ผ่าคลอด ขั้นตอนผ่าคลอด ทำไมต้องผ่าคลอด ผ่าคลอด คำนี้ทำให้คุณแม่รู้สึกกลัวและกังวลเกี่ยวกับการผ่าคลอด มาติดตามอ่านขั้นตอนการผ่าคลอดกันค่ะ
ทำไมต้องผ่าคลอด ขั้นตอนการผ่าคลอด
ขั้นตอนการผ่าคลอด ก่อนจะผ่าคลอดมาดูกันก่อนนะคะคุณแม่ว่ามีปัจจัยอะไร ทำไมคุณแม่ถึงต้องผ่าคลอด ข้อนี้ไม่รวมถึงความประสงค์ของคุณแม่เองที่จะเลือกวิธีการผ่าคลอดนะคะ แต่เป็นปัจจัยที่เกิดจากการตั้งครรภ์ค่ะ การผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดคลอดทารกออกมาทางหน้าท้องตำแหน่งบริเวณด้านล่างของมดลูกและจะทำในกรณีที่จำเป็น ข้อบ่งชี้ว่าคุณแม่ต้อง / ควร ผ่าตัดคลอด มีดังนี้
- ขั้นตอนการผ่าคลอด ขนาดของทารก ในกรณีที่ทารกมีขนาดตัวใหญ่ไม่สัมพันธ์กับกระดูกเชิงกรานของคุณแม่คุณหมอจะตรวจวัดขนาดศีรษะของทารกเทียบกับกระดูกอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ เพราะหากคลอดยากเพราะติดขัดมาก แบบนี้จำเป็นต้องผ่าคลอดค่ะเพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก
- ท่าทางของทารกที่ผิดปกติ คือ ไม่เอาศีรษะลงอุ้งเชิงกราน แต่เป็นท่านอนขวาง ท่าก้น หรือมีส่วนนำมากกว่าหนึ่ง คือ เป็นศีรษะพร้อมแขนขา
- มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการคลอด เช่น คุณแม่ปวดท้องคลอดเป็นเวลานานมากไม่คลอดเสียที หรือระหว่างรอคลอดพบว่า การเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ลดลง หากเริ่มมีปัญหาเช่นนี้คุณหมอมักจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อให้ทารกคลอดออกมาให้เร็วและปลอดภัยค่ะ
- คุณแม่มีอายุมาก คือ 35 ปีขึ้นไปสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์เท่ากับคุณแม่ที่อายุน้อยกว่าที่มีแรงเบ่งคลอดมากกว่า
- คุณแม่เป็นโรคแทรกซ้อน เช่น ครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น หากคลอดเองอาจเกิดอันตรายได้
- ภาวะรกเกาะต่ำ เมื่อรกเกาะต่ำขวางทางออกของทารกทำให้ต้องผ่าตัดคลอดค่ะ
- ตั้งครรภ์แฝด ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
- เกิดภาวะสายสะดือย้อย คือ สายสะดือพลัดต่ำ ทำให้ไม่สามารถคลอดเองได้
- คุณแม่เป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศซึ่งสามารถติดต่อส่งถึงลูกน้อยได้ผ่านกระบวนการคลอดแบบธรรมชาติ
- การผ่าคลอดในข้อนี้เป็นความประสงค์ของคุณแม่ค่ะ เพราะคุณแม่หรือคนในครอบครัวมีความเชื่อเรื่องฤกษ์เกิดที่เป็นมงคล คุณแม่บางคนกลัวเจ็บสองต่อ เพราะหากเลือกคลอดแบบธรรมชาติแต่ไม่สำเร็จก็ต้องผ่าคลอด จึงตัดสินใจผ่าคลอดเลยก็มีค่ะ
รู้จักลักษณะการผ่าคลอด/แนวแผลผ่าคลอด/ขั้นตอนการผ่าคลอด
1. ผ่าคลอด แนวตั้ง
การผ่าคลอดแนวตั้งโดยปกติจะผ่าลงไปลึกถึง 7 ชั้น คือ ผ่านชั้นผิวหนัง ไขมันใต้ผิวหนัง เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ชั้นกล้ามเนื้อชั้นเยื่อหุ้มช่องท้อง ชั้นผนังเยื่อหุ้มมดลูก และกล้ามเนื้อมดลูกเป็นชั้นสุดท้าย การผ่าคลอดแนวตั้งนั้นจะผ่าจากใต้สะดือลงมาถึงช่วงกลางหัวหน่าว ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมผ่าคลอดแนวตั้งเท่าใดนัก
