เชื่อว่าหลายคนอาจกังวลใจเมื่อต้องทำ Portfolio ยื่นในระบบ TCAS เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ประวัติส่วนตัวมีอะไรบ้าง และจะเขียนอย่างไรให้น่าสนใจ โดยการยื่นพอร์ตนั้น นักเรียนจะมีโอกาสที่จะเขียนข้อมูลประวัติส่วนตัวเพียงแค่ 10 หน้าเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องเขียนให้น่าดึงดูดใจ และต้องทำให้สะดุดตากรรมการ วันนี้เราจึงได้รวบรวมเทคนิควิธีการเขียน ประวัติส่วนตัวในพอร์ตโฟลิโออย่างไรให้น่าสนใจ จะมีอะไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปดูกันได้เลยค่ะ
ประวัติส่วนตัวใน Portfolio สำคัญอย่างไร
ประวัติส่วนตัวในพอร์ตโฟลิโอ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการทำพอร์ต เพื่อยื่นเข้าสู้รั้วมหาวิทยาลัย เพราะ Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน เป็นการรวบรวมหลักฐาน ที่แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ทางความสามารถ และความถนัดของนักเรียนแต่ละคน โดยจะใช้เพื่อยื่นในระบบ TCAS รอบที่ 1 หรือใช้ประกอบการพิจารณาในรอบที่ 2 บางครั้ง ดังนั้นนักเรียนจึงต้อง รู้วิธีการเขียนประวัติส่วนตัว เทคนิคการใส่ผลงานอย่างไรให้น่าสนใจ และควรรู้จักการทำแฟ้มสะสมผลงานให้มีความสวยงามอีกด้วย โดยความสำคัญของประวัติส่วนในแฟ้มสะสมผลงาน มีดังนี้
- เพื่อจัดทำ Portfolio ยื่นในระบบ TCAS รอบที่ 1 หรือรอบที่ 2 : แน่นอนว่าการเขียนประวัติส่วนตัวเป็นการจัดทำพอร์ตโฟลิโอเพื่อยื่นในการเข้าคัดเลือกการศึกษาต่อของระบบ TCAS รอบที่ 1 นั่นเอง โดยการเขียนประวัติส่วนตัวที่ดีนั้น จะช่วยสร้างแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนให้น่าสนใจ และดึงดูดตากรรมการ และหากนักเรียนไม่ผ่าน TCAS รอบที่ 1 ก็สามารถนำแฟ้มสะสมผลงานของเราไปปรับปรุงเพื่อใช้ยื่น หรือใช้เป็นหลักฐานประกอบการสัมภาษณ์ของนักเรียนในรอบต่อ ๆ ไปได้
- เพื่อแสดงถึงข้อมูลหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถ และความถนัดของนักเรียน : การเขียนประวัติส่วนตัวในแฟ้มสะสมผลงาน เป็นการแสดงหลักฐานถึงความสามารถพิเศษของนักเรียน เช่น ด้านสติปัญญา ด้านความถนัดและด้านสามารถพิเศษ และด้านสังคม เป็นต้น ซึ่งการเขียนข้อมูลหลักฐานเหล่านี้ จะมีส่วนให้กรรมการคัดเลือกเข้าเรียนต่อนั้น ได้รู้จักผลงาน ความสามารถของนักเรียนแต่ละคนว่า มีความสามารถในแต่ละด้านอย่างไร แล้วจากนั้นจึงนำไปประกอบการพิจารณาส่วนที่เหลืออีกทีนั่นเอง
- เพื่อเป็นแนวทางการเขียน Portfolio ในการประกอบการคัดเลือกในการศึกต่อ การฝึกงาน หรือการทำงานในอนาคต : การที่นักเรียนสามารถรู้เทคนิควิธีการเขียนประวัติส่วนตัวในแฟ้มสะสมผลงานเบื้องต้น ทำให้เราสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำพอร์ต ในอนาคตได้ต่อไป อย่างที่ทราบกันดีว่า การทำพอร์ตโฟลิโอนั้น ไม่ใช่การใช้เพื่อเข้าคัดเลือกต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีในเรื่องของการฝึกงาน หรือการทำงาน ที่นักเรียนจะต้องทำในอนาคตอีกด้วย
เข้าใจหลักการเขียนประวัติส่วนตัวใน Portfolio เบื้องต้น
การเขียนประวัติส่วนตัวในแฟ้มสะสมผลงาน นักเรียนต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่าง โดยให้เลือกผลงานที่สอดคล้องกับคณะ หรือสาขาที่สนใจ และต้องเลือกผลงานที่ดึงความเป็นตัวตนของเราออกมาให้ชัดเจน นักเรียนควรเขียนกิจกรรมที่น่าสนใจ และเขียนประโยชน์ของการทำกิจกรรมนั้น เพื่อให้กรรมการได้รู้ว่า จะสามารถทำประโยชน์อะไรให้แก่คณะได้บ้าง เมื่อได้เข้ามาเรียนแล้ว
