การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่คุณแม่หลายคนให้ความสำคัญ แต่เมื่อตัวเองเจ็บป่วยและต้องกินยา แม่ให้นมก็อดกังวลไม่ได้ว่า ยาของแม่ส่งผลต่อลูกไหม? ยาบางชนิดอาจเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางน้ำนมไปยังลูกน้อยได้จริงหรือไม่? ให้นมลูกกินยาอะไรได้บ้าง บทความนี้จะไขข้อข้องใจ รวมถึงมีคำแนะนำให้คุณแม่นำไปใช้เป็น คู่มือเลือกยาสำหรับแม่ให้นม ได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์
คู่มือเลือกยาสำหรับแม่ให้นม หลักการใช้ยาที่คุณแม่ควรรู้
น้ำนมแม่เป็นสุดยอดอาหารของทารก โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทารกกินนมแม่เป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียว เพราะมีคุณค่ามากสารอาหารต่างๆ มากมาย รวมถึง ภูมิคุ้มกัน และฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับทารกในการป้องกันความเจ็บป่วย ส่งเสริมพัฒนาการ และการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
แต่บางครั้งเมื่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดเจ็บป่วย อยากหยิบยาสามัญที่เคยกิน หรือกรณีคุณแม่บางคมมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาเป็นประจำ อาจกังวลว่ายาจะซึมผ่านน้ำนมไปสู่ลูกหรือไม่ ให้นมลูกกินยาอะไรได้บ้าง ที่จะปลอดภัยต่อลูกน้อย หรือมีข้อจำกัด มีหลักการเลือกใช้ยาของแม่ให้นมอย่างไร มีหลักการเลือกใช้ยาสำหรับแม่ให้นม ดังนี้ค่ะ
-
ใช้ยาเมื่อจำเป็น
คุณแม่ควรพิจารณาว่าสามารถเลื่อนการใช้ยาออกไปจนกว่าจะครบเวลาให้นมลูกได้หรือไม่ ถ้าเลื่อนได้ควรเลื่อนไปก่อน หรือหากเป็นไปได้ให้เลื่อนไปจนกว่าลูกจะหย่านม
-
หลีกเลี่ยงยาสูตรผสม
โดยเลือกยาที่มีตัวยาสำคัญเพียงชนิดเดียว และควรเลือกใช้ยาที่มีขนาดต่ำที่สุด หรือใช้ยาในช่วงระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
-
เลือกยาแบบสูดพ่นหรือใช้ภายนอก
ลองค้นดูก่อนว่าอาการที่เป็นสามารถรักษาด้วยยาใช้ทาภายนอก ทา สูด หรือพ่น แทนการใช้ยาแบบกินหรือฉีดได้หรือไม่ เช่น ใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูกแบบสูตรพ่น แทนยาที่ต้องกิน เพื่อไม่ทำให้ระดับยาในเลือดคุณแม่สูงเกินไป
-
ใช้ยาที่ยืนยันว่า “แม่ให้นมใช้ได้”
อ่านฉลากทุกครั้งก่อนเลือกใช้ยา โดยใช้ยาที่มีข้อมูลยืนยันว่า “ปลอดภัย” และ “สามารถใช้ได้ในหญิงให้นมบุตร”
-
สต็อกน้ำนมเก็บไว้ก่อนใช้ยา
ในกรณีที่คุณแม่ให้นมต้องกินยาวันละหลายครั้ง ควรวางแผนการให้นมลูกดีๆ ค่ะ โดยสามารถปั๊มนมเก็บไว้ก่อนที่จะกินยา และควรให้ลูกน้อยกินนมก่อนคุณแม่กินยามื้อถัดไป หรือรอเวลามากกว่า 2-3 ชั่วโมง หลังจากกินยาแล้วค่อยให้นมลูก
ให้นมลูกกินยาอะไรได้บ้าง ยาของแม่ส่งผลต่อลูกไหม?
คุณแม่ให้นมหลายคนอาจมีธงในใจอยู่แล้วว่าจะไม่ใช้ยาโดยไม่จำเป็นขณะให้นมลูก แต่อาจมีบางกรณีที่การเจ็บป่วยของคุณแม่ก็ “รอไม่ได้” เช่นกัน จึงต้องมีการเลือกยาบางตัวมาใช้ มาดูกันค่ะว่า ยาที่คุณแม่สามารถใช้ได้ในช่วงเวลาปกติอย่าง ยากลุ่มรักษาหวัด ภูมิแพ้ หรือยาสามัญประจำบ้าน มีความปลอดภัยในช่วงที่ให้นมลูกหรือเปล่า ให้นมลูกกินยาอะไรได้บ้าง
-
ยาบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
เช่น ยา Pseudoephedrine คุณแม่ให้นมสามารถกินได้ ตัวยาผ่านน้ำนมน้อยมาก แต่พบว่าปริมาณน้ำนมอาจลดลงเล็กน้อยช่วงที่กินยา แต่พบเป็นส่วนน้อย และเป็นชั่วคราว
-
ยาแก้แพ้
- ชนิดที่ไม่ค่อยง่วง เมื่อกินยาแล้วคุณแม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้อย่างปลอดภัย เพราะตัวยาผ่านน้ำนมในปริมาณน้อยมากอย่างไรก็ตาม หากคุณแม่เป็นภูมิแพ้แล้วต้องใช้ยาแก้แพ้นาน เช่น ยา Cetirizine, Loratadine สมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา แนะนำว่าคุณแม่ควรพิจารณาหรือปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาพ่นที่จมูกแทนค่ะ