2. ผ่าคลอด แนวขวาง หรือ ผ่าคลอด แนวนอน
การผ่าคลอดแนวขวางหรือผ่าคลอดแนวนอน หรือแนวบิกินีไลน์ คุ้นหูแล้วใช่ไหมคะถ้าบอกว่าเป็นแนวบิกินี การผ่าคลอดแนวขวางจะดีกว่าแบบแรกตรงที่มีแผลเป็นน้อยกว่าและเจ็บน้อยกว่า เนื่องจากหน้าท้องของคุณแม่จะมีความหย่อนอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น เมื่อเปิดแผลแนวนอนไปถึงบริเวณชั้นของกล้ามเนื้อจึงจะเปลี่ยนไปลงตามแนวตั้งเหมือนปกติ วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ช้ำและแผลบริเวณผิวหนังสวยกว่าแบบแรก
บทความแนะนำ วิธีดูแลแผลผ่าคลอดอย่างถูกวิธี ให้แผลเป็นเนียนเร็ว
ขั้นตอนการผ่าคลอด ขั้นตอนการเตรียมตัวผ่าคลอด
- ขั้นตอนการผ่าคลอด เริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับวิสัญญีแพทย์เป็นการซักประวัติการเจ็บป่วย และโรคประจำตัวซึ่งขั้นตอนนี้หากคุณแม่มีข้อสงสัยสามารถถามคุณหมอได้นะคะ
- คุณหมอจะเจาะตัวอย่างเลือดและให้คุณแม่ลงชื่อในหนังสือแสดงความยินยอมผ่าคลอด
- คุณหมอจะให้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารให้เป็นกลางและต่อสายน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำที่แขน สำหรับคุณหมอจะได้สามารถสังเกตระดับสารน้ำในร่างกาย และให้ยาแก้ปวดเพิ่มเติมหากคุณแม่ต้องการ
- จะมีการสวนสายปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะ ซึ่งสายนี้จะทิ้งไว้ประมาณ 12 – 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด อาจต้องเตรียมโกนขนบริเวณหัวหน่าวเพื่อเตรียมการผ่าคลอดด้วย
- ขั้นตอนการบล็อกหลัง/ ยาสลบ
บล็อกหลัง
ขั้นตอนการผ่าคลอด การบล็อกหลังเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะตัดความเจ็บปวดของร่างกายท่อนล่างตั้งแต่เอวลงไปเท่านั้น คุณแม่ยังมีสติสัมปชัญญะอยู่ สามารถรับรู้ความรู้สึกจากร่างกายท่อนบนได้ตามปกติ ทำให้คุณแม่ได้มีส่วนร่วมในการคลอดอยู่ตลอด ได้เห็นหน้าลูกน้อยเมื่อคลอดผ่านหน้าท้องออกมา ทารกน้อยจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการใช้ยาบล็อกหลังเลย เพราะยาออกฤทธิ์โดยตรงที่โพรงไขมันหลังของคุณแม่เท่านั้น ไม่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด
ยาสลบ
การใช้วิธีดมยาสลบ คณหมอจะเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็น เช่น ต้องการระงับสติอารมณ์ที่ควบคุมไม่ได้ของคุณแม่หรือเป็นความต้องการของคุณแม่เองเพราะกลัวมีดและกลัวเลือด แต่การดมยาสลบคุณแม่จะไม่รับรู้และไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการคลอดเลยนะคะ จะสลบไปจนกว่าวิสัญญีแพทย์จะให้ยากระตุ้นให้ฟื้น คุณแม่จะไม่ได้เห็นหน้าทารกเมื่อคลอดผ่านหน้าท้อง ทารกอาจได้รับฤทธิ์ของยาสลบเข้าไปด้วย เมื่อแรกคลอดทารกจะไม่ค่อยหายใจด้วยตนเอง ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นของคุณหมอ ทำให้ต้องได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์อย่างใกล้ชิด