รวมทั้ง การเขียนประวัติส่วนตัวในพอร์ต ควรเขียนเป้าหมายของการเรียน และเป้าหมายของชีวิต ใส่ไว้ให้ชัดเจน เพื่อให้กรรมการได้เห็นถึงเป้าหมายในการเรียนของเรา นอกจากนี้ ความสวยงามของพอร์ตโฟลิโอก็สำคัญอีกเช่นกัน นักเรียนควรเลือกใช้ฟอนต์ที่อ่านง่าย เป็นทางการ ไม่ควรฟอนต์ที่ดูแล้วไม่เหมาะสม และควรเลือกสีที่ไม่โดดเด่นจนเกินไป เลือกใช้สีที่เป็นธีมเดียวกัน เพื่อให้ประวัติส่วนตัว และผลงานที่นักเรียนต้องการนำเสนอนั้นสะดุดตากรรมการ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โครงการเด็กดีมีที่เรียน ของ มศว. ต้องทำ portfolio แบบไหน ควรใส่อะไรในพอร์ตบ้าง
ประวัติส่วนตัวมีอะไรบ้าง
การเขียนประวัติส่วนตัวในพอร์ตโฟลิโอเพื่อใช้ยื่นในระบบ TCAS นั้น นักเรียนสามารถเขียนได้เพียงแค่ 10 หน้า ซึ่งไม่นับรวมหน้าปก สารบัญ และปกหลัง โดยนักเรียนจะต้องเขียนข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา ผลงาน และรางวัล หรือกิจกรรมที่มีความโดดเด่น ซึ่งจะต้องไม่มีความยาวที่ยาวจนเกินไป หรือสั้นจนเกินไป และหากเขียนบรรยายเพียงอย่างเดียวอาจไม่น่าสนใจ นักเรียนควรใส่รูปภาพประกอบ และเขียนบรรยายใต้รูปภาพอีกด้วย โดยจะแบ่งการเขียนประวัติส่วนตัวในพอร์ตโฟลิโอ ดังนี้
ส่วนที่ 1 หน้าปก สารบัญ และปกหลัง
การเขียนส่วนที่ 1 ถือเป็นการสร้าง First Impression ของนักเรียน ให้แก่กรรมการเป็นอย่างมาก โดยการเขียนหน้าปก จะต้องแสดงความเป็นตัวตน และหน้าตาของเราให้มากที่สุด แนะนำให้เน้นแบบเรียบง่าย และไม่ฉูดฉาดจนเกินไป ควรเลือกใช้แฟ้มที่ไม่ใหญ่จนเกินไป ขนาดกำลังพอดี หรือเลือกทำแบบหนังสือก็ได้
โดยในส่วนหน้าปกนั้น นักเรียนควรใส่รูปภาพของตัวเองที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของเรามากที่สุด แนะนำให้ใส่ชุดนักเรียนถ่ายรูปดีกว่าชุดไปรเวท และควรเขียนรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น ชื่อ-สกุล โรงเรียน สาขา คณะ และมหาวิทยาลัยที่นักเรียนจะยื่น ขณะที่ในส่วนของสารบัญ ควรแยกหัวข้อสำคัญ เป็นหมวดหมู่ไว้ เช่น ประวัติส่วนตัว ความสามารถ ผลงาน กิจกรรมที่โดดเด่น และรางวัลที่ได้รับ เป็นต้น
ส่วนที่ 2 ประวัติส่วนตัว
ในการเขียนส่วนที่ 2 จะเป็นการเขียนประวัติส่วนตัวของตัวเอง นักเรียนต้องเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ-สกุล ชื่อเล่น อายุ ที่อยู่อาศัยปัจจุบัน วันเดือนปีเกิด ช่องทางการติดต่อ ข้อมูลของผู้ปกครอง เป็นต้น โดยจะต้องเขียนข้อมูลพื้นฐานของตัวเองอย่างครบถ้วน รวมถึงยังต้องใส่ความสามารถพิเศษ ความถนัด หรือสิ่งที่สนใจไว้ในส่วนนี้ด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของประวัติส่วนตัว ยังต้องใส่รูปภาพของตัวเองที่มีความชัดเจน ซึ่งจะใช้เป็นรูปโปรไฟล์ นั่นเอง การเขียนในพอร์ตโฟลิโอนั้น นักเรียนควรเลือกใช้ฟอนต์ที่มีความอ่านง่าย สบายตา และมีขนาดที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเขียนแบบเป็นทางการมากเกินไป เน้นความสามารถ และความถนัดที่โดดเด่น และน่าสนใจปิดท้าย และใส่รูปภาพของตัวเองที่แสดงถึงตัวตนมากที่สุด
ส่วน 3 ประวัติการศึกษา
