ตรวจปัสสาวะคนท้อง ถูกนำมาใช้เพื่อประเมินภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไต เบาหวาน ภาวะขาดน้ำ และครรภ์เป็นพิษ โดยตรวจคัดกรองจาก ระดับน้ำตาล โปรตีน คีโตน และแบคทีเรียในปัสสาวะ ซึ่งมักจะตรวจพบตั้งแต่ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป
การตรวจปัสสาวะทำอย่างไร
คุณแม่สามารถเก็บปัสสาวะในเวลาใดก็ได้ โดยจะได้รับกระปุกเล็กๆ สำหรับเก็บปัสสาวะ วิธีเก็บปัสสาวะให้ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้งจากด้านหน้าไปด้านหลัง ปัสสาวะทิ้งช่วงต้นไปเล็กน้อย เก็บปัสสาวะในช่วงถัดมาประมาณครึ่งกระป๋อง
โดยตัวอย่างปัสสาวะของคุณแม่จะถูกทดสอบทางเคมีซึ่งมักจะได้รับผลทันที แต่หากต้องวิเคราะห์มากขึ้นจำเป็นต้องส่งปัสสาวะไปยังห้องแล็บเพื่อทดสอบเพิ่มเติม
การตรวจปัสสาวะบอกอะไรได้บ้าง
การตรวจปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์ น้ำตาล
โดยปกติ ในปัสสาวะของคนท้องจะพบน้ำตาล (กลูโคส) อยู่น้อยมาก หรือไม่พบเลย แต่หากคุณแม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป อาจทำให้พบน้ำตาลในปัสสาวะได้ ซึ่งการพบน้ำตาลในปัสสาวะเช่นนี้เป็นสัญญาณของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น เนื่องจากฮอร์โมนของแม่ท้องไปทำลายความสามารถของร่างกายในการใช้อินซูลิน ซึ่งเป็นสารเคมีในร่างกายที่จะเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน
ในการตรวจหาโรคเบาหวานช่วงตั้งครรภ์ จะทำระหว่างสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ โดยการกลืนกลูโคส และตรวจเลือดหลังจากกลืนกลูโคส หนึ่งชั่วโมง
บทความแนะนำ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
หากคุณแม่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จำเป็นต้องควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด ลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (น้ำตาลหรือแป้ง) และเพิ่มอาหารจำพวกโปรตีน (เนื้อสัตว์) และผักให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักจำพวกใบเพราะมีใยอาหารและวิตามินมาก ดื่มนมสดรสจืดและพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย งดหรือหลีกเสี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยปรึกษาแพทย์ถึงการออกกำลังกายที่ไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ และหมั่นตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง แต่หากการควบคุมอาหารดังกล่าวไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องใช้ยาอินซูลินฉีดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล
คุณแม่ท้องที่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ถ้าควบคุมน้ำตาลอย่างเคร่งครัดก็สามารถให้กำเนิดลูกน้อยสุขภาพดีได้ แต่หากคุณแม่ปล่อยทิ้งไว้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง คลอดก่อนกำหนด แท้ง หรือพิการแต่กำเนิด รวมทั้งทารกอาจมีน้ำหนักตัวมากทำให้คลอดลำบาก และมีโอกาสเกิดอันตรายระหว่างการคลอดได้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่คุณแม่มีระดับน้ำตาลในปัสสาวะสูงนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเบาหวานในคนท้องเสมอไป หากคุณแม่ดื่มน้ำหวาน หรือรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนมาตรวจก็อาจเป็นสาเหตุให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งคุณหมอจะนัดให้คุณแม่กลับมาตรวจซ้ำอีกครั้งในภายหลัง
-
การตรวจปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์ โปรตีน
โปรตีนในปัสสาวะสามารถบ่งบอกถึงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI) การติดเชื้อที่ไตหรือโรคไตเรื้อรัง หากพบโปรตีนในปัสสาวะช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ร่วมกับความดันโลหิตสูง อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของอาการครรภ์เป็นพิษ และเพิ่มความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่อแม่และลูกน้อย
หากคุณแม่มีโปรตีนในปัสสาวะแต่ความดันโลหิตปกติ คุณหมออาจให้คุณแม่เก็บปัสสาวะส่งตรวจ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโปรตีนที่พบหรือไม่ หากตรวจพบการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมต่อไป
แต่หากคุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและนอนพักเพื่อลดระดับความดันโลหิต และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอาจรอจนครบกำหนดคลอด แล้วจึงกระตุ้นให้คลอด แต่หากมีอาการครรภ์เป็นพิษรุนแรงคุณหมออาจให้ยากระตุ้นคลอดหรือผ่าคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากการคลอดคือหนทางเดียวที่จะรักษาอาการครรภ์เป็นพิษได้
-
แบคทีเรีย
