หลายคนมักคุ้นเคยกับการให้อาหารนกพิราบ สร้างความเมตตาและความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่รู้หรือไม่ กิจกรรมนี้แฝงอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะ เชื้อราในปอด ที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างกรณีล่าสุด ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เผยถึงเคสผู้ป่วย ปอดอักเสบ สาเหตุมาจากเชื้อรา คริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ ซึ่งเป็นเชื้อ โรคที่มาจาก นกพิราบ พบได้ในมูลนกพิราบ
หมอเตือน! เชื้อราในปอด โรคที่มาจาก นกพิราบ
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้เผยเคสผู้ป่วยหญิง อายุ 52 ปี ป่วยเป็น ปอดอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัสและนีโอฟอร์แมนส์ เบื้องต้นทราบว่าผู้ป่วยมักให้อาหารนกพิราบเป็นประจำ โดยคุณหมอได้โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ดังนี้
“ผู้ป่วยหญิงอายุ 52 ปี บ้านอยู่ กทม. ปกติแข็งแรงดี ไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ลด ไม่ปวดหัว ไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว ไปตรวจร่างกายประจำปี วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 เอกซเรย์ปอดพบก้อนเล็กๆเกิดขึ้นใหม่ที่ปอดขวากลีบบน เอกซเรย์ปอดก่อนหน้านั้น 1 ปีปกติ ทำคอมพิวเตอร์ปอดพบก้อนขนาด 0.9 × 0.9 × 1.7 เซนติเมตร เห็นโพรงอยู่ข้างในก้อนที่ปอดขวากลีบบน
ตรวจเลือดไม่ติดเชื้อเอชไอวี
ผู้ป่วยไปรับการผ่าตัดปอดเอาก้อนจากปอดขวากลีบบนออกที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเพราะสงสัยมะเร็งปอด ผลพยาธิวิทยาเป็นปอดอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัส ตรวจเลือดหาคริปโตคอคคัสแอนติเจนหลังผ่าตัด 4 วันให้ผลบวก titer 1:8 แพทย์เริ่มให้การรักษาด้วยยา fluconazole ผู้ป่วยมาขอคำแนะนำหลังจากนี้ควรทำอย่างไรต่อไป
ซักประวัติ มีนกพิราบอยู่แถวบ้านหลายตัว ให้อาหารนกพิราบประจำ ผู้ป่วยรายนี้หายใจสปอร์ของเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans) จากมูลนกพิราบเข้าไปในปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบเป็นก้อนที่มีโพรงข้างใน โชคดีที่เชื้อราไม่ได้กระจายออกนอกปอดเนื่องจากร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันดี วางแผนให้ยาฆ่าเชื้อราฟลูโคนาโซลชนิดกินต่อไปประมาณ 6 เดือน แนะนำให้อยู่ห่าง และหลีกเลี่ยงให้อาหารนกพิราบ”
อย่างไรก็ตาม การแชร์เคสนี้ของหมอมนูญ ก็เพื่อเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากเชื้อราในมูลนกพิราบ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อราเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคปอดอักเสบร้ายแรงได้ ดังนั้น ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับนกพิราบและมูลนก หมั่นล้างมือให้สะอาด และหากมีอาการคล้ายคลึงกับโรคปอดอักเสบจากเชื้อรา ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ที่มา: Thaipbs
Facebook: หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
เชื้อราในปอด เกิดจากอะไร?
ปอด เปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศที่ช่วยให้เราหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อใดก็ตามที่ปอดเกิดความผิดปกติ เช่น ปอดอักเสบ หรือ ปอดติดเชื้อ มักส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เคสผู้ป่วยที่มี ปอดติดเชื้อรา กลายเป็นประเด็นร้อนแรง กระตุ้นให้หลายคนตั้งคำถามว่า ภาวะปอดติดเชื้อราเกิดขึ้นได้อย่างไร และ มีสัญญาณเตือนอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงอาการป่วย
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบมีหลายชนิด โดยเราสามารถติดเชื้อได้จากการสูดดมสปอร์ของเชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ดิน ฝุ่น หรือมูลสัตว์ ซึ่งเชื้อราเหล่านี้มักอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอ้าวและชื้น
โดยเชื้อราที่พบบ่อยและก่อให้เกิดโรค เชื้อราในปอด ได้แก่
1) เชื้อราคริปโตคอคคัส (Cryptococcus neoformans)
เชื้อราชนิดนี้สามารถพบได้ในมูลนกหลายชนิด เช่น นกพิราบ นกคานารี นกหงส์หยก นกแก้ว นกแขกเต้า นกกระจอก นกเอี้ยง และนกเขา หากเราสูดหายใจเอาเชื้อราที่ปนเปื้อนในมูลนกเข้าไป เชื้อราก็จะเข้าสู่ปอดและก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคเอดส์ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อรานี้จะกระจายขึ้นไปที่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
2) เชื้อราแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus)
สามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน ฝุ่นละออง อากาศ ถ้าหากสูดหายใจเอาฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนเชื้อราชนิดนี้เข้าไป ก็จะก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ค่ะ ในกรณีที่รุนแรง เชื้อราอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้
อันตรายจาก ปอดติดเชื้อรา มีอาการอะไรบ้าง?
