เรียกได้ว่าเป็นที่ฮือฮาบนโลกโซเชียลอย่างมาก สำหรับ “น้องโอโม่” เด็กเก่งนักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จังหวัดสกลนคร ที่ได้สอบติดรอบ Portfolio ถึง 15 สาขา จาก 9 มหาวิทยาลัยชื่อดัง ล่าสุดน้องโอโม่ได้ตัดสินใจทำตามความฝัน และเลือกแล้วว่าจะเรียนต่อที่ไหน
น้องโอโม่ เด็กเก่งม.6 ยื่นพอร์ตผ่าน 15 สาขา 9 มหาวิทยาลัยดัง
ถือเป็นที่โด่งดังบนโลกโซเชียล หลังจากที่เฟซบุ๊กเพจ Sci project.skr ได้โพสต์วิดีโอบรรยากาศที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกุล จังหวัดสกลนคร ประกาศชื่นชม นายฐิติพันธ์ วะเศษสร้อย หรือ “น้องโอโม่” นักเรียนชั้น ม.6/1 หลังจากผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในรอบ 1 หรือรอบ Portfolio โดยปรากฏว่าเจ้าตัวสอบติดถึง 15 สาขา จาก 9 มหาวิทยาลัย จนมีผู้เข้ามาชื่นชมในความเก่งเป็นจำนวนมาก
ล่าสุดน้องโอโม่ได้ออกมาสัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยน้องโอโม่ได้กล่าวว่า คลิปที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์นั้น เกิดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมหน้าเสาธงที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อประกาศชื่อมหาวิทยาลัยที่นักเรียนสอบติด ไม่ว่าจะเป็นคณะ สาขาวิชาไหนก็ตาม จะมีการประกาศทั้งหมด
ซึ่งในตอนนั้น เจ้าตัวก็ได้ยื่นสมัครไปทั้งหมด 9 มหาวิทยาลัย แต่เป็นหลายสาขาวิชา แต่ละมหาวิทยาลัยนั้น นักเรียนสามารถสอบติดได้มากกว่า 1 สาขาวิชา แต่โดยสรุปแล้ว น้องโอโม่สมัครและสอบติด 15 สาขา จาก 9 มหาวิทยาลัย
โดยการที่เจ้าตัวติดรอบที่ 1 ของรอบ Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานครั้งสุดท้าย เป็นรอบที่ยังไม่ใช้คะแนนสอบ แต่เป็นการใช้ผลงานยื่นเข้าสมัคร ซึ่งส่วนใหญ่ผลงานที่ยื่นจะเป็นงานที่พัฒนามาตั้งแต่สมัยม.4 เกี่ยวกับโครงงานวิทยาศาสตร์ และด้านนวัตกรรมการวิจัยที่ตนเองได้ทำกับชมรมของโรงเรียน
มีนางเสาวรจนี จันทวงค์ และนายวิริทธิ์พล วิเศษฐี เป็นครูที่ปรึกษาโครงงาน และนางนันทิชา ธาตุระหัน และดร.กิตติยา มุกดาประเสริฐ เป็นครูที่ปรึกษาประจำชั้น โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำขึ้นมา ใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี หรืออาจจะหลายเดือน เพื่อพัฒนาแข่งขันตามรายการต่าง ๆ ทำให้เจ้าตัวได้รางวัลระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ พร้อมสะสมผลงานเหล่านั้นมาทำเป็น Portfolio ในการยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัย
ในขณะเดียวกัน ก็มีการเรียนไปในโรงเรียนด้วย ซึ่งทางโอโม่ก็ได้เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญคือการรักษาเกรดเฉลี่ยให้ได้สูงสุด พร้อมกับที่ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องยื่นพอร์ตโฟลิโอ ก็จะได้ใช้เกรดเฉลี่ยกับผลงานสะสมต่าง ๆ ที่ทำมาตลอด 3 ปี นำไปยื่นเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ด้านน้องโอโม่ได้ฝากให้รุ่นน้องทุกคน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำผลงานและตั้งใจเตรียมตัวสอบ เพื่อให้ตัวเองได้เข้าไปเรียนในคณะที่อยากเรียนมากที่สุด
สำหรับ 15 สาขา จาก 9 มหาวิทยาลัย ที่น้องโอโม่สมัครและสอบติด มีดังนี้
- สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
- เภสัชศาสตรบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ทุนเพชรพระจอมเกล้าฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาฟิสิกส์วัสดุและเครื่องมือการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาฟิสิกส์ทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาวิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สัตวแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- วิทยาศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- สาขารังสีเทคนิค คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต
โดยน้องโอโม่ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเรียนที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะเป็นความชอบและพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งเมื่อจบออกมาก็จะได้เป็นเภสัชกรตามที่ตนตั้งใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ม.ปลายควรรู้! ประวัติส่วนตัวมีอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้ Portfolio น่าสนใจ
ที่มา : khaosod.co.th, pptvhd36.com
Portfolio คืออะไร
Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน คือ เอกสารหรือผลงานที่ใช้แสดงตัวตน ความรู้ ทักษะ ความสามารถ การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และรางวัลที่ได้รับ โดยอาจสอดคล้องกับสาขาวิชาที่เราสมัคร เพื่อนำไปยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS รอบ 1 หรือรอบ 2 ทางมหาวิทยาลัยอาจขอใช้พอร์ตโฟลิโอเพื่อประกอบการพิจารณา
เทคนิคการทำ Portfolio ให้โดนใจกรรมการ
สำหรับนักเรียนที่มีผลงานวิชาการ กิจกรรม ดนตรี หรือกีฬา สามารถนำมาใส่ในพอร์ตโฟลิโอเพื่อเป็นผลงานในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยเทคนิคในการทำ Portfolio ให้โดดเด่น มีดังนี้
1. ให้ข้อมูลสั้น กระชับ และตรงประเด็น
โดยทั่วไปแล้วกรรมการมหาวิทยาลัย ต้องการทราบตัวตนของนักเรียนว่าเป็นใคร โดยในส่วนนี้สามารถใส่ข้อมูลพื้นฐานให้ครบ เช่น ชื่อ-สกุล ชื่อเล่น วันเดือนปีเกิด ภูมิลำเนา เป็นต้น รวมถึงเหตุผลที่ต้องการเข้าเรียนเพื่อแสดงถึงทัศนคติและตัวตนของนักเรียน โดยสามารถเขียนเป็นเรียงความยาวไม่เกิน 1 หน้า A4 แต่บางโครงการก็อาจกำหนดหัวข้อมาให้ จึงต้องอ่านระเบียบการอีกครั้ง
2. ใช้สีสร้างความโดดเด่น
การใช้สีสามารถสร้างความน่าสนใจให้แก่แฟ้มสะสมผลงานของเราได้ ควรใช้สีให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะสีสามารถสื่อความหมายได้หลายอย่าง ซึ่งโดยปกติแล้วแฟ้มสะสมผลงานมักจะใช้สีประจำมหาวิทยาลัย หรือสีประจำคณะและสาขาที่นักเรียนต้องการเรียนต่อ เพื่อแสดงออกถึงความใส่ใจที่หาข้อมูลของมหาวิทยาลัยนั้น โดยแนะนำว่าไม่ควรใช้มากกว่า 3 สี เพราะจะทำให้แฟ้มสะสมผลงานควบคุมสียากและไม่โดดเด่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน ที่ดีควรประกอบด้วยอะไรบ้าง?
3. เรียงผลงานจากล่าสุดไปอดีต
ควรเรียงลำดับผลงานจากล่าสุดในอดีต โดยไม่ใช่แค่ข้อมูลของกิจกรรมหรือผลงานเท่า แต่รวมไปถึงข้อมูลหรือลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ประวัติส่วนตัว การศึกษา กิจกรรม และทักษะความสามารถ เป็นต้น รวมถึงรูปภาพประกอบแฟ้มผลงาน เพื่อให้กรรมการเข้าใจง่ายขึ้น
4. ใช้ฟอนต์ที่เหมาะสม
การใช้ฟอนต์ให้เหมาะสมเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยในแฟ้มสะสมผลงานไม่ควรใช้ฟอนต์มากกว่า 2-3 รูปแบบ และควรเลือกใช้ฟอนต์ที่ออกแนวทางการ เพื่อให้กรรมการได้เข้าใจ อาจแบ่งออกเป็นหัวข้อหลัก หัวข้อรอง และหัวข้อย่อย เป็นต้น
5. โชว์ทักษะและความสามารถให้มากที่สุด
การจะยื่นสมัครเข้าคณะ สาขา หรือมหาวิทยาลัยใดก็ตาม ควรเน้นให้เห็นทักษะ และความสามารถของนักเรียนให้โดดเด่น โดยควรเน้นไปที่ทักษะปัจจุบัน หรือรางวัลปัจจุบันที่เราได้รับ
6. ใส่ความเป็นตัวเองลงไป
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญอย่างมาก คือ การใส่ความเป็นตัวเองลงไปในแฟ้มสะสมผลงาน โดยนักเรียนแต่ละคนย่อมมีเอกลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ควรใส่ให้อยู่ในขอบเขตที่พอดี ไม่มากจนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้เราโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่นมากขึ้น
การทำ Portfolio เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กม. 6 ดังนั้น ควรดูความสอดคล้องของตนเองกับคุณสมบัติที่สาขาวิชาต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย หากอยากเข้าในคณะไหนก็ควรจัดทำพอร์ตโฟลิโอเพื่อคณะนั้นโดยเฉพาะ
ที่มา : trueplookpanya.com, admissionpremium.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อยากให้ลูกเป็นหมอ พ่อแม่อย่าพลาดลืมทำ 6 ข้อนี้เด็ดขาด!
สำรวจ สายการเรียน ม.ปลาย เรียนต่อสายไหน ให้เข้าคณะในดวงใจได้!
4 เทคนิค แบ่งเวลาอ่านหนังสือ สำหรับวัยรุ่นวัยสอบ จำง่าย ถึงเวลาพิชิตคะแนน