เมื่อลูกน้อยวัยทารกเริ่มคลานเก่ง พัฒนาการต่อมาก็คือการเริ่มเกาะเพื่อยืนหรือเดินนั่นเองค่ะ โดยเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญกับเด็ก ๆ เพราะเป็นก้าวแรกแห่งการเริ่มต้น จึงไม่แปลกใจหากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะตื่นเต้นและดีใจกับพัฒนาการที่สำคัญนี้ ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อที่ว่า ลูกหัดเดินเร็วเกินไป อาจจะส่งผลให้เดินมีภาวะขาโก่งได้
เพื่อช่วงเวลาที่สำคัญของครอบครัว วันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจกับการเดินก้าวแรกของลูกน้อย และภาวะขาโก่งที่ควรสังเกต เพื่อเป็นการเรียนรู้และเข้าใจไปพร้อม ๆ กันค่ะ
เตรียมพร้อมเตาะแตะ ลูกเดินก้าวแรก
เด็กโดยทั่วไปจะเดินในช่วงอายุประมาณ 1 ขวบ อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ไม่กี่เดือน เพราะเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการเร็วหรือช้าต่างกัน พ่อแม่อย่ากังวลใจไปนะคะ ถ้าเห็นลูกบ้านอื่นเดินได้แต่ลูกเราเพิ่งจะเกาะยืน
วิธีสอนลูกหัดเดิน
ก่อนอื่นเมื่อลูกสนุกกับการเคลื่อนที่ด้วยการคลาน และนั่งทรงตัวได้เองแล้ว ก็ให้ลองจัดพื้นที่ให้ลูกหัดเกาะยืนเกาะเดินดูบ้าง โดยจัดเฟอร์นิเจอร์สูงระดับที่เขาเกาะยืนและเดินไปรอบ ๆ ได้สะดวก เช่น โต๊ะ เตียง เก้าอี้ แต่ต้องระวังไม่ให้มีเหลี่ยมมุมคม ๆ ที่จะเป็นอันตราย และเฟอร์นิเจอร์ก็ควรแข็งแรง มั่นคง รับแรงคว้าของเด็ก ซึ่งหมายถึงน้ำหนักตัวที่รั้งขึ้นยืนนั้นได้ เพื่อความปลอดภัย
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกหัดเดิน เมื่อไหร่ลูกจะเดินได้สักที
เมื่อลูกน้อยเกาะยืน และสามารถรั้งตัวขึ้นยืนเองได้ชำนาญแล้ว ทีนี้เขาก็จะสนุกกับการเกาะเดินไปรอบ ๆ โดยตัวกระตุ้นสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือเสียงเชียร์จากพ่อแม่ ของเล่นตัวโปรด หรือข้าวของแปลก ๆ ใหม่ ๆ เป็นของหลอกล่อให้หนูน้อยเดินมาหา
และเมื่อลูกเกาะเดินได้คล่องก็ถึงเวลาที่เขาจะลองเดินเองดูบ้าง โดยเด็ก ๆ จะเดินได้เร็วส่วนหนึ่งมาจากความมั่นใจหากพ่อแม่หรือคนเลี้ยง ได้ช่วยจับมือฝึกเขาเดินทุกวัน ๆ และอาจเกิดจากการเห็นเด็กในวัยไล่เลี่ยกันเดิน ทำให้ลูกน้อยอยากเลียนแบบเด็กคนอื่นดูบ้าง
ช่วงเวลาสนุกหัดให้ลูกน้อยเดิน
พ่อแม่จับมือทั้งสองข้างของลูก ให้ลูกอยู่ข้างหน้า หันหน้าออก แล้วพ่อแม่อยู่ข้างหลัง แล้วค่อย ๆ ให้ลูกก้าวไปข้างหน้าที่ละก้าว พ่อแม่ก็ค่อย ๆ เดินตาม แต่ต้องระวังจะเหยียบเท้าน้อย ๆ ของลูกด้วย ให้ลูกพาพ่อแม่เดินไปในที่ที่เขาสนใจอยากดูหรืออยากไป (ถ้าเด็กคนไหนยังทรงตัวได้ไม่ดีแนะนำให้จับรักแร้แทนจับมือค่ะ) หรือบางทีก็ให้พ่อแม่หรือคนในครอบครัวยืนอยู่ที่ปลายทาง ให้ลูกอยากจะเดินไปหา
