เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวสุดสะเทือนใจ และนับว่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับผู้ปกครองที่ต้องคอยเฝ้าสังเกตลูกน้อยให้ดี เมื่อ เด็กชายวัย 2 ขวบ ไปตลาดกับคุณย่า เมื่อกลับมาถึงบ้าน เด็กชายก็เกิดอาการมีไข้และเท้าขวาบวม ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อ แบคทีเรียกินเนื้อ
เหตุการณ์สุดสะเทือนใจ ด.ช. ติดเชื้อ แบคทีเรียกินเนื้อ อาการทรุด เพียงแค่ถือถุงปลาสด!
เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นที่เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อเด็กชายเฉิน ในวัย 2 ขวบ ได้เดินทางไปตลาดกับคุณย่า เพื่อไปซื้ออาหาร โดยคุณย่าเล่าว่า ในขณะที่เธอกำลังเลือกซื้ออาหารอยู่นั้น หลานชายก็หันไปเห็นปลา เธอจึงตัดสินใจซื้อปลาสดกลับบ้านไปด้วย โดยให้หลานชายเป็นคนถือถุง
เมื่อกลับมาถึงบ้าน เธอก็พบว่า จู่ ๆ เด็กชายเฉินก็เริ่มมีไข้ เท้าขวาบวมและนิ้วเท้าดำ ด้านคุณพ่อเมื่อเห็นอาการไม่ดี จึงรีบพาลูกน้อยไปหาหมอทันที ซึ่งคุณหมอได้ทำการวินิจฉัยอาการว่า เด็กชายติดเชื้อ แบคทีเรียกินเนื้อ หรือ Vibrio Vulnificus ซึ่งต้องทำการเข้ารักษาใน ICU เบื้องต้นคาดว่า เด็กชายอาจบังเอิญสัมผัสโดนปลาที่ตายแล้ว ในขณะที่ถือถุงทำให้เกิดการติดเชื้อ แบคทีเรียกินเนื้อ
ณ ตอนนี้คุณหมอได้เผยว่าอาการของเด็กชายยังไม่ดีมากนัก และอาจถึงขั้นต้องตัดเท้าขวาเพื่อรักษาชีวิต ทางด้านผู้เป็นพ่อและคุณย่า เมื่อได้ทราบข่าวจากคุณหมอ ก็ใจแทบสลาย
ตัวคุณพ่อผู้เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ได้แต่ตำหนิตัวเองว่าเขาไม่สามารถดูแลลูกของเขาได้ดี ในขณะที่คุณย่าได้แต่สวดภาวนาให้หลานชายพ้นขีดอันตรายอยู่นอกวอร์ด
ที่มา: Sanook
เชื้อ แบคทีเรียกินเนื้อ คืออะไร?
รายงานจากศูนย์คุ้มครองสุขภาพแห่งฮ่องกง ระบุว่า เชื้อ แบคทีเรียกินเนื้อ สามารถเกิดขึ้นได้ตามแหล่งธรรมชาติในน้ำทะเลอุ่น ซึ่งในทะเลบ้านเราก็สามารถเกิดการติดเชื้อนี้ได้ด้วยเช่นกันโดยการติดเชื้อนี้สามารถเกิดการขึ้นได้ 2 แบบ คือเมื่อบาดแผลสัมผัสกับน้ำทะเล แม้ว่าจะเป็นแผลขนาดเล็กก็ตาม ที่เกิดจากการฝังเข็ม รอยสักใหม่ ๆ เป็นต้น หรือ การรับประทานอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุกที่ปนเปื้อนไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย
บทความที่เกี่ยวข้อง: สาธารณสุขเตือนช่วงหน้าร้อนนี้ ทานอาหารสุก ร้อน สะอาด
การติดเชื้อชนิดนี้อาจทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย ติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงของเนื้อเยื่ออ่อนและพังผืด ซึ่งสามารถไปทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายได้
ในกรณีผู้ป่วยที่มี โรคตับ โรคพิษสุราเรื้อรัง เบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ธาลัสซีเมีย ไตวายเรื้อรัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และภาวะเม็ดเลือดแดงตกทางพันธุกรรม อาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ใน
อาการของโรคติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ
อาการของโรคนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ การติดเชื้อที่บาดแผล และการติดเชื้อในกระแสเลือดที่เกิดจากการรับประทาน อาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้ค่ะ
- ไข้
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- มีโอกาสเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งในผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเกิดภายใน 12 ชั่วโมงหลังมีอาการดังกล่าว ก่อให้เกิดไข้หนาวสั่น ความดันตก และ ช็อกได้ค่ะ
โดยปกติแล้ว อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 3 ชั่วโมง – 3 วัน หลังจากได้รับเชื้อ
และก่อให้เกิดรอยโรคทางผิวหนังเฉพาะตัว คือ ผิวหนังพองเป็นตุ่มน้ำที่แขนและขา ถุงน้ำปนเลือด เนื่องจากมีเกล็ดเลือดต่ำแทรกซ้อน ส่วนคนที่ได้รับเชื้อเข้าทางบาดแผล มีแผลอักเสบ บวมแดง อาการมักไม่รุนแรง แต่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจอักเสบมากถึงผิวหนังชั้นใน เยื้อหุ้มกล้ามเนื้อเกิดการอักเสบ เป็นโรคเนื้อเน่า หรือ เกิดเป็นโรค แบคทีเรียกินเนื้อคน (Necrotizing Fasciitis) ได้
วิธีการรักษาและแนวทางการป้องกัน
การรักษารวมถึงการทำความสะอาดแผล ควรปิดแผลด้วยผ้ากันน้ำจนกว่าแผลจะหายดี ที่สำคัญหากเป็นบาดแผลเล็กน้อยหรือไม่ได้ติดเชื้อก็ควรได้รับการรักษาทันทีโดยใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพื่อหยุดการติดเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย ในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นโรค Fasciitis แบบเนื้อตายอาจต้องได้รับการผ่าตัด เช่น การนำเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกหรือตัดแขนขาออก นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการรักษาอย่างเข้มข้นและเคร่งครัด
นอกจากนี้ ทางศูนย์คุ้มครองสุขภาพแห่งฮ่องกง ได้ออกมาเตือนให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งปฏิกูลทางผิวหนังเมื่อไปตลาด และระมัดระวังในการสัมผัสกับส่วนที่แหลมคมของอาหารทะเลมากขึ้น เช่น ครีบปลา หัวกุ้ง และปู เพื่อหลีกเลี่ยงการเจาะทะลุเข้าผิวหนัง และควรสวมถุงมือป้องกันหากต้องจับหอยดิบหรืออาหารทะเลอื่น ๆ ด้วยค่ะ
ที่สำคัญ อาหารทะเล โดยเฉพาะ หอยนางรม หอยกาบ หอยแมลงภู่ เป็นต้น ควรจะต้องปรุงให้สุกจนเปลือกเปิด ในขั้นตอนการปรุงอาหาร ควรแยกวิธีการปรุงสุกและอาหารทะเลดิบอย่างเหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อค่ะ
เหตุการณ์สะเทือนใจ หนูน้อยวัย 2 ขวบ ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ จากการไปตลาดกับคุณย่า สร้างความตระหนกตกใจให้กับครอบครัวและสังคม กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของแบคทีเรียกินเนื้อ ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายผ่านบาดแผล และส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียอวัยวะได้ ดังนั้น ผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัว ควรใส่ใจดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในขั้นตอนการปรุงอาหารให้สุกและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับส่วนที่แหลมคมของอาหารทะเลค่ะ
ที่มา: Praram 9 Hospital
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ใจสลาย! หนูน้อยวัย 8 เดือน เสียชีวิตกะทันหัน แพทย์ชี้สาเหตุจากการ เคี้ยวข้าวป้อนลูก
ผักผลไม้ 5 สี กินแล้วดีอย่างไร? เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี ประโยชน์เพียบ!!
10 อาหารอันตรายหน้าโรงเรียน ภัยอันตรายจากอาหารหน้าโรงเรียน