สำหรับคุณแม่หลาย ๆ คนหลงรักการกินปลาเป็นชีวิตจิตใจ แต่พอตัวเองเริ่มตั้งท้อง ก็คงเกิดคำถามเกี่ยวกับโภชนาการของแม่ท้องอยู่บ้าง และคงกำลังสงสัยอยู่ว่า คนท้องกินปลาได้ไหม คนท้องกินปลาอะไรดี กินปลาดีแล้วอย่างไร ปลาชนิดไหนที่กินได้ และชนิดไหนที่ไม่ควรกิน วันนี้เรามีความรู้เรื่อง ปลา ๆ มาฝากกัน มาอ่านไปพร้อมกันได้เลย
คนท้องกินปลาได้ไหม
หากคุณแม่ชอบทานปลาอยู่แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะคนท้อง สามารถทานปลาได้ เพราะปลาให้สารอาหารที่ดีต่อร่างกายอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 DHA และ EPA ที่หาไม่ได้จากอาหารชนิดอื่น กรดไขมันโอเมก้าดังกล่าว มีส่วนช่วยให้เด็กในท้องมีพัฒนาการที่สมวัย นอกจากนี้ ปลายังมีไขมันต่ำ มีโปรตีนและวิตามินสูง ช่วยให้ร่างกายคุณแม่และลูกน้อยทำงานได้อย่างปกติ และช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ปลาเป็นอาหารที่หาทานได้ง่าย กินง่าย แถมยังนำไปทำอาหารได้หลาย ๆ เมนู เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับคนท้องที่รักสุขภาพ
ปลาชนิดไหนที่คนท้องกินได้บ้าง ควรกินปริมาณเท่าไหร่
ปลาที่คนท้องควรเลือกรับประทานปลา ควรเป็นปลาที่มีสารปรอทปะปนอยู่ในปริมาณน้อย เช่น
- ปลาทู
- ปลาพอลล็อก
- ปลาดุก
- ปลาเทราต์
- ปลาแซลมอน
- ปลาซาร์ดีน
- ปลาทูน่ากระป๋อง
- ปลากะพงขาว
- ปลาน้ำดอกไม้
- ปลาสำลี
- ปลากุเลา
- ปลาทรายแดง
- ปลาเก๋า
- ปลาจะละเม็ดดำ
- ปลาช่อน
- ปลาจีน
- ปลาสวาย
- ปลายี่สก
- ปลาทับทิม
- ปลานิล
- ปลาตะเพียน
- ปลาสลิด
- ปลากราย
สำหรับปริมาณปลาที่คนท้องควรทานต่อวัน คือ 340 กรัมต่อสัปดาห์ คุณแม่ควรทานอาหารอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย ไม่ควรทานเนื้อปลาเพียงอย่างเดียวจนไม่ทานอาหารชนิดอื่นเลย เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งนี้ คุณแม่ควรทานปลาที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น คนท้องไม่ควรกินปลาดิบเด็ดขาดเพราะอาจทำให้ติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์จนเป็นอันตรายได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินปลาร้าได้ไหม ? เกิดอะไรขึ้นกับคนท้องที่กินปลาร้า?
ปลาชนิดไหนล่ะ ที่คนท้องห้ามกิน
เมื่อมีปลาที่กินได้ ก็มีปลาที่ไม่ควรกินอย่างเด็ดขาด คนท้องไม่ควรรับประทานปลาอินทรี ปลาดาบ ปลาไทล์ฟิชจากอ่าวเม็กซิโก ปลากระโทง ปลาไหล และปลาฉลาม เพราะปลาเหล่านี้ มีปรอทสูง รวมทั้งยังมีสารปนเปื้อนอื่น ๆ ปะปนอยู่ หากทานเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้ลูกน้อยในท้องมีปัญหาด้านการพัฒนาการของระบบประสาท และทักษะด้านการพูด
ปลาช่วยไม่ให้เด็กในท้องเป็นโรคหอบหืดได้จริง ๆ หรือไม่
มีงานวิจัยพบว่า การรับประทานปลาแซลมอนอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ในขณะตั้งครรภ์ มีส่วนช่วยให้เด็กที่เกิดมาไม่เป็นโรคหอบหืด เพราะร่างกายจะเผาผลาญและนำกรดไขมันจากปลาแซลมอนไปใช้ประโยชน์ และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปลาแซลมอนก็ยังช่วยลดอาการอักเสบในร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งปลาแซลมอนที่คนท้องควรทานนั้น ควรจะมาจากแหล่งธรรมชาติ และควรเป็นปลาที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น ไม่ควรรับประทานขณะดิบอยู่นะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินปลาดิบได้ไหม กินยังไงถ้าอยากกิน กินแบบไหนให้ปลอดภัย
คนท้องกินปลาอะไรดี ?
เมนูปลาอร่อย ๆ มีมากมายหลายเมนูจนนับไม่ถ้วน ซึ่งเราก็ได้คัดเลือกเมนูที่ดีต่อสุขภาพมาให้คุณแม่แล้วดังต่อไปนี้
- สเต๊กปลาแซลมอน
- ปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว
- ปลากะพงนึ่งมะนาว
- ปลาช่อนผัดขิง
- ปลาทูทอด
- ปลาทูต้มเค็ม
- ปลาทูต้มมะดัน
- ปลาทับทิมทอดใส่ขิง
- ราดหน้าแซลมอน
- น้ำพริกปลาทู
- แซนด์วิชทูน่า
- แกงเลียงปลาทู
- ข้าวผัดปลาทู
- ลาบปลาดุก
- ปลาดุกย่าง น้ำปลาหวาน
- ห่อหมกปลาช่อน
- ต้มยำปลาช่อน
ข้อแนะนำในการรับประทานปลาระหว่างตั้งครรภ์
ตอนนี้คุณแม่หลาย ๆ คนคงอยากออกไปซื้อปลามารับประทานกันแล้ว เรามาดูกันก่อน ว่าควรทานปลาอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อครรภ์
- ไม่ทานปลาดิบโดยเด็ดขาด เพราะในช่วงท้อง ร่างกายคุณแม่อ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย และปลาดิบก็เป็นปลาที่มีเชื้อโรคอยู่เยอะ
- ให้ปรุงเนื้อปลาและอาหารชนิดอื่น ๆ ให้สุกเสมอ โดยใช้อุณหภูมิความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียส
- ไม่ควรรับประทานปลาหรืออาหารทะเลที่รมควันแช่เย็น
- ควรเลือกซื้อปลาจากแหล่งที่สะอาดและปลอดภัย
- เลือกซื้อปลาที่มีเนื้อแน่น กดแล้วไม่บุ๋ม และไม่มีกลิ่นเหม็น
- เลือกปลาที่เหงือกแดงสด ตากลมใส เกล็ดเป็นเงา ใต้ท้องปิดสนิท
- เน้นการปรุงอาหารด้วยการยำ ต้ม นึ่ง หรืออบ แทนการผัดและทอด
นอกจากการรับประทานปลาแล้ว คุณแม่ต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอนหลับให้เพียงพอ ขยับร่างกายบ่อย ๆ ทานอาหารให้หลากหลายและมีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด และหมั่นสังเกตว่าตัวเองมีอาการผิดปกติใด ๆ ช่วงนี้ไหม หากรู้สึกป่วย สามารถเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็กร่างกายได้ตลอดเลยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินปลากระป๋องได้ไหม กินปลากระป๋อง อันตรายไหม แม่ท้องอยากกินยำปลากระป๋อง
คนท้องออกกำลังกายได้ไหม ? ควรทำหรือไม่ในขณะตั้งครรภ์
6 อาการคนท้อง ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก 1-3 เดือน ที่ส่วนใหญ่ต้องเจอ!
ที่มา : ph.theasianparent , konthong , mamastory