โดยเฉพาะเมื่อเราไปในสถานที่แปลก ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ลูกจะตื่นเต้นมาก แล้วก็อยากเดินไปไหนต่อไหนเอง เขาจะนำพ่อแม่เดินไปที่นั่นที่นี่อย่างไม่รู้เหนื่อยเลยค่ะ การจับลูกเดินนี้จะช่วยให้ลูกจะเดินได้เต็มเท้า และรู้จักวิธีการทรงตัวได้เร็วมาก พอลูกเริ่มเดินด้วยการจับข้อมือทั้งสองข้างคล่องแล้ว เขาก็จะสะบัดมือพ่อแม่ออกข้างหนึ่ง แล้วให้เราจูงมือเขาข้างเดียว เพื่อที่อีกมือจะได้หยิบจับสิ่งของที่ต้องการได้ และท้ายที่สุดเขาจะเดินโดยปล่อยมือทั้งสองที่จับพ่อแม่อยู่ได้เองเลยค่ะ
นอกจากนี้มีอีกวิธีหนึ่งสำหรับเด็กที่เริ่มตั้งไข่ได้ หรือยืนได้บ้างแล้ว ให้พ่อแม่หันหน้าเข้าหาลูก ยืนห่างจากลูกไม่กี่ก้าว และให้ลูกเดินมาหา อย่าลืมส่งเสียงเรียกชื่อลูก เชียร์ดัง ๆ และถ้าลูกทำได้ก็ปรบมือให้กำลังใจ และยิ้มกว้าง ๆ ให้ด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูก เมื่อลูกเริ่มเดินเก่งก็ค่อย ๆ ปล่อยมือและแอบถอยหลังไปทีละนิด ๆ เพื่อให้เขาเดินได้ในระยะที่ไกลขึ้น และแน่นอนเมื่อลูกทำได้ต้องโอบกอด ชมเชย และปรบมือให้ดัง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝึกลูกหัดเดิน ให้ลูกเดินเป็นเร็ว ๆ ฝึกให้เด็กเดินเร็ว ส่งผลดีต่อเด็กมากกว่าที่คิด
คำแนะนำเพิ่มเติม
ในการสอนลูกหัดเดินนั้น ควรให้ลูกเดินดินเท้าเปล่าดีที่สุด เพราะเด็กจะได้รับความรู้สึกจากฝ่าเท้า ซึ่งมีผลต่อการทรงตัว ดังนั้นการเดินในบ้าน ควรให้เขาฝึกเดินที่พื้นเรียบ ไม่ขรุขระ แข็ง หรือเย็นจนเกินไป ถ้าเขาเริ่มเดินได้ดีแล้วอยากเดินนอกบ้าน ก็ควรใส่รองเท้า เพื่อป้องกันอันตรายให้เท้าน้อย ๆ ด้วยค่ะ
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ควรเร่งเด็กเพื่อที่เขาจะยืนเร็ว ๆ หรือเดินเร็ว ๆ เพราะที่สุดแล้ว เมื่อลูกพร้อม เด็กจะยืนจนได้ด้วยตัวของเขาเอง หากแต่การเร่งให้เด็กยืนหรือเดินเร็ว ๆ อาจส่งผลให้พัฒนาการของเขาช้ากว่าที่ควรจะเป็นก็ได้นะคะ เพราะเขาจะรู้สึกแย่ ไม่มั่นใจ และฝังใจกับการล้มบ่อย ๆ อาจทำให้กลัวการยืนหรือเดินได้ค่ะ
ทำความเข้าใจภาวะขาโก่งในเด็ก
ภาวะขาโก่ง (bowed leg) เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยส่วนมากผู้ปกครองมักสังเกตเห็นได้มากในช่วงที่เด็กเริ่มเดินที่อายุประมาณ 1 ปี ซึ่งภาวะขาโก่งในเด็กอาจพบได้ทั้งที่เป็นขาโก่งตามธรรมชาติ (physiologic bowed leg) ที่สามารถหายได้เอง หรือภาวะขาโก่งแบบที่เป็นโรค (pathologic bowed leg) ที่อาจมาจากหลายสาเหตุและจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองอาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะขาโก่งในบุตรหลานได้โดย ระวังไม่ให้เด็กมีภาวะอ้วนที่เป็นความเสี่ยงสำคัญของภาวะขาโก่ง และไม่พยายามกระตุ้นให้เด็กเดินเร็วเกินวัยเช่นการใช้รถเข็นหัดเดิน(baby walker) เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มแล้วยังอาจทำให้เด็กขาโก่งหรือติดเดินเขย่งเท้าได้ หากพบว่าบุตรหลานมีภาวะขาโก่งหากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันเวลาและเหมาะสม
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับภาวะขาโก่งหาก ลูกหัดเดินเร็วเกินไป
ในการรักษาผู้ป่วยเด็กขาโก่งนั้นพบว่ายังมีความเชื่อผิด ๆ อยู่หลายประการเช่น
1. ลูกขาโก่งเพราะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
ความเชื่อนี้ไม่จริง อาจเป็นเพราะช่วงที่เด็กยังเล็กเมื่อใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะเห็นว่าขาโก่งแต่นั่นเป็นภาวะขาโก่งตามธรรมชาติของเด็กเล็กอยู่แล้ว และไม่มีรายงานทาวการแพทย์ที่พบว่าการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคขาโก่งได้
2. อุ้มลูกเข้าเอวทำให้ขาโก่ง
เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริง การอุ้มลูกนั้นไม่ว่าท่าใดก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดขาโก่ง
3. การดัดขาหรือใช้ผ้ารัดขาเด็กช่วยให้ขาหายโก่ง
เป็นความเชื่อที่เชื่อกันมากแต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นความจริง อาจเนื่องมาจากการที่ในอดีตมีผู้ปกครองที่สังเกตว่าลูกขาโก่งแล้วพยายามดัดหรือใช้ผ้ารัดขาคู่กันแล้วพบว่าต่อมาเด็กขาโก่งลดลง แต่ในความเป็นจริงเกิดจากเด็กเป็นภาวะขาโก่งตามธรรมชาติ ซึ่งจะดีขึ้นได้เองอยู่แล้วเมื่อเด็กโตมากขึ้นแม้ไม่ได้รับการรักษาใด ๆ ทำให้ดูเหมือนการดัดขาได้ผล ลดการขาโก่งได้ แต่ถ้าหากเป็นภาวะขาโก่งที่เป็นโรคการดัดขาหรือการใช้ผ้าพันจะไม่สามารถรักษาได้และทำให้เด็กเกิดความเจ็บปวดรวมถึงอาจทำให้เกิดกระดูกหักได้ และยิ่งได้รับการรักษาที่เหมาะสมล่าช้าออกไปจึงไม่ควรดัดขาลูก
เป็นเรื่องปกติค่ะ หากลูกน้อยของเราเริ่มต้นเดินก้าวแรกในช่วง 1 ขวบ บ้างอาจจะช้าเร็วไม่เท่ากัน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเด็ก ไม่จำเป็นต้องบีบบังคับให้ลูกต้องเดินให้ได้โดยทันที เพราะเมื่อเวลาผ่านไป หลังจากผ่านการเกาะเดินได้อย่างคล่องแคล่ว ตามพัฒนาการของเจ้าตัวแล้ว ลูกของคุณพ่อคุณแม่ จะพร้อมเดินจนอาจจะตามจับไม่ทันก็ได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เคล็ดลับคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ เสริมพัฒนาการเด็ก 2 เดือน มาดูกันเถอะ!
3 สารอาหารสำคัญ สุดยอดเคล็ด(ไม่)ลับ เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย ให้เขาเก่งกว่าใคร
ข้อเท็จจริงที่พ่อแม่อาจจะไม่รู้ เกี่ยวกับ วิธี การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กอายุ 6-12 ปี
ที่มา : synphaet