บทความแนะนำ กำหนดวันคลอดจากหมอแม่นแค่ไหน
ขั้นตอนผ่าคลอด
- การผ่าคลอดส่วนใหญ่จะใช้วิธีการบล็อกหลัง เป็นการบริหารยาชาเข้าไปในช่องไขสันหลังระดับบั้นเอว เพื่อหยุดการนำความรู้สึกของเส้นประสาทจนทำให้เกิดอาการชา จนไม่รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดในบริเวณประมาณชายโครงจนถึงปลายเท้านานประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แล้วแต่ชนิดของยาที่ใช้ เป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับแม่และทารกค่ะ และคุณแม่ยังมีส่วนร่วมในการคลอดได้เห็นหน้าลูกทันทีเมื่อคลอดผ่าคลอดออกมาทางหน้าท้อง
- เมื่อยาชาออกฤทธิ์ คุณหมอจะเริ่มลงมือผ่าตัดด้วยการเปิดหน้าท้องทำให้สามารถมองเห็นลูกน้อยที่นอนอยู่ในถุงน้ำคร่ำสู่อ้อมอกคุณแม่ โดยที่คุณแม่จะรับรู้ทุกขั้นตอนของการผ่าตัดที่เกิดขึ้นทุกอย่าง
- เมื่อนำรกออกจากท้องคุณแม่หมดแล้ว คุณหมอจะเย็บปิดมดลูกและหน้าท้องของคุณแม่
- การผ่าตัดคลอดใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นพยาบาลจะนำคุณแม่ไปพักที่ห้องดูอาการหลังคลอดหรือหอผู้ป่วยสูติกรรม
- สำหรับทารกน้อย กุมารแพทย์จะนำไปไว้ในตู้อบซึ่งเป็นเตียงที่อบอุ่นขนาดเล็ก เพื่อทำการตรวจร่างกายทารก เมื่อคุณหมอตรวจเสร็จเรียบร้อย
- หากทารกไม่มีความผิดปกติใด ๆ หลังคลอด คุณหมอจะห่อตัวทารกด้วยผ้าห่มและส่งให้คุณแม่หรือคุณพ่ออุ้มลูกสักพัก ตามปกติแล้วทารกที่ผ่าตัดคลอดอาจจะมีอาการอ่อนเพลียนานถึง 12 ชั่วโมง
การผ่าคลอดในปัจจุบันนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดและมีความปลอดภัยสูง มีผลข้างเคียงน้อย อัตราความผิดพลาดและเสียชีวิตต่ำกว่าในสมัยก่อนมาก คุณหมอสามารถกำหนดวันผ่าคลอดล่วงหน้าได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป เพราะทารกในครรภ์ได้พัฒนาเต็มที่สมบูรณ์พร้อมออกมาลืมตาดูโลกแล้วค่ะ
คลิปผ่าคลอดจำลองแม่ท้องผ่าคลอด
www.facebook.com/ScienceNaturePage/videos/578163692644199/?t=0
อาการหลังคลอด
- หลังผ่าคลอดในระยะ 12 ชั่วโมงแรก คุณแม่จะอ่อนเพลียจากการเสียเลือดในระหว่างที่ทำการผ่าตัด ซึ่งในระยะนี้ต้องงดข้าว งดน้ำ จะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำและคาสายสวนปัสสาวะไว้
- ในระยะนี้ต้องพักผ่อนให้เพียงพอหากมีอาการปวดแผลมาก จะได้รับยาระงับปวดโดยฉีดเข้าที่เยื่อหุ้มไขสันหลัง (epidural block) ซึ่งจะสามารถแก้ปวดได้ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง คุณแม่ที่บล็อกหลังบางคนอาจต้องนอนราบไม่หนุนหมอนนาน 6 – 12 ชั่วโมง
- เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรเริ่มบริหาร เช่น ท่าการฝึกหายใจ ท่าบริหารแขน คอ และส่วนต่าง ๆ ที่ไม่กระทบกระเทือนแผลผ่าคลอดหมั่นพลิกตะแคงตัวบ่อย ๆ เพื่อเตรียมตัวในการลุกเดินและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการนอนบนเตียงนาน ๆ
- ตามปกติหลังคลอดลูกแล้ว จะพบว่า คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวลดลงไปประมาณ 4 – 5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักของทารกประมาณ 3,400 กรัม รก 650 กรัม น้ำคร่ำ 800 กรัม ที่เหลือเป็นเลือด การคลอดปกติจะเสียเลือดประมาณ 200 – 300 มิลลิลิตร
- ลักษณะทารกแรกคลอด ความยาวมักจะอยู่ที่ 46 – 48 เซนติมตร หนักประมาณ 2,500 – 3,500 กรัม ทารกเพศหญิงมักจะตัวเล็กกว่าเพศชาย ผิวหนังเป็นสีแดงเรื่อ ๆ มีขนอ่อนขึ้นเต็มตัว อวัยวะเพศไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจะมีขนาดใหญ่เพราะฮอร์โมนเพศที่มาจากคุณแม่ ในภายหลังอวัยวะเพศจะค่อย ๆ เล็กลงไปเองจนขนาดเท่ากับเด็กเล็กปกติทั่วไป
- เมื่อพยาบาลนำทารกมาให้คุณแม่ที่เตียง คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมจากเต้า ตอนนี้จะเป็นน้ำนมเหลือง ให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลเร็วขึ้น เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก
- ภายหลังผ่าคลอดภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน คุณหมอจะเริ่มให้จิบน้ำ กินอาหารเหลว อาหารอ่อนตามลำดับ หากคุณแม่ทานอาหารปกติเร็วเกินไป จะทำให้ปวดท้อง ท้องอืด และปวดบีบลำไส้ เพราะลำไส้เริ่มทำงาน และจะหยุดให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ พร้อมทั้งนำสายสวนปัสสาวะออก ในระยะนี้คุณแม่จึงเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระแล้วค่ะ พยายามลุก นั่ง ยืน และเดินให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้แผลเกิดพังผืด
- หลังผ่าตัดประมาณ 3 – 5 วัน หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใด ๆ คุณหมอก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ค่ะ
ยินดีด้วยนะคะสำหรับคุณแม่ที่คลอดลูกออกมาอย่างปลอดภัยสมกับที่ตั้งตารอคอยเจ้าหนูมานานถึงเก้าเดือน อย่ากังวลกับการผ่าตัดคลอดเลยนะคะ เพราะวันคลอดจริง ๆ ทุกอย่างจะผ่านไปรวดเร็วมาก ผู้เขียนเองก็ผ่าคลอดเช่นกันค่ะ ยอมรับว่ากลัวมาก ๆ พอขั้นตอนทุกอย่างเริ่มดำเนินไปในห้องคลอด มันดูรวดเร็วไปหมดยังจำภาพวันนั้นได้ดี และมีความสุขมากที่ได้เห็นลูกคลอดออกมาแข็งแรง เชื่อว่าความรู้สึกเช่นนี้คุณแม่ทุกคนคงเหมือนกันอย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากที่ผาคลอดเสร็จ ก็มีข้อห้ามไม่ให้กินอาหารบางชนิด เพราะอาจทำให้แผลหายช้า สำหรับลิสต์อาหารที่ห้ามกินหลังผ่าคลอด ติดตามอ่านได้ที่นี่เลยค่ะ >> ผ่าคลอดห้ามกินอะไรบ้าง ผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ คู่มือเรียมตัวก่อนคลอดและการปฏิบัติตนหลังคลอด ปาริชาติ ชมบุญ ผู้เขียน
หนังสือ เรื่องน่ารู้คู่มือแม่ท้อง หมอโอ๋ ผู้เขียน
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
“แผลผ่าคลอด” ร่องรอยนี้เพื่อ “ลูกรัก”
สัญญาณเตือนแม่ท้องเสี่ยงผ่าคลอด