เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ออกมาแชร์เรื่องราวจนกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ในขณะนี้ โดยระบุเอาไว้ว่า อุทาหรณ์สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกวัยนี้ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการ ดื่มน้ำกระท่อม ติดต่อกันเป็นประจำ เคยเจอแต่ในข่าว ไม่เคยคิดว่าจะมาเจอกับลูกตัวเองแบบนี้ ซึ่งอาการจากพิษของใบกระท่อมทำให้เกิดอาการปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ เบลอ ตาลอย ไม่มีสมาธิ ปวดตามเนื้อตามตัว ยิ่งถ้าเกิดว่าไม่ได้กินข้าว จะเหมือนเป็นหวัดไม่หายสักที ปัสสาวะมีสีเข้ม กลิ่นตัวแรง และอาเจียนเป็นเลือด
และล่าสุดได้ Admit เรียบร้อยแล้ว เพราะมีอาการที่บอกไว้ข้างต้นเป๊ะ ต้องล้างท้อง ล้างพิษออกจากไต พร้อมกับเจาะเลือดเพื่อตรวจหาปัสสาวะสารร่วมด้วย สำหรับใครที่ว่ามันดี ไม่มีพิษภัย ต้องลองคิดใหม่ก่อนที่จะสายเกินแก้ ซึ่งวันนี้เด็กชายมีอาการอาเจียนเป็นเลือด จนครูต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล และทางทีมแพทย์ให้นอนโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
ต่อมา ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังโรงพยาบาลด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อสอบถามรายละเอียดอาการของเด็กชายธนวรรธน์ ก่อมขุนทด หรือน้องโฟโต้ อายุ 14 ปี ซึ่งอาการล่าสุดตอนนี้ มีอาการดีขึ้นแล้วและรู้สึกตัวดีพูดคุยรู้เรื่อง แต่ก็ยังมีการตอบสนองช้า สับสน และยังวิงเวียนศีรษะ ปวดหัวเล็กน้อย แต่ไม่มีอาเจียนเป็นเลือดแล้ว เหลือเพียงมีอาการคลื่นไส้อาเจียนปกติ ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
เมื่อสอบถามไปยังนางสาวสรัญญา เขียววิลัย แม่ของน้องโฟโต้ ก็ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ลูกชายติดน้ำกระท่อมหนัก ดื่มมาแล้วประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งแม่ก็เคยเตือนไปแล้ว ทำโทษมาแล้วหลายครั้ง และหลังจากนั้นก็ไม่เคยเห็นลูกดื่มแล้ว แต่ลูกชายได้แอบไปดื่มกับเพื่อน ๆ ที่บ้านโดยไม่ให้แม่รู้ ซึ่งจนก็ได้สังเกตอาการของลูกชายมาตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน ลูกชายชอบบ่นว่ามีอาการปวดหัวอยู่บ่อย ๆ เป็นไข้ไม่หาย ง่วงนอนตลอดเวลา และมีอาการอาเจียน แต่ก็ไม่ได้หนักเท่าครั้งนี้ จนครูต้องหามส่งโรงพยาบาล จึงอยากจะฝากเตือนผู้ปกครองทุกท่าน ให้ดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้ถือว่าตนยังโชคดี ที่หมอช่วยไว้ได้ทันต้องล้างท้อง ล้างพิษออกจากไต
บทความที่เกี่ยวข้อง : พ่อให้ทารกดูด น้ำท่อม พร้อมแชร์ภาพลูกดูดขวด อ้างอยากรู้ว่าเลวร้ายจริงหรือ
เรื่องต้องรู้ก่อน ดื่มน้ำกระท่อม
แม้ว่าใบกระท่อมจะถูกถอดถอนออกจากการเป็นยาเสพติดและไม่มีโทษทางกฎหมายแล้ว แต่หากใช้ใบกระท่อมอย่างผิดวิธีก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากสารเสพติดที่พบในใบกระท่อมมีหลายตัว ก็คือ mitragynine ซึ่งมