คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่า คลอดลูกในน้ำดีอย่างไร แม้ยังไม่แพร่หลายในบ้านเรามากนักแต่นี่คือ การคลอดธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าที่คุณแม่หลายท่านแอบมีความกังวล ทราบไหมคะว่า การคลอดในน้ำลดความเจ็บปวดขณะคลอดของคุณแม่ได้ดี รักษากล้ามเนื้อจากแรงต้านทานของน้ำ รวมถึงอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสม ยังช่วยให้แม่และทารกรู้สึกผ่อนคลาย สร้างความสัมพันธ์อันดี ความผูกพันระหว่างครอบครัวอีกด้วย
คลอดลูกในน้ำดีอย่างไร ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
การคลอดลูกในน้ำเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ แม้ในเมืองไทยเองยังไม่นิยมมาก เนื่องจากคุณแม่ยังมีความกลัว และกังวลถึงความปลอดภัยของตนเองทารก จริง ๆ แล้วการคลอดลูกในน้ำนั้น มีความปลอดภัยสูง แถมยังช่วยลดแรงดันภายในร่างกาย ผ่อนคลายความเจ็บปวดขณะคลอดได้ดี
ที่สำคัญช่วยให้คุณแม่คลอดง่ายกว่าการคลอดลูกแบบธรรมชาติทั่วไปและการผ่าคลอด เมื่อน้ำประสานกับสารเอ็นดอร์ฟินที่หลังออกมาขณะคลอดแล้ว จะไปช่วยยับยั้งประสาทที่รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด ไม่ให้ไปสู่สมองส่วนนอก ส่วนทารกนั้นเขาจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง ดังนี้คือ
- หลังจากที่ทารกออกมาจากช่องคลอดแล้ว เขายังอยู่ในน้ำประมาณ 60 วินาทีหรือ 1 นาทีอย่างปลอดภัย
- การอยู่ในน้ำของทารก คือการปรับสภาพร่างกายจากน้ำคร่ำในมดลูก ซึ่งมีส่วนช่วยให้ทารกคลายความเครียดได้
- เมื่อทารกออกมาแล้ว เขายังไม่หายใจ จนกว่าตัวเขาจะลอยขึ้นเหนือน้ำ
- เมื่อคุณหมอส่งตัวทารกให้คุณแม่อุ้มขึ้นเหนือน้ำแล้ว เขาจะหายใจทันที
- จากนั้น ทารกจะเรียนรู้การสัมผัสจากแม่ จากอากาศภายนอก สามารถเข้าเต้าดูดนมแม่ได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : คลอดลูกในน้ำ ปลอดภัยกับแม่และลูกแค่ไหน?
รู้จักขั้นตอนการคลอดลูกในน้ำให้ดีขึ้น
ความมหัศจรรย์การคลอดลูกในน้ำมีมากกว่าที่คุณพ่อและคุณแม่คิด อย่าลืมว่า ขณะที่ลูกของเราอยู่ในครรภ์ เขาอยู่ในถุงน้ำคร่ำที่โอบร่างกายของเขาอยู่ จึงไม่ต้องกังวลว่า ลูกคลอดในน้ำแล้วจะสำลักน้ำหรือหายใจไม่ทัน เราไปดูขั้นตอนแบบคร่าว ๆ กันค่ะ
1. เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์
ก่อนอื่นต้องเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ให้ปลอดภัยทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นอ่างอาบน้ำที่ได้รับการทำความสะอาด ฆ่าเชื้ออย่างปลอดภัยจากไวรัสและแบคทีเรีย ทีมแพทย์จะตรวจเช็กเรื่องอุณหภูมิของน้ำ และเตรียมความพร้อมเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วจะไม่มีการติดเชื้ออย่างเด็ดขาด
2. เตรียมความพร้อมก่อนคลอด
เมื่อตัดสินใจแล้วว่าคุณแม่ต้องการคลอดลูกในน้ำ ก่อนอื่นต้องเตรียมใจและร่างกายให้พร้อม ตัดความกังวล เชื่อใจคุณหมอและพยาบาล โดยขั้นแรก ทางทีมแพทย์จะให้คุณแม่ลงไปแช่ในอ่างน้ำอุ่นอย่างช้า ๆ เพื่อปรับร่างกายจนกว่าปากมดลูกจะค่อย ๆ เปิด ขยายออกเพื่อเตรียมพร้อมในการคลอดลูกอย่างเต็มที่ โดยจะใช้อุณหภูมิน้ำอยู่ที่ 35-37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ใกล้เคียงของมดลูกและถุงน้ำคร่ำ เพื่อเวลาทารกน้อยคลอดออกมา เขาจะได้ไม่ตกใจ สามารถปรับตัวกับอุณหภูมิได้ง่าย
3. ขณะที่คุณแม่กำลังคลอด
เมื่อปากมดลูกของคุณแม่ค่อย ๆ ขยายและเปิดออก คุณหมอจะให้คุณแม่เบ่งคลอดอย่างช้า ๆ เป็นจังหวะ ตรงนี้แหละค่ะ ประโยชน์ของน้ำจะช่วยลดความเจ็บปวดและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ในส่วนของทารกนั้น เขาจะไม่มีการตื่นตระหนก เพราะแรงดันของน้ำรวมถึงอุณหภูมิ ทำให้เขาเสมือนอยู่ในครรภ์มารดาอยู่ จากนั้น เมื่อพ้นครรภ์ออกมาแล้ว คุณหมอจะค่อย ๆ อุ้มเขาขึ้นเหนือน้ำ และสัมผัสอากาศภายนอกอย่างปลอดภัย ก่อนส่งทารกน้อยเข้าสู่อ้อมอกคุณแม่
4. ช่วงปากมดลูกเปิดเต็มที่
คุณแม่เริ่มเบ่งคลอดตามปกติ ขณะที่คลอด เด็กจะยังคงได้รับออกซิเจนจากเลือดผ่านทางสายสะดือ อุณหภูมิและการพยุงตัวจากแรงดันของน้ำจะทำให้เด็กปรับตัวได้ดีเหมือนอยู่ในครรภ์ ทารกจะหายใจได้เองเมื่อถูกอุ้มให้โผล่พ้นน้ำและสัมผัสบรรยากาศภายนอกพร้อมสัมผัสแรกจากคุณแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : 21 ข้อดี ความมหัศจรรย์ของการคลอดลูกในน้ำ
ข้อดีของการคลอดลูกในน้ำ
นอกจากการคลอดธรรมชาติแบบปกติและการผ่าคลอดแล้ว ทำไมคุณแม่จึงควรนำการคลอดลูกในน้ำเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการคลอดบุตร เราไปดูข้อดีกัน
1. ร่างกายคุณแม่จะผ่อนคลาย
ลองจินตนาการเวลาที่เราไปว่ายน้ำ และทิ้งตัวในสระ ร่างกายเราจะรู้สึกเบาสบาย มีน้ำโอบอุ้ม เช่นเดียวกัน การคลอดลูกในน้ำจะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกอิสระในการเคลื่อนไหว รู้สึกตัวเบา รวมถึงน้ำอุ่น ๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงกระดูกเชิงกรานและช่องคลอด เพื่อง่ายต่อเปิดให้ทารกนั้นออกมาได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญแรงต้านทานของน้ำยังช่วยพยุงกล้ามเนื้อให้มีความหด ยืด ขยายได้ดี ช่องคลอดจึงฉีกขาดได้น้อยกว่าการคลอดธรรมชาติที่หมอต้องลงมีดกรีด แถมยังช่วยให้แผลฝีเย็บของคุณแม่หายเร็วอีกด้วย
2. ลดการเจ็บปวดขณะคลอดในหญิงตั้งครรภ์
สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่านกังวล คือ ความเจ็บปวดระหว่างคลอดและหลังคลอด ซึ่งการคลอดลูกในน้ำนั้น จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ดีทีเดียว เนื่องจากน้ำอุ่น จะช่วยกระจายแรงดันของเลือดไปตามร่างกาย คลายความเครียด ความหดเกร็งของกล้ามเนื้อ คลายการรัดตัวของมดลูก ทำให้มีการไหลเวียนเลือดดีขึ้น
คุณแม่จะเจ็บท้องคลอดน้อยลง รู้สึกสบายตัวมากขึ้น เพราะระดับอะดรีนาลีนในร่างกายลดลง อีกทั้งน้ำยังช่วยเพิ่มระดับของสารเอ็นดอร์ฟินและออกซิโทซินให้คุณแม่รู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย ไม่เจ็บปวดนานมากเกินไป วิธีนี้ยังช่วยให้คุณแม่ต้องไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาจากการบล็อกหลังอีกด้วย
3. ผ่อนคลายความกังวลในสมอง
ยิ่งเครียด ยิ่งทำให้ความดันในเลือดนั้นสูงขึ้น ซึ่งการแช่น้ำอุ่น ๆ จะช่วยลดความดันอันก่อให้เกิดความเครียด เนื่องจากแรงต้านทานของน้ำ จะพยุงคุณแม่ให้รู้สึกเบา น้ำหนักตัวน้อยลง ลอยตัวง่าย กล้ามเนื้อมดลูกก็จะได้รับออกซิเจนจากน้ำมากขึ้น แรงบีบรัดของมดลูกจะค่อย ๆ เป็นจังหวะที่เหมาะสม ไม่เร่งหรือช้าจนเกินไป ซึ่งเป็นข้อดีตรงที่ ทารกจะได้รับออกซิเจนได้มากขึ้นและสม่ำเสมอ
4. คุณแม่ไม่ต้องพักฟื้นนานมาก
การคลอดลูกธรรมชาติจะพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าคลอด แต่การคลอดลูกในน้ำนั้น สามารถพักฟื้นน้อยกว่านั้น เนื่องจากไม่ต้องทรมานกับบาดแผลผ่าตัด ช่องคลอดเกิดอาการอักเสบและระบมน้อยมาก คุณแม่จะสัมผัสได้ถึงความสุขจากธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากช่วงเวลาที่ลูกพ้นน้ำมาแล้ว ทารกน้อยจะได้รับการกระตุ้นให้ดูดนมแม่ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการของเด็กผ่าคลอด กับ คลอดธรรมชาติ ต่างกันอย่างไร?
คุณสมบัติของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สามารถคลอดในน้ำได้
ใช่ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะสามารถคลอดในน้ำได้ทุกคน แม้จะทราบข้อดีของการคลอดดังกล่าวแล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกดังนี้
- คุณแม่ต้องไม่มีการติดเชื้อที่มดลูกและปากช่องคลอด หมายถึง ต้องไม่เป็นโรคเริม โรคติดต่อบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่น้ำ และการติดเชื้อของตนเองและทารก
- อัลตราซาวนด์ดูแล้วว่า ทารกต้องมีลักษณะการคลอดปกติ เช่น ศีรษะพร้อมออกทางช่องคลอด ทารกไม่มีลักษณะเอาก้นลง
- ทารกมีน้ำหนักตามเกณฑ์ ไม่ตัวใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป
- คุณแม่ต้องไม่เคยมีประวัติตกเลือดหรือมีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ปัจจุบัน
- หากตั้งครรภ์แฝดไม่สามารถทำได้
- มีภาวะคลอดก่อนกำหนดแม้จะ 2 สัปดาห์ก็ตาม
- คุณแม่ต้องไม่ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ลมชัก
- ครรภ์เป็นพิษและมีประวัติคลอดยาก
- คุณแม่ต้องไม่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
ข้อควรระวังในการคลอดลูกในน้ำ
คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีความพร้อมทางด้านร่างกายในการคลอดลูกในน้ำแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่ต้องระวัง แม้จะเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ก็จุดสำคัญที่ต้องใส่ใจและไม่ควรมองข้าม
- อุณหภูมิ 35-37 องศาเซลเซียสเป็นระดับน้ำอุ่นที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่และทารก ดังนั้น หากควบคุมอุณหภูมิไม่ดี ร้อนเกินไปหรือเย็นเกิน อาจเกิดภาวะอันตรายตามมา เช่น ทารกเกิดภาวะช็อก หรืออุณหภูมิไม่สามารถสร้างความสบายทางร่างกายต่อคุณแม่ อาจมีอาการเครียดตามมา ความเจ็บปวดขณะคลอดได้
- ทีมแพทย์ต้องระวังเกี่ยวกับสายสะดือ หากสายสะดือสั้นอาจฉีกขาดได้ ผลที่ตามมาคือ จะทำให้คุณแม่เสียเลือดจำนวนมาก แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ต้องระวังไว้ก่อน
- การคลอดลูกในน้ำอย่างปลอดภัย ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ
คุณแม่ตั้งครรภ์และคุณพ่อคงคลายความกังวลเรื่องการคลอดลูกในน้ำ ที่จะทำให้ทารกจมหรือสำลักน้ำ ในทางกลับกัน แรงดันน้ำจะช่วยพยุงตัวทารกขึ้นเหนือน้ำและหายใจทันที ประโยชน์ของน้ำยังช่วยชะล้างคราบเมือก น้ำคร่ำที่ติดบนตัวทารกคล้ายกับการทำความสะอาดในขั้นตอนแรกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิธีการคลอดลูกแบบนี้จะเป็นการคลอดลูกที่น่าสนใจ ปลอดภัยสูง แต่ยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยเท่าไร เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทั้งนี้ขอให้คุณแม่คำนึงเสมอว่า การอยู่ในการดูแลของแพทย์และทำตามคำแนะนำจากคุณหมอที่เราฝากครรภ์อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะคลอดแบบไหนก็ปลอดภัยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การดูแลหลังผ่าท้อง ต่างจากการคลอดธรรมชาติอย่างไร
ผ่าคลอด VS คลอดธรรมชาติ ส่งผลกับภูมิต้านทานตั้งต้นอย่างไร
วิธีดูแลตนเองหลังคลอดธรรมชาติ คำแนะนำการดูแลตนเองอย่างปลอดภัย
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการคลอดในน้ำ ได้ที่นี่!
คลอดในน้ำ ดียังไงคะ แล้วอันตรายรึเปล่าคะ
ที่มา: pobpad, sanook, mamastory