกรุงเก่า ไหว้พระ 9 วัด วัดที่ 2 ที่ วิหารพระมงคลบพิตร อยุธยา
โลหะปราสาท 3
การบูรณะและปรับปรุงโลหะปราสาท
โลหะปราสาทได้รับการปรับปรุงและบูรณะอยู่หลายครั้ง และได้บูรณะครั้งใหญ่จนแล้วเสร็จในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) เมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยโลหะปราสาทเป็นแบบก่อโบกปูนสีแดง มณฑปทาสีขาว ทั้งนี้ได้พยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด
เมื่อครั้งงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 โลหะปราสาทจึงเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่เดิมนั้นโลหะปราสาทไม่ได้มีหลังคาลักษณะตามแบบที่เราเห็นจนคุ้นตา แต่สืบเนื่องจากโอกาสสำคัญดังที่กล่าวข้างต้น โลหะปราสาท จึงได้รับการบูรณะอีกครั้ง โดยมี พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม ได้ร่วมโครงการบูรณะโลหะปราสาท ใน พ.ศ. 2539 โดยเริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคา และเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ กลายเป็น โลหะปราสาทสีดำ สวยแปลกสะดุดตา ที่เราเคยเห็นจนคุ้นชิน ซึ่งหาดูได้ยากมากทีเดียว
แต่สำหรับโลหะปราสาทที่ปัจจุบันเราเห็นหลังคามณฑปเป็นสีทองนั้น เป็นการบูรณะใหม่โดยกรมศิลปากร และวัดราชนัดดารามวรวิหารในปี พ.ศ.2555-2560 และมีการปิดทอง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเฉลิมพระเกียรติที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา เพราะฉะนั้นถ้าใครไม่ได้ผ่านบริเวณนี้หลายปี พอมาเจอยอดสีใหม่ก็ไม่ต้องแปลกใจ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พาเที่ยว เมืองพญานาค สถานที่ท่องเที่ยวที่ บูชาพญานาค และ ประวัติพญานาค
โลหะปราสาท 4
และด้วยเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน โลหะปราสาทจึงได้รับการเสนอชื่อให้องค์กร UNESCO พิจารณาโลหะปราสาทเป็นแหล่งมรดกโลก แม้ว่าตอนนี้ทางวัดยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาตำแหน่งมรดกโลก แต่เห็นได้ชัดว่าสถานที่แห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมากที่สุด และเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ที่ควรเข้าชม
ที่ีมา : (museumthailand) (mgronline)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
พาเที่ยวกรุงเก่า ไหว้พระ 9 วัด วัดที่ 2 ที่ วิหารพระมงคลบพิตร อยุธยา
พาเที่ยว วัดสวยใกล้กรุงเทพฯ ใกล้แน่ๆ แค่ ปากช่อง โคราช
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!