ท้องแข็ง มีอาการอย่างไร
ท้องแข็ง เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก โดยคุณแม่จะรู้สึกตึงมากบริเวณหน้าท้องในช่วงสั้นๆระยะเวลาเป็นวินาทีอยู่เป็นช่วงๆ และมีช่วงพักเป็นนาทีเมื่อมดลูกคลายตัว แม่ท้องที่มีอาการบางคนอาจมีอาการท้องแข็งราวๆ 10 นาทีต่อครั้ง และมีอาการติดกันอยู่ 4 – 5 ครั้งได้
อาการท้องแข็งเป็นอาการที่พบได้ในช่วงของการตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย หรือในแม่ท้องที่มีอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งในบางครั้งก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้นะครับ
อาการท้องแข็งมีลักษณะแบบไหนบ้าง
ท้องแข็งเพราะลูกน้อยโก่งตัว
ท้องแข็ง ในความหมายของคุณหมอนั้น มักจะหมายถึงการบีบตัวของมดลูก ซึ่งหากมีการบีบตัวตอนท้องครบก็ไม่เป็นไรครับ แต่หากว่ามีการบีบตัวแข็งก่อนวัยอันควร ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
อาการท้องแข็งเพราะลูกโก่งตัวจะมีลักษณะ แข็งบ้างนิ่มบ้างเป็นบางที่ การที่คุณแม่รู้สึกแบบนั้นเป็นเพราะลูกที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่นั้นมีอวัยวะหลายอย่างที่เป็นส่วนนูนแข็ง เช่น แขน ขา หรือหัวเข่า เพราะฉะนั้น เวลาที่คุณแม่ลูบๆคลำๆ เจอส่วนที่แข็งบ้าง หรือเลื่อนไปอีกนิดก็อาจจะเจอส่วนที่นิ่มบ้าง แบบนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะเกิดจากการโก่งตัวของเด็ก ไม่มีอันตรายอะไรครับ
ท้องแข็งเพราะกินอิ่ม
หลังจากกินอิ่ม แม่ท้องบางคนอาจจะมีอาการท้องแข็ง พอนั่งไปสักพักก็จะหายไปเอง อาการแบบนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีอายุครรภ์มาก เพราะความจุของช่องท่องที่มีจำกัดของคุณแม่ ยิ่งท้องใหญ่ขึ้นเท่าไร มดลูกก็จะใหญ่ตามจนไปเบียดกับอวัยวะอื่นๆ เช่นกระเพาะอาหาร หรือลำไส้จนแน่นไปหมด พอกินอะไรเข้าไปก็จะรู้สึกแน่นไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ตัวเล็กๆสั้นๆ ก็จะมีอาการแบบนี้ง่ายเป็นพิเศษ
อาการท้องแข็งแบบนี้ไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดนะครับ โดยมากจะเป็นความรู้สึกแน่นท้องมากกว่า ถ้าไปพบคุณหมอเมื่อจับมดลูกดูก็จะพบว่า ท้องไม่ค่อยแข็ง ไม่ได้เกิดจากมดลูกมีการบีบตัว หรือเรียกว่าอาการท้องตึงมากกว่า คำแนะนำที่ช่วยลดอาการนี้ คือ ควรกินอาหารอ่อน ย่อยง่ายๆ แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ รับประทานครั้งละน้อยๆ หลังทานแล้วก็ต้องนั่งให้เรอออกมาก่อน แล้วพยายามอย่าให้ท้องผูก ควรถ่ายเป็นประจำทุกวันปล่อยของเก่าออกไปบ้างจะได้แน่นน้อยลงครับ
ติดตามอาการท้องแข็งแบบที่เป็นอันตรายได้ในหน้าถัดไปครับ
ท้องแข็งเพราะมดลูกบีบตัว
อาการท้องแข็งแบบนี้ มดลูกในท้องของคุณแม่จะมีอาการแข็งทั้งหมด ไม่แข็งเป็นบางจุดเหมือนอาการท้องแข็งเพราะเด็กโก่งตัว โดยท้องแข็งแบบที่มดลูกมีการบีบตัวจะมีอาการปวดท้องเหมือนปวดประจำเดือน อาการท้องแข็งแบบนี้นี่แหละครับที่มักมีปัญหา
อาการท้องแข็งเพราะมดลูกบีบตัวจะพบได้บ่อยที่สุดในช่วงที่มีอายุครรภ์ราวๆ 32 สัปดาห์ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นระยะที่ลูกในท้องดิ้นมากที่สุด ซึ่งจากการที่ลูกดิ้นมากๆนั้น ก็อาจจะมีส่วนไปกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้นจนอาจทำให้เกิดอาการท้องแข็งได้
แต่หากว่าคุณแม่มีอาการท้องแข็งบ่อย และถี่ขึ้น ไม่ได้แข็งเป็นบางจุด และบางทีรู้สึกแข็งมาก หรือแข็งจนรู้สึกแน่นหายใจไม่ออก และอาการไม่ดีขึ้น อาการแบบนี้ถือว่าอันตรายและควรจะรีบไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด เพราะหากท้องแข็งแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษา มดลูกจะบีบตัวจนปากมดลูกเปิดตามมาด้วยการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้ครับ
ท้องแข็งจากสาเหตุอื่นๆ
จริงๆแล้วสาเหตุของอาการท้องแข็งนั้นมีมากมายนอกเหนือจากการบีบรดตัวของมดลูกโดยอาจเกิดจากคุณแม่ไม่แข็งแรง สุขภาพไม่ดี อาจเป็นเบาหวาน ความดันสูง หรือ เหตุอาจเกิดจากมดลูกไม่แข็งแรง มดลูกมีโครงสร้างไม่ปกติ มีเนื้องอกของมดลูก หรือ เกิดจากครรภ์แฝด เด็กตัวใหญ่ น้ำคร่ำมาก หรือ แม้แต่มีตกขาว มีการอักเสบของปากมดลูกก็เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยๆครับ
การดูแลเพื่อไม่ให้ท้องแข็ง
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ หากปวดปัสสาวะให้เข้าห้องน้ำทันที เพราะการกลั้นปัสสาวะนานๆ อาจทำให้เกิดอาการท้องแข็งได้
- ไม่ควรรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้อิ่มจนเกินไป เพราะอาหารที่มากไป ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ รวมทั้งอาหารไม่ย่อย อย่าลืมว่าช่วงตั้งครรภ์ระบบการย่อยอาหารจะทำงานได้ไม่ดีเท่าช่วงก่อนตั้งครรภ์
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย เพราะบางท่าของการร่วมรักอาจไปกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวขึ้นมาได้
- ไม่ควรลูบท้องบ่อยๆ หรือสัมผัสกับอวัยวะที่ไวต่อการกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว เช่น บริเวณหน้าอก เต้านม เป็นต้น
หากคุณแม่รู้สึกว่าท้องแข็งมาก และแข็งถี่มากกว่าปกติ หรือเดี๋ยวแข็งเดี๋ยวหายติด ๆ กันเป็นชุด ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอาการได้ทันท่วงทีนะครับ
ขอบคุณที่มาและรูปภาพจาก
fitpregnancy.com
นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!