แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นวิธีที่แนะนำสำหรับการให้นมทารก แต่คุณแม่บางคนอาจมีข้อจำกัดในการให้นมลูก น้ำนมอาจไม่เพียงพอ หรือตัวเด็กมีภาวะน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ การเลือก นมผงเพิ่มน้ำหนัก เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยของนมสำหรับเด็กแรกเกิด จะเป็นนมประเภทไหน และแตกต่างจากนมผงทั่วไปหรือไม่ เรามีคำตอบค่ะ
นมผงเพิ่มน้ำหนัก คือนมอะไร?
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับนมผงเพิ่มน้ำหนักกันก่อนว่า นมชนิดนี้ถูกผลิตมาจากนมแม่ ที่นำมาผ่านกระบวนการพิเศษ และเพิ่มในส่วนของโปรตีน เกลือแร่ และแคลอรี เข้าไป จากนั้นจึงทำการสกัดออกมาเป็นลักษณะของผง เพื่อให้สามารถเก็บประสิทธิภาพของแร่ธาตุ และสารอาหารต่าง ๆ ได้ยาวนาน อีกทั้งยังสะดวกกับการใช้งาน หรือชงดื่มอีกด้วย
ทั้งนี้นมผงประเภทนี้ จำเป็นจะต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่สมดุล ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป โดยนมผงประเภทนี้เรามักจะนำมาใช้กับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2000 – 2500 กรัม ซึ่งนมผงประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นซอง และมีราคาที่สูงมากพอสมควร
ทำไมเราต้องกังวลเรื่องน้ำหนักตัวลูก
น้ำหนักตัวของลูกน้อย เป็นการบ่งบอกถึงการเจริญเติบโตทางร่างกายของลูกได้ดีอย่างหนึ่ง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงมักจะให้ความสำคัญ และติดตามสังเกตอย่างต่อเนื่อง ว่าลูกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ หรือเกินมาตรฐานจนเสี่ยงเป็นโรคอ้วน
ซึ่งโดยปกติ ทารกแรกเกิดนั้น จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 – 3.2 กิโลกรัม ดังนั้นหากตัวเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ก็จะทำให้เกิดความกังวลใจมากพอสมควร การที่ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์นั้น เกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยเช่น เช่น
- มารดามีโรคประจำตัว
- มีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์
- ภาวะรกเสื่อม
- ทารกคลอดก่อนกำหนด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักตัวไม่เป็นไปตามเกณฑ์ แต่ความสำคัญนั้นอยู่ที่น้ำหนักทารกที่ควรเพิ่ม และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดตามวัย อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม น้ำหนักทารกแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของคุณพ่อคุณแม่ เช่น คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตัวเล็ก ทารกที่คลอดออกมาก็มีแนวโน้มที่จะตัวเล็ก และน้ำหนักน้อยตามไปด้วย แม้ว่าเด็กจะมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่อแรกคลอด แต่หากหลังจากนั้น น้ำหนักตัวของลูกยังคงขึ้นตามเกณฑ์ปกติ นั่นแสดงให้เห็นว่า ลูกน้อยของคุณยังคงมีการเจริญเติบโตที่ดีอยู่นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เกณฑ์น้ำหนักทารกแรกเกิด น้ำหนักของทารกแรกเกิด ควรหนักเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นแค่ไหน
รู้ได้อย่างไรว่าลูกมีน้ำหนักตามเกณฑ์หรือไม่
การเช็กน้ำหนักตัวลูก เพื่อจะได้รู้ว่าน้ำหนักของทารกน้อย เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ขวบ คุณแม่ควรพาลูกไปพบกับกุมารแพทย์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งตามปกติแล้ว แพทย์จะมีการนัดดูน้ำหนักทารกในช่วง 2 – 3 วันหลังคลอด และนัดอีกครั้งเมื่อทารกอายุครบ 1 เดือน หลังจากนั้นจะทำการติดตามผลทุก ๆ 2 เดือน
การติดตามผลจากน้ำหนักตัวของทารกนั้น ทำให้เราสามารถตรวจถึงสุขภาพ และพัฒนาการของเด็ก ว่าเป็นไปในทางที่ดีหรือไม่ และในขณะที่ติดตามน้ำหนักของเด็กแล้ว ยังต้องให้วัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กตามวันเวลาที่กำหนดอีกด้วย ซึ่งหากพบว่าเด็กมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติ แพทย์อาจต้องนัดถี่ขึ้น เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุนั้น ๆ
นมผงเพิ่มน้ำหนักเราควรใช้แบบไหน
เราจะสามารถแบ่งลักษณะการใช้นมผงเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัวให้กับลูกโดยการแบ่งตามช่วงวัยของเด็ก เพราะการทานอาหารนั้นจะแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเสริมเพิ่มเติมสารอาหาร จึงมีส่วนสำคัญ ที่จำเป็นต้องให้เกิดความสมดุลกับตัวเด็กในช่วงนั้น ๆ อีกด้วย
- เด็กแรกเกิด – 6 เดือน