เมื่อ ปอดติดเชื้อรา ผู้ป่วยจะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจคล้ายกับไข้หวัด ดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- หอบ เหนื่อย
- ไอมีเสมหะ
- ไอแห้ง ๆ ติดต่อกันหลายวัน หรือไอเป็นเลือด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อรารุนแรง
- มีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อหายใจเข้าออก ลึก ๆ
- ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นไซนัสอักเสบ
บทความที่เกี่ยวข้อง: เฝ้าระวัง! โรคปอดอักเสบ ภัยเงียบคร่าชีวิตเด็กอันดับ 1
การรักษา เชื้อราในปอด
ภาวะปอดติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นปอดอักเสบจากเชื้อราหรือเชื้ออื่น ๆ ล้วนรักษาหายได้ด้วยยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม และนัดติดตามอาการเป็นระยะ แต่ผลลัพธ์ของการรักษาก็ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ
ดังนั้น หากมีอาการไอแห้ง ไอมีเสมหะไม่ยอมหาย หรือเจ็บหน้าอกเวลาหายใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ปอดติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อราเพียงอย่างเดียว ยังมีเชื้ออื่น ๆ ที่ เป็นสาเหตุของอาการปอดติดเชื้อหรือปอดอักเสบอีกด้วย เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพาราสิต การวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และการรักษาที่เหมาะสม ล้วนส่งผลต่อความสำเร็จในการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญเลยคือเราไม่ควรละเลยสัญญาณเตือนจากร่างกาย ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ เพื่อสุขภาพปอดที่แข็งแรง ห่างไกลจากภัยเงียบของโรคปอดติดเชื้อกันค่ะ
โรคอื่น ๆ ที่มาจาก นกพิราบ มีอะไรอีกบ้าง?
นอกเหนือจาก โรคปอดอักเสบ ที่มาจากเชื้อราคริปโตคอคคัส ที่พบได้ในมูลของนกพิราบแล้ว การสูดดม หรือสัมผัสเชื้อราตัวนี้ อาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย อาทิ เช่น
1) ไข้หวัดนก
โดยปกติแล้ว ไข้หวัดนกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอที่มักพบในนกป่าและนกบ้าน ซึ่งไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายระหว่างนกได้อย่างง่ายดายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด เนื้อเยื่อ หรือมูลของนกที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ในบางสายพันธุ์ เช่น H5N1 ไวรัสไข้หวัดนกสามารถแพร่สู่คนได้ โดยการสัมผัสโดยตรงกับนกป่วย นกที่ตาย หรือผ่านการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์จากนกที่ปนเปื้อน เช่น ขนนก เนื้อสัตว์ หรือมูลนก โดยผู้ป่วยไข้หวัดนกจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ในบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปอดบวม หรือเสียชีวิต
2) โรคไข้นกแก้ว
โรคไข้นกแก้ว หรือ โรคซิตตาโคซิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Chlamydia Psittaci ซึ่งมักพบในนกแก้ว นกพิราบ นกคีรีบูน และสัตว์ปีกอื่น ๆ เชื้อโรคจะแพร่กระจายสู่คนผ่านการสูดหายใจเอาละอองฝุ่นละอุดมไปด้วยเชื้อจากมูลหรือขนนกที่แห้ง โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้นกแก้ว มักจะมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ไอแห้ง หรือ ปวดกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการรุนแรง เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ และ เยื่อบุสมองอักเสบ
3) โรคซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis)
โรคซัลโมเนลโลซิสเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียซัลโมเนลลา มักพบได้บ่อยจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนไปด้วยเชื้อ ซึ่งนกพิราบเป็นพาหะสำคัญของโรคนี้เลยทีเดียวค่ะ โดยปกติแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการ เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และอาจมีเลือดปนในอุจจาระ โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองได้ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำและสารละลายเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ และรับประทานอาหารอ่อน ๆ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาทิ เช่น ท้องเสียรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
4) โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)
โรคนี้มักเกิดจากการติดเชื้อรา Histoplasma ซึ่งจะอยู่ในมูลของนกพิราบ หากผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรงมักจะไม่แสดงอาการ ซึ่งอาการที่แสดงมักจะเป็นไข้ ไอ และมีเมื่อยล้า แต่ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ อาจมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงมากขึ้นได้
วิธีการป้องกัน โรคที่มาจาก นกพิราบ
เชื้อราในปอด หรือ โรคอื่น ๆ ที่เกิดจากนกพิราบ สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ โดยมีวิธี ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ ที่มีมูลสัตว์ปีกเยอะ ๆ
- หากมีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีนกพิราบ หรือมูลนกพิราบ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงการให้อาหารนกพิราบ
- ฉีดวัคซีนป้องกัน เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนนิวโมคอคคัส ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคปอดติดเชื้อได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย
การให้อาหารนกพิราบ ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่แสดงความเมตตา แต่ก็แฝงอันตรายจากเชื้อราในมูลนก ซึ่ง โรคที่มาจาก นกพิราบ อาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบรุนแรงได้ เหมือนกับกรณีล่าสุด ที่แพทย์ได้เผยเคสผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการให้อาหารนกพิราบ ซึ่งการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อตัวนี้เข้าไป อาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบ เชื้อราในปอด ทำให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่น จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารนกพิราบ หากจำเป็นควรเลือกสถานที่เหมาะสม เก็บกวาดเศษอาหาร และป้องกันไม่ให้นกพิราบทำรังในบริเวณบ้าน การอยู่ร่วมกับนกพิราบอย่างชาญฉลาด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และส่งเสริมสุขภาพที่ดี ทั้งตัวเราเองและคนรอบข้าง
ที่มา: Kapook, MedPark, Bangkok Hospital, Petcharavej
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโควิดในเด็ก ที่พ่อแม่ควรแยกให้ออก
หลอดลมอักเสบ เพราะบุหรี่ที่พ่อสูบ ทุกมวนของพ่อ ส่งผลให้ลูกป่วยนะรู้ไหม
ทารกเป็นหวัดมีเสมหะ เสมหะติดคอลูก ควรทำอย่างไร ? ให้ลูกหายใจโล่ง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!