- ชนิดที่ทำให้ง่วง เป็นยาแก้แพ้กลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้น เช่น ยาลดน้ำมูก Chlorpheniramine อาจทำให้คุณแม่ง่วงหลังกิน รวมถึงอาจส่งผลให้ลูกน้อยที่กินนมแม่ง่วงซึมได้แต่การกินยาขนาดต่ำ (เช่น ครั้งละ 2-4 มิลลิกรัม) เป็นครั้งคราว ไม่พบว่าส่งผลต่ออาการง่วงซึมของลูก อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่กินยาตัวนี้อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้เล็กน้อยเช่นกัน หรือยาลดน้ำมูกรวมกับยาแก้คัดจมูก (pseudoephedrine) อาจทำให้ง่วง และเสมหะเหนียว คุณแม่ต้องดื่มน้ำมากๆ กรณีคุณแม่บางคนที่ร่างกายไวต่อยานี้มาก อาจมีผลกดการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมน้อยลงได้ ควรสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีปัญหาน้ำนมลดลง ให้หยุดยา ก็จะดีขึ้นได้ค่ะ
-
ยาฆ่าเชื้อ
กรณีคุณแม่ให้นมจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อที่ใช้รักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจบางชนิด เช่น Amoxicillin, Co-amoxiclav, ยากลุ่ม Cephalosporin ซึ่งยาเหล่านี้ผ่านน้ำนมในปริมาณที่น้อยมากเช่นกัน คุณแม่ให้นมสามารถกินได้ค่ะ
-
ยาลดไข้ แก้ปวด
เป็นยาสามัญประจำบ้านที่เราใช้กันบ่อยๆ เลยค่ะ เช่น พาราเซตามอล, Ibuprofen คุณแม่สามารถกินและให้นมต่อได้ โดยไม่มีผลต่อลูกน้อย
-
ยาแก้ไอ
ยา dextromethorphan บรรเทาอาการไอ เป็นยากลุ่มที่คุณแม่สามารถกินและให้นมต่อได้ โดยไม่มีผลต่อลูกค่ะ
ยารักษาตามอาการที่แม่ให้นมกินได้ |
|
ยาบรรเทาอาการปวดลดไข้ | Paracetamol, Ibuprofen |
ยาบรรเทาอาการหวัด ลดน้ำมูก | Cetirizine, Loratadine |
ยาบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก | Pseudoephedrine |
ยาบรรเทาอาการไอ | Dextromethorphan |
ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน | Domperidone |
ทั้งนี้ สิ่งที่คุณแม่ให้นมควรระวังคือ เมื่อมีอาการป่วย ควรแยกที่นอนกับลูก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยอาจให้ลูกนอนในคอกกั้นใกล้พอที่คุณแม่จะเอื้อมไปอุ้มได้สะดวกเวลาให้นม
ยาต้องห้ามสำหรับแม่ให้นม
ในความเป็นจริงแม่ให้นมสามารถกินยาได้เมื่อมีอาการป่วยค่ะ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วยาจะออกทางน้ำนมน้อยมาก เพียงไม่ถึง 1% ของปริมาณยาที่แม่ได้รับ แม้ยาบางชนิดอาจมีผลต่อน้ำนมบ้าง แต่การให้ทิ้งช่วงให้นม กินยาหลังให้ลูกกินนมอิ่มแล้ว หรือกินในช่วงที่ลูกจะหลับยาว ก็ช่วยให้ระดับยาในเลือดและในน้ำนมแม่ลดลงไปมากในมื้อถัดไปจนไม่เป็นอันตรายต่อลูก อย่างไรก็ตาม ยังมียาบางชนิดที่เป็น ยาต้องห้ามสำหรับแม่ให้นม อาทิ
- ยาทางจิตเวชบางตัว
- ยาแก้ปวดกลุ่ม opioid ที่อาจทำให้ลูกน้อยง่วงซึม และกดการหายใจ
- ยารักษาโรคลมชักบางตัว เช่น ยากันชัก Phenobarbital
- สารกัมมันตรังสี กรณีที่คุณแม่ต้องรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษด้วย Iodine-131 ซึ่งหลังรับยาแล้ว 2 เดือน ก็สามารถกลับมาให้นมแม่ได้
- ยาเคมีบำบัด ยาต้านมะเร็ง
- คลอแรมเฟนนิคอล (Chloramphenicol) เตตราซัยคลิน (Tetracycline) ซึ่งเป็นยากลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อ ที่ให้เป็นเวลานานๆ
- ยาในกลุ่มที่ใช้ในการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อะมิโอดาโรน Amiodarone,
- ยากลุ่มยับยั้งการอักเสบ Gold salts ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงยาคุมกำเนิดชนิดที่เป็นฮอร์โมนรวม ซึ่งจะกดการสร้างน้ำนมในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอด โดยหลัง 6 เดือนไปแล้ว เมื่อน้ำนมแม่สร้างได้เต็มที่ก็สามารถให้นมแม่ได้
แม้จะมี คู่มือเลือกยาสำหรับแม่ให้นม นี้แล้ว แต่หากคุณแม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการป่วยใดๆ ก็ตาม คุณแม่ไม่ควรซื้อยามากินเองนะคะ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนเสมอ และต้องแจ้งทุกครั้งว่ากำลังให้นมลูก เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคุณแม่และลูกน้อยค่ะ
ที่มา : www.fascino.co.th , www.sikarin.com , pharmacy.mahidol.ac.th , thaibf.com , samitivejchinatown.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ให้นมลูกกินยาแก้อักเสบได้ไหม ส่งผลต่อน้ำนมและลูกน้อยหรือเปล่า
ให้นมลูกน้ำหนักไม่ลด ทำไงดี ลดน้ำหนักแม่หลังคลอดอย่างปลอดภัย
ปั๊มนมเป็นเลือด อันตรายมั้ย ลูกกินได้หรือเปล่า