เด็กในช่วงนี้ หากมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าปกติ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรือเกิดจากภาวะคลอดก่อนกำหนด การให้นมแม่ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นคำตอบที่คุณหมอทั่วประเทศ และทั่วโลก ต่างก็ยอมรับ แต่ถ้าคุณแม่ยังรู้สึกว่า น้ำหนักตัวเด็ก ยังไม่สามารถเพิ่มได้ตามต้องการ คุณแม่สามารถเลือกใช้นมผงเพิ่มน้ำหนัก ผสมรวมกับน้ำนมแม่ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้นมผงดังกล่าว จำเป็นจะต้องให้แพทย์เป็นผู้กำหนดปริมาณในการให้ เพื่อความปลอดภัยในการได้รับสารอาหารที่มีปริมาณที่เหมาะสมสำหรับตัวเด็กเอง ในขณะที่นมแม่ ก็ยังคงต้องให้ลูกน้อย ตามปกติเช่นกัน เพราะคุณค่าทางสารอาหาร ประโยชน์ทางด้านภูมิคุ้มกันอื่น ๆ นมสังเคราะห์ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้เท่ากับนมแม่นั่นเอง
- เด็กทารกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ไม่เกิน 1 ปี
เด็กในวัยนี้จะเริ่มได้รับอาหารเสริมเพิ่ม ที่นอกเหนือจากนมแม่ คุณแม่สามารถใช้นมผงเพิ่มน้ำหนัก ประเภท Infatrini เพื่อช่วยเพิ่มแคลอรีให้กับลูกน้อย สามารถนำไปผสมกับอาหารบดที่ผสมกับนมแม่ หรือผสมน้ำอุณหภูมิปกติ ดื่มเหมือนน้ำนมเลยก็สามารถทำได้
- เด็กที่มีอายุเกิน 1 ปี ขึ้นไป
เด็กกลุ่มนี้ จะสามารถดื่มนมกล่อง อย่าง Nutrini drink, Pedia sure, Milnutri sure ซึ่งนับว่าสะดวกสบาย และประหยัดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ สามารถเลือกกลุ่มอาหารประเภท ผัด ทอด หรืออาหารที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ก็จะทำให้ลูกมีน้ำหนักเพิ่มได้ง่ายยิ่งขึ้น
แต่สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ก็ยังไม่แนะนำให้คุณแม่เลือกให้ลูกหย่านมแม่ เพื่อเปลี่ยนมากินนมผงเพิ่มน้ำหนักเพียงอย่างเดียว เพราะสารอาหารจากนมผงนั้น ยังไงก็ไม่สามารถเทียบเท่ากับนมแม่ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีวัดการเจริญเติบโตของทารก ชั่งน้ำหนักทารก วัดความยาวทารก วัดเส้นรอบศีรษะลูก
การให้นมลูก เมื่อลูกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
หากคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีน้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คุณแม่สามารถเพิ่มน้ำหนักของลูกน้อยของคุณได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
-
ให้นมลูกถี่ขึ้น
ตามปกติหากคุณแม่ให้นมลูกเป็นเวลา อาจจะย่นเวลาให้เร็วยิ่งขึ้น และถี่มากขึ้น หรือถ้าคุณแม่ให้นมลูกด้วยวิธีเข้าเต้า คุณแม่จะต้องแน่ใจว่าลูกดูดนมจนเขาอิ่ม และคายหัวนมออกมาเอง อย่าดึงหัวนมออกจากปากลูกจนกว่าลูกจะอิ่ม
ในกรณีที่ให้ลูกกินนมผง ควรชงนมในปริมาณตามที่ฉลากผลิตภัณฑ์ระบุเอาไว้อย่างเคร่งครัด และควรชงนมให้ถูกวิธี เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และมีปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งหากคุณแม่ยังพอมีน้ำหนักอยู่บ้าง แม้ว่าจะไม่มาก ก็สามารถใช้น้ำนมของคุณแม่ ผสมกับนมผงชงให้ลูกดื่มได้เช่นกัน
-
ให้ลูกกินอาหารบ่อยขึ้น
หากลูกของคุณมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เด็กในวัยนี้สามารถรับอาหารเสริมเพิ่มเข้ามาได้แล้ว คุณแม่สามารถให้ลูกทานอาหารให้ถี่ขึ้น เพราะอาหารที่ทานเข้าไปจะเข้าไปช่วยเพิ่มพลังงานให้กับตัวเด็ก และน้ำหนักจะค่อย ๆ ขึ้นตามลำดับ โดยคุณแม่อาจจัดให้ลูกกินเป็นอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่แบ่งออกเป็นหลาย ๆ มื้อใน 1 วัน และตามด้วยนมในกลุ่มพลังงานอย่าง Infatrini เป็นต้น
-
ให้ลูกนอนหลับให้เต็มที่
การนอนหลับของเด็ก เป็นการช่วยเสริมพัฒนาการร่างกายให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ลูกน้อยได้นอนกลางวัน และช่วงกลางคืนให้ยาวนาน และหลับสนิท จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่แข็งแรง และสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการเพิ่มน้ำหนักของเด็กเล็ก อาจส่งผลระยะยาวหากคุณพ่อคุณแม่ ไม่ระมัดระวังเรื่องของอาหารอย่างต่อเนื่อง เช่น นมเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับเด็กเล็กนั้น จะมีความมัน หรือไขมันของนม ในปริมาณที่สูง หากเด็กกินอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งน้ำหนักอยู่ในระดับมาตรฐานแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ยังปล่อยให้กินต่อเนื่อง เด็กอาจจะติด และคุ้นเคยกับความมันของนม และอาหาร จนกลายเป็นปัญหาน้ำหนักเกินเกณฑ์ จนพาไปสู่ภาวะอ้วนได้ในอนาคตเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์ แก้ปัญหาลูกในท้องตัวเล็ก ต้องทำอย่างไรบ้าง?
10 ลักษณะที่ทำให้ลูกโตช้า ตัวไม่โต ขาดโปรตีน พ่อแม่ควรทำอย่างไร ?
เช็คไปพร้อมกัน! น้ำหนักทารก 1-10 สัปดาห์ น้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ของเด็ก