ลูกในท้องนอนตอนไหน ตื่นตอนไหน
ลูกในท้องนอนตอนไหน ตื่นตอนไหน แม่ท้องอยากรู้
ทารกในครรภ์นั้น มักจะนอนไม่เป็นเวลา โดยที่เขาจะหลับๆตื่นๆอยู่ตลอด ไม่มีเวลากลางวันและกลางคืน และส่วนใหญ่ ทารกในครรภ์แม่ จะใช้เวลานอนประมาณ 20 ชั่วโมง ต่อวัน การตื่นของทารกในครรภ์เกิดขึ้นไม่เป็นเวลา และลูกจะตื่นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
ด้วยความที่สภาวะแวดล้อมในครรภ์ของคุณแม่นั้น ทั้งมืด ทั้งอบอุ่น จึงเหมาะสมกับการนอนของทารกเป็นอย่างยิ่ง และลูกในท้องของคุณแม่ จะได้ยินเสียงหัวใจ เสียงท้องร้อง และเสียงพูดของคุณแม่ ที่จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ
นอกจากนี้แล้ว ลูกน้อยในครรภ์นั้นยังได้รับสารอาหารต่าง ๆ ผ่านทางสายสะดือที่เชื่อมต่ออาหาร ทำให้ไม่รู้สึกหิว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลทึ่ทำให้ลูกน้อยนอนหลับได้อย่างสบายใจ
ลูกน้อยในครรภ์ของแม่ท้องหลาย ๆ คนก็อาจจะชอบนอนกลางวัน และตื่นตอนกลางคืน เพราะในช่วงกลางคืน ในขณะที่คุณแม่นอนหลับ จะมีพื้นที่ให้ลูกน้อยได้ขยับตัวมากกว่าเดิม แถมช่วงกลางวัน หากแม่ท้องมีการเคลื่อนไหว หรือการเดิน ก็จะยิ่งทำให้ลูกน้อยรู้สึกเหมือนกำลังนอนโยกเยก ทำให้น่าหลับมากขึ้นไปอีก
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับการนอนของทารกในครรภ์
ในช่วงที่มีอายุครรภ์ได้ประมาณ 7 เดือน ตัวอ่อนในครรภ์จะมีการสร้างสมองเพียงพอให้เกิดการหลับแบบ REM (Rapid Eye Movement) และเด็กทารกเริ่มมีกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการมองเห็น และการได้ยิน จนในช่วงตั้งครรภ์ครบ 8 เดือน ทารกก็จะเริ่มนอนหลับแบบ non-REM หรือแบบหลับสนิทได้แล้ว
และบางครั้ง เมื่อแม่ท้องทำอัลตราซาวนด์ 4 มิติ แล้วคุณแม่ได้เห็นลูกน้อยกำลังนอนยิ้มอยู่ นั่นก็เป็นเพราะว่ากล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าเกิดอาการกระตุก หรือมีการดึงนั่นเองครับ
ทำไมลูกในท้องชอบดิ้นตอนกลางคืน
ได้มีการศึกษาค้นคว้าจากสมาคมคุณแม่ตั้งครรภ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สาเหตุที่ทารกในครรภ์มักจะดิ้นในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน ก็เพราะว่า ในเวลากลางวันนั้น คุณแม่จะไม่ค่อยอยู่เฉย มีการเคลื่อนไหวตัวตลอดเวลา ทำให้ทารกชอบที่จะหลับในช่วงเวลานั้น แต่พอตกกลางคืน คุณแม่เคลื่อนไหวน้อยหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ น้อยลง เวลานี้นี่แหละ ที่ทารกในครรภ์จะตื่น และดิ้นมากในตอนกลางคืนอย่างที่คุณแม่รู้สึกนั่นเอง แต่ถ้าหากแม่ท้องรู้สึกว่า ลูกดิ้นแรงและบ่อยมากช่วงกลางคืน จนทำให้คุณแม่ไม่สามารถพักผ่อนได้เลยนั้น แนะนำให้แม่ท้องหาเวลางีบหลับในช่วงระหว่างวันสัก 10 – 15 นาทีบ้าง ก็จะช่วยทำให้ดีขึ้นได้ครับ
แหล่งข้อมูล momjunction
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
วิธีนับลูกดิ้น นับอย่างไร ถึงจะรู้ว่าลูกปลอดภัย ไม่เสียชีวิตในครรภ์
วิธีกระตุ้นการรับรู้และอารมณ์ของลูกในครรภ์ ช่วยลูกคลอดมาแล้วเลี้ยงง่าย อารมณ์ดี มีความสุข
6 นิสัยคุณแม่ก่อนคลอด ที่ทำให้ลูกเกิดมาฉลาด