คุณพ่อคุณแม่มือใหม่คงตกใจที่ลูกมีไขเคลือบที่ศีรษะ ลักษณะเป็นขุยสีเหลืองหรือขาวครีม เกาะที่หัวเต็มไปหมด แต่ลูกน้อยก็ไม่ได้เจ็บปวดอะไร แล้ว ไขบนหัวทารก นี้คืออะไรกันนะ? ต้องรีบพาลูกไปหาหมอไหม? ทิ้งไว้จะกลายเป็นโรคอะไรหรือเปล่า? วันนี้เรามีคำตอบมาบอกกัน
ไขบนหัวทารก คืออะไร?
เราชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจกันก่อน เจ้าไขสีขาวๆ เหลืองๆ ที่อยู่บนศีรษะลูก หรือ สะเก็ดเหลืองบนหัวทารก นั้น คือ ภาวะผิวหนังที่เรียกว่า cradle cap พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดและทารก ซึ่ง โรคนี้เรียกอีกอย่างว่าโรคผิวหนังอักเสบจากไขมันในทารกชนิด Seborrheic Dermatitis ที่พบได้บริเวณศีรษะ มีลักษณะเป็นเกล็ด หรือขุยสีเหลืองบนหนังศีรษะนั่นเอง
โดยปกติแล้ว ไขบนหัวลูกเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็ก อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อลูกน้อยอายุ 1- 3 เดือน โดยส่วนใหญ่อาการจะหายไปเองได้ภายใน 1 ปี แต่ในบางคนอาจมีอาการนี้เมื่ออายุประมาณ 1 หรือ 2 ปี
ไขบนหัวเด็กทารกนี้อาจเหมือนจะทำให้ลูกไม่สบายตัว หรือระคายเคืองต่อผิวหนัง แต่คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้ เพราะโดยปกติแล้วมันจะไม่คัน และจะไม่รบกวนลูกน้อยเลย
ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร?
ไขบนหัวเด็กทารก นั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เรารวบรวมมาให้ตามนี้
- น้ำมันส่วนเกินอาจทำให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเกาะติดหนังศีรษะ
- เชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Malassezia ที่ทุกคนมีบนผิวหนัง ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะนี้ได้
- ฮอร์โมนจากคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ ที่ถ่ายทอดจากไปสู่ลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์ ที่อาจทำให้ต่อมไขมันและรูขุมขนของลูกสร้างน้ำมันมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไขทารกหลังคลอดได้
- ไขบนหัวทารก ไม่ได้เกิดจากอาการแพ้หรือการติดเชื้อ และไม่ได้เกิดจากการไม่รักษาความสะอาดเช่นกัน
ไขบนหัวทารก อันตรายไหม?
ตามที่กล่าวไปแล่วว่า ไขที่อยู่บนศีรษะลูกนั้นไม่อันตราย แต่หากเกิดอาการผิดปกติ ดังนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการอีกครั้ง
- มีสะเก็ด มีน้ำเหลืองไหล หรือมีตุ่มหนองขึ้น
- ผิวบริเวณที่มีไขเริ่มบวม
- ไขบนหัวทารกมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
- มีไขขึ้นที่บริเวณอื่นนอกจากหนังศีรษะ
- ลูกน้อยมีอาการเจ็บปวดหรือไม่สบาย
วิธีทำความสะอาดไขที่หัวทารก
แม้ว่าไขทารกจะไม่อันตราย โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องทำอะไรเป็นพิเศษ แต่การรักษาความสะอาดนั้นก็ยังจำเป็น เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อนชื้น สภาพอากาศอบอ้าวอาจทำให้เกิดความไม่สบายตัวให้กับลูกน้อยได้ เรามีวิธีดูแลง่ายๆ ดังนี้
- สระผมด้วยแชมพูเด็กอ่อนๆ การทำความสะอาดหนังศีรษะ โดยการถูเบาๆ บนศีรษะของลูกน้อยจะช่วยชะล้างน้ำมันส่วนเกินออกไป ทำให้ลูกสบายตัวมากขึ้น
- สระผมให้ลูกน้อยบ่อยขึ้น คุณอาจต้องสระผมทุกวันแทนที่จะเป็นทุกๆ 2-3 วัน
- อย่าแกะหรือเกาสะเก็ดบนศีรษะของทารก เพราะอาจเกิดอาการระคายเคืองได้ หรือเกิดแผลเป็นบนผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น
- การแปรงผมเบาๆ หลังจากทำความสะอาดผมและหนังศีรษะของลูกน้อยแล้ว ให้คุณแปรงผมของลูกน้อยอย่างเบามือด้วยแปรงหรือหวีขนนุ่มสำหรับเด็ก เพื่อให้สะเก็ดไขที่ติดอยู่ที่ผมคลายตัวและหลุดออก แต่ย้ำว่าต้องแปรงอย่างเบามือ
- หากผมของลูกหลุดออกมาพร้อมกับไข ไม่ต้องตกใจ เพราะเดี๋ยวก็จะงอกขึ้นมาใหม่เอง
- ห้ามใช้น้ำมันมะกอก นวดศีรษะลูก เพราะอาจจะไม่เหมาะกับผิวหนังและก่อให้เกิดการแพ้ได้
ไขบนหัวลูก นั้นไม่อันตรายและอาจเกิดได้กับเด็กหลายๆ คน หากลูกน้อยมีภาวะนี้ ไม่ต้องตกใจไป เพียงหมั่นทำความสะอาดลูกน้อย และสังเกตว่าผิวบริเวณไขหากเริ่มบวม หรือมีแผล ต้องรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจต่อไป
3 ปัญหาผิวลูกน้อยที่พบได้บ่อย แต่รับมือได้
นอกจากปัญหาไขบนหัวทารกที่พบได้บ่อยแล้ว ยังมีปัญหาผิวหนังอื่นๆ ที่อาจพบเจอได้ในลูกน้อยเช่นกัน
-
กลากน้ำนม
กลากน้ำนม มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหรือวงรี สีจะจางกว่าสีผิวปกติของลูก บางครั้งอาจจะมีขุยติดอยู่ พบบ่อยบริเวณใบหน้า คอ ไหล่และแขน สาเหตุการเกิดยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของผิวหนังหรือแสงแดด รับมือได้ด้วยการทาครีมและหลีกเลี่ยงแดดจัด
-
ผื่นผ้าอ้อม
ผื่นผ้าอ้อม ปัญหาผิวยอดฮิตที่เกิดขึ้นบ่อยมากๆ มีลักษณะเป็นตุ่มหรือปื้นแดงบริเวณต้นขาด้านใน ก้น หรืออวัยวะเพศ เกิดจากการเสียดสี หรือความอับชื้นจากการสวมใส่ผ้าอ้อมนานเกินไป รับมือได้ด้วยการทาขี้ผึ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังถูกเสียดสีบ่อยๆ และเปลี่ยนผ้าอ้อมให้บ่อยขึ้นเพื่อลดความอับชื้น
-
ภูมิแพ้ผิวหนัง
ภูมิแพ้ผิวหนัง อีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอได้บ่อยครั้ง จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง ตุ่มแดง หรือ ตุ่มน้ำใส พบมากบริเวณใบหน้า และด้านนอกของแขนขา ภูมิแพ้ผิวหนังนั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน รับมือได้ง่ายๆด้วยการหลีกเลี่ยง อาบน้ำอุ่นบ่อยเกินไป และทาครีมหรือโลชั่นเด็กบำรุงทันทีหลังอาบน้ำ
ปัญหาผิวๆ แต่ไม่จิ๋วของลูก แต่รับมือได้ เพียงคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจ และสังเกตลูกน้อยให้บ่อย ก็จะป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที
ที่มา : NHS , kidshealth , healthychildren , webmd , โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 ขั้นตอน วิธีทำให้ทารกหยุดร้องไห้ ภายใน 10 วินาที
นมแม่ใส ลูกน้ำหนักไม่ขึ้น ทำไงดี ? 8 วิธีเพิ่มไขมันนมแม่ เพิ่มน้ำหนักลูกน้อย
ทารกมองเห็นตอนไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกมองเห็น พัฒนาการสายตาแบบไหนผิดปกติ