การพบแบคทีเรียในปัสสาวะเป็นสัญญาณของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI) หากได้รับการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้อง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา แต่หากปล่อยไว้ อาจแพร่กระจายไปยังไต และเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดทารกน้ำหนักน้อย หรือทารกคลอดก่อนกำหนดได้
การตรวจปัสสาวะด้วยแถบทดสอบไม่สามารถตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย แต่สามารถพบเอนไซม์ที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แถบทดสอบยังสามารถตรวจพบไนไตรต์ในปัสสาวะซึ่งจะหลั่งมาจากแบคทีเรียบางชนิดอีกด้วย
แพทย์จึงมักส่งตรวจปัสสาวะเพื่อวิเคราะห์หาชนิดของแบคทีเรีย และจะจ่ายยาปฏิชีวนะที่มีความปลอดภัยต่อคุณแม่ท้อง เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่พบก่อนที่การติดเชื้อจะลุกลามเป็นอันตรายมากขึ้น
บทความแนะนำ แม่ท้องกลั้นปัสสาวะ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
-
คีโตน
เมื่อร่างกายใช้ไขมันในการให้พลังงานจะทำให้เกิดคีโตนขึ้นมาและไหลออกทางปัสสาวะ การพบคีโตนในปัสสาวะเป็นจำนวนมากอาจหมายถึงสถานการณ์ที่ร้ายแรง เช่น มีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน หรือที่เรียกว่า ดีเคเอ (Diabetic ketoacidosis : DKA) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายถึงชีวิตซึ่งพบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้อาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตต่ำ การอดอาหาร หรือการอาเจียนอย่างรุนแรงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดคีโตนในปัสสาวะได้เช่นกัน
หากแพทย์ตรวจพบคีโตนในปัสสาวะคุณแม่ท้อง อาจเนื่องมาจากได้รับอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งคีโตนจะหายไปเมื่อได้รับอาหาร อาการเช่นนี้ไม่เป็นอันตราย แต่หากคุณแม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง คุณอาจจำเป็นต้องได้รับสารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ
โปรตีน น้ำตาล แบคทีเรีย และคีโตนในปัสสาวะอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณและลูกน้อยได้ คุณแม่ท้อจึงต้องได้รับการตรวจปัสสาวะเป็นประจำ เพื่อให้สามารถป้องกันและรักษาได้ทันท่วงทีหากพบความผิดปกติค่ะ
ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 20 มีอาการอย่างไรบ้าง
นอกจากการ ตรวจปัสสาวะคนท้อง คนท้องที่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง มาดูกัน
พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 20
- ผิวของลูกน้อยหนาขึ้นแล้ว และกำลังพัฒนาชั้นผิวหนังในสัปดาห์นี้
- ทารกบางคนลืมตาได้แล้วนะ
- ลูกน้อยกำลังกลืนน้ำคร่ำจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกับระบบย่อยอาหารของลูก
- ในร่างกายของลูกมี ขี้เทา ( meconium) เกิดจากการกลืนน้ำคร่ำ รวมกับพวกน้ำย่อย น้ำดี ทำให้เกิดเป็นสีดำมีลักษณะเหนียวข้น ซึ่งขี้เทานี้จะสะสมอยู่ในลำไส้ของลูก แล้วทารกก็จะถ่ายขี้เทาหลังคลอด หรืออาจถ่ายขี้เทาออกมาปนในน้ำคร่ำได้
- ตุ่มรับรสของทารก รับรู้รสชาติได้แล้วนะแม่
- ถ้าแม่อุ้มท้องลูกสาว มดลูกของลูกจะสร้างขึ้นแล้ว ขณะที่ร่างกายอยู่ในระหว่างพัฒนาช่องคลอด แต่หากแม่อุ้มท้องลูกชาย ร่างกายจะเริ่มมีการเคลื่อนย้ายอัณฑะ สำหรับถุงอัณฑะนั้นยังไม่ถูกสร้างขึ้น
อาการ ตั้ง ครรภ์ 20 สัปดาห์
- น้ำหนักของแม่ท้องจะขึ้นราว ๆ ครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์
- แม่ท้องจะนอนหลับไม่ค่อยสนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะยอดมดลูกอยู่ระดับสะดือแล้ว
- ความเมื่อยล้าและอาการแพ้ท้องที่เคยเกิดขึ้นตอนตั้งครรภ์ไตรมาสแรกหายไปแล้ว
- ความต้องการทางเพศจะกลับมา แม่ตั้งครรภ์ลองหาท่วงท่าที่ปลอดภัย สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ดูนะคะ
- แม่ท้องมักจะมีตกขาวระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามีอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติร่วมด้วย แม่ก็ต้องไปพบคุณหมอนะคะ
การดูแลตัวเองตอนท้อง 20 สัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ให้ดี อย่าให้น้ำหนักน้อยเกินไปจนกระทบต่อลูกในท้อง หรือปล่อยตัวจนน้ำหนักมากไปก็เพิ่มความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ของแม่ได้นะ
- ระหว่างตั้งครรภ์แม่ท้องต้องออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอาการปวดของร่างกาย
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://consumer.healthday.com/, https://www.si.mahidol.ac.th/, https://haamor.com/
บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ
5 อาการแทรกซ้อนแบบนี้ไม่ดีแน่แม่ท้องต้องระวัง
ระวัง! แม่ท้องขาดแคลเซียม อาจเป็นอันตรายต่อตัวเอง ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์
7 อาหารคนท้องเสีย ท้องเสียกินอะไรดี? พร้อมวิธีดูแลตนเองเบื้องต้น