การเขียนประวัติการศึกษา นักเรียนสามารถเขียนใส่ได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปัจจุบัน โดยต้องใส่ผลการเรียน หรือเกรดเฉลี่ย (GPAX) ไว้อย่างชัดเจน ในแต่ละระดับชั้น ซึ่งในส่วนนี้จะแสดงว่านักเรียนมีพัฒนาการเกรดอย่างไร ขึ้นลงมากน้อยแค่ไหน และจะใช้ในการพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์การคัดเลือกหรือไม่อีกด้วย นอกจากนี้นักเรียนต้องระบุชื่อโรงเรียน และสายการเรียนไว้อย่างชัดเจนในแต่ละระดับชั้นอีกเช่นกัน
ส่วนที่ 4 รางวัล ผลงาน และเกียรติบัตรที่โดดเด่น
อีกส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำพอร์ตโฟลิโอ คือ การใส่รางวัล ผลงาน และเกียรติบัตรที่ได้รับ ควรเน้นเป็นผลงานที่นักเรียนได้เข้าร่วม หรือได้รับรางวัลในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และควรใส่รูปภาพกิจกรรมที่มีรูปนักเรียนที่ชัดเจน โดยอาจเป็นกิจกรรมที่เคยเข้าร่วม เช่น งานกีฬาสี งานแสดงดนตรี กิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ หรือ การเข้าร่วมแข่งขัน หรือเป็นตัวแทนในระดับโรงเรียน เขต อำเภอ จังหวัด หรือประเภท เป็นต้น ควรเขียนคำบรรยาย และอธิบายไว้สั้น ๆ ในแต่รูปภาพ เพื่อให้กรรมการได้อ่าน
นอกจากนี้ นักเรียนยังสามารถเขียนผลงานที่ทำเพื่อส่วนรวม เช่น การเป็นตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งภายใน และภาพนอกโรงเรียนเป็นต้น นอกจากนี้ นักเรียนควรใส่รางวัล หรือผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะที่ตนเองอยากเข้าศึกษา เช่น หากอยากเข้าในคณะสถาปัตยกรรม ก็ควรมีผลงาน รางวัล หรือเกียรติบัตรที่เกี่ยวข้อง เพราะจะแสดงว่าเราเคยผ่านการเข้าร่วม หรือได้รับรางวัลมานั่นเอง ทำให้สร้างความน่าประทับใจได้มากกว่ากิจกรรมทั่วไป
ส่วนที่ 5 กิจกรรมสำคัญที่เคยเข้าร่วม
สำหรับในส่วนของกิจกรรมต่าง ๆ ควรเป็นกิจกรรมที่นักเรียน คิดว่าโดดเด่น หรือเป็นกิจกรรมเกี่ยวข้องกับคณะที่ตนเองสนใจ โดยอาจไม่จำเป็นต้องนำมาใส่ทุกกิจกรรม เลือกใส่เฉพาะกิจกรรมที่ตัวเองคิดว่าน่าสนใจ หรือกิจกรรมที่ตนเองภูมิใจที่เข้าร่วม และได้เป็นประสบการณ์ทั้งในโรงเรียน หรือนอกโรงเรียนก็ได้ นอกจากนี้ ควรวางวิธีจัดเรียงให้น่าอ่าน โดยการไล่ตามรางวัลที่ใหญ่ ไปจนรางวัลเล็ก เพื่อให้กรรมการได้เห็นความสำคัญของกิจกรรมนั้น ๆและยังต้องอธิบายรายละเอียด การเขียนให้กระชับ ไม่ยาวจนเกินไป เข้าใจง่าย และทำให้เห็นภาพด้วย
การเขียนประวัติส่วนตัวในพอร์ตโฟลิโอให้ถูกหลัก เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะใช้เพื่อยื่นในการเข้าคัดเลือกมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นการสร้างโปรไฟล์ของตัวเราเองให้มีความน่าสนใจ และโดดเด่นกว่านักเรียนคนอื่น ดังนั้น หากนักเรียนสามารถเข้าใจวิธีการเขียนประวัติส่วนตัวของตัวเองให้ถูกหลักแล้ว ก็จะสามารถทำพอร์ตที่ดึงดูดความสนใจให้กรรมการคัดเลือกเราได้ แอดขอเป็นกำลังใจให้นักเรียนทุกคน สอบติดมหาลัย และคณะที่ตัวเองหวังกันนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เตรียมตัวลูกให้พร้อมเข้ามหาลัยตั้งแต่เด็ก ทำยังไง? เตรียมตัวก่อนได้เปรียบกว่า
เทคนิคเด็ดๆ ที่จะช่วยให้ การอ่านหนังสือสอบ เป็นเรื่องง่าย
การสอบ O-NET สำคัญอย่างไร และทำไมต้องสอบ 9 วิชาสามัญ
ที่มาข้อมูล : trueplookpanya, smartmathpro, edugentuto
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!