เมื่อลูกน้อยออกมาลืมตาดูโลกใบใหม่ ขอให้คุณแม่เตรียมรับมือกับ อาการของทารกแรกเกิด ที่อาจเกิดขึ้นได้กับเจ้าตัวน้อยที่แสนน่ารักทุกคน
10 อาการของทารกแรกเกิด ที่อาจเกิดได้กับทารก แต่เป็นแล้วไม่นานก็หาย
#1 ตาเหล่ ตาเข
ในช่วง 6 สัปดาห์แรกของชีวิตหรือในทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจสังเกตเห็นตาของทารกเหล่เข้าหรือเหล่ออกบ้าง ตาสองข้างทำงานไม่สอดคล้องกันบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ต้องกังวลไปนะคะ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่การทำงานประสานกันของสองตายังไม่ดีนัก หลังจากทารกอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว ตาทั้งสองข้างตะเริ่มทำงานประสานกันได้ดี บังคับตาทั้งสองข้างให้มองไปในทิศทางของวัตถุที่สนใจได้แม่นยำขึ้น แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังสังเกตเห็นลูกตาเหล่ ตาเขอยู่ ควรนำทารกไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษานะคะ
#2 ลูกนอนกรน นอนหลับเสียงดัง
ลืมภาพการนอนหลับของเบบี๋แบบที่เราเห็นในภาพสวย ๆ ไปได้เลย เพราะในความเป็นจริงแล้วคุณแม่จะมองเห็นลูกน้อยนั้นนอนหลับแบบมีเสียงกรนออกมาบ่อยครั้ง เนื่องจากศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองของทารกแรกเกิดนั้นยังไม่พัฒนาโดยสมบูรณ์ ช่องทางเดินหายใจยังเล็กและแคบอยู่ ดังนั้นในการนอนหลับแบบปกติของเบบี๋นั้น คุณแม่อาจจะได้ยิน เสียงหายใจครืดคราด เสียงกรนได้ และจะหายไปได้เองเมื่อเขาเริ่มโตขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตด้วยนะคะว่า ลูกนอนกรนนานเกินไปหรือเปล่า หรือไม่มีท่าทีว่าเสียงกรนจะเบาลงเลย มีการกรนและหยุดหายใจบ้างหรือเปล่า ถ้ามีควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายดูนะคะ
#3 ลูกสะดุ้ง นอนผวา
อย่าเพิ่งตกกะใจที่มองเห็นลูกแขนขากระตุก คล้ายกับอาการสะดุ้งในขณะที่เจ้าตัวน้อยกำลังนอนหลับอยู่ในเปลกันนะคะ คุณแม่จะพบอาการนี้ของทารกได้จนถึงอายุ 6 เดือน ในขณะที่ทารกหลับสนิท แต่เวลามีเสียงดังหรือสัมผัสกับตัวลูกน้อย จะเห็นว่าทารกทุกคนจะมีการตอบสนองด้วยการสะดุ้งหรือผวา โดยการยกแขน ยกขา แบมือ และกางแขนออก หรือโอบแขนเข้าหากัน ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความตกใจเช่นนี้เรียกว่า Moro reflex ซึ่งคุณแม่สามารถช่วยแก้อาการสะดุ้งผวาบ่อยของลูกได้ด้วยการห่อตัวลูกและอุ้มเจ้าตัวน้อยแนบตัวให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
#4 ปานเส้นเลือดแดง
ทารกหลายคนเกิดมาพร้อมกับรอยสีชมพูหรือสีแดงที่บริเวณต้นคอ ระหว่างดวงตา บนเปลือกตา หรือระหว่างหัวคิ้ว มีลักษณะเป็นร่างแหของเส้นเลือดฝอย ส่วนใหญ่จะจางหายไปได้เองเมื่ออายุ 2-3 ขวบ
Read : ปานของเบบี๋ แบบไหนปลอดภัย แบบไหนอันตราย
#5 ขนอ่อน ๆ ตามร่างกายทารก
เส้นขนอ่อนนุ่มและละเอียดที่คุณแม่สังเกตเห็นติดตัวทารกแรกเกิดออกมา เรียกว่า lanugo จะเป็นขนอ่อนที่ปกคลุมร่างกายทารกไว้ตั้งแต่ที่อยู่ในครรภ์ และจะผลัดเส้นขนทั้งหมดนี้ออกก่อนที่จะคลอด ซึ่งอาจจะมีหลงเหลืออยู่บนหลัง ไหล่ หน้าผาก หรือปลายหูลูกหลังคลอดออกมาได้ และจะหลุดออกไปเองเมื่อเด็กโตขึ้นค่ะ ขนตามร่างกายของเด็กแรกเกิด นั้นไม่เป็นอันตรายอะไร นอกเสียจากผ่านไป 6 เดือนแล้ว ขนเหล่านั้นยังไม่หลุดไป แต่กลับดกดำเพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะ ผิดปกติที่เกิดขึ้นจากต่อมหมวกไต หรือ congenital adrenal hyperplasia (CAH) ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรรีบพาลูกน้อยเข้าไปพบคุณหมอเพื่อวินิฉัยถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อรับการรักษาต่อไป
#6 ไขบนหนังศีรษะทารก
สะเก็ดที่เกิดขึ้นบนศีรษะของทารกนั้นพบได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยค่ะ เป็นคราบไขมันที่แห้งกรังอยู่บนหัว มีลักษณะเป็นแผ่นหนาออกสีเหลือง ๆ ซึ่งจะหายไปได้เองเพียงภายในไม่กี่เดือน หากคุณแม่เป็นกังวล ก็สามารถล้างไขบนหัว ด้วยการใช้น้ำนมแม่สักสองสามหยดลูบบนหนังศีรษะ จนกว่าสะเก็ดจะหลุดลอกออก แล้วปัดออกด้วยแปรงขนอ่อน หรือใช้ Baby Oil หรือน้ำมันมะกอกทาทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป หลังจากนั้นสระผมล้างออกด้วยแชมพูสำหรับเด็กสามารถช่วยทำให้สะเก็ดนั้นหลุดออกไปได้
#7 ตุ่มขาวที่เพดานปาก
ตุ่มขาวในปาก ที่กลางเพดานปากของทารกแรกเกิด อาจมีเม็ดสีขาวขนาดเท่าหัวหมุด พบได้ประมาณร้อยละ 80 ของทารกแรกเกิด ซึ่งถือเป็นภาวะปรกติ และจะหายไปเองภายในหนึ่งถึงสองสัปดาห์หลังจากคลอด
#8 ทารกมีเต้านมและมีน้ำนมไหล
ทารกแรกเกิด ไม่ว่าชายหรือหญิงจะออกมาพร้อมกันหน้าอกเล็ก ๆ ได้นะคะ อย่าเพิ่งตกใจกันไป ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ในเด็กแรกเกิดอายุ 2-3 วัน และจะยุบหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเกิดขึ้นจากฮอร์โมนตัวเดียวกับที่กระตุ้นต่อมน้ำนมของแม่ในขณะที่อยู่ในครรภ์และทารกจะได้รับมาจากแม่ผ่านทางสายสะดือ และในบางรายก็จะมีน้ำนมไหลออกมาจากอกด้วย อาการเหล่านี้ ไม่เป็นอันตราย และจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนเมื่อฮอร์โมนจากแม่หมดไป
#9 ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในทารก
ทารกแรกเกิดหรือในช่วง 1 – 3 เดือน บางคนอาจจะมีอาการน้ำตาไหลตลอดเวลา ทั้ง ๆที่ไม่ได้ร้องไห้ สังเกตได้จากตาเฉอะแฉะตลอดทั้งวัน หรือที่เรียกกันว่า ท่อน้ำตาอุดตัน เป็นภาวะที่ท่อน้ำตาไม่เปิดเข้าสู่โพรงจมูกตามปกติ ทำให้น้ำตาที่สร้างโดยต่อมน้ำตาเอ่อล้นออกมา และเกิดอาการได้ โดยอาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง ภาวะนี้พบได้ประมาณ 30% โดยส่วนมากจะหายได้เอง มักไม่มีอาการรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ช่วยรักษาได้ด้วยการนวดหัวตา ซึ่งหากทำโดยถูกวิธีและสม่ำเสมอก็จะสามารถหายได้ค่ะ
#10 ทารกหัวไม่สวย
การที่จะออกจากช่องคลอดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ กระบวนการคลอดบุตรนั้นจึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ศีรษะของลูกมีอาการผิดรูปเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เนื่องจากศีรษะของทารกแรกเกิดยังคงอ่อนและนุ่มนิ่ม แต่โอกาสที่จะทำให้รูปทรงของศีรษะลูกทุยสวยได้ คุณแม่อาจจะจัดท่านอนให้ลูกนอนหงายโดยศีรษะตะแคงข้างสลับไปมาซ้ายบ้าง ขวาบ้าง หรือจัดท่านอนลูกตะแคงสลับซ้าย-ขวา ไม่ปล่อยให้ลูกนอนตำแหน่งเดิมตลอดเวลาหรือนานเกินไป หรือลองจัดท่าอื่น ๆ ด้วย เช่น คว่ำชันคอ ตะแคง หรืออุ้มลูกขึ้นซบไหล่มา เป็นต้น
credit content :
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
20 อาการปกติของทารกแรกเกิดที่ไม่น่ากังวล
7 อาการปกติที่แม่ท้องแก่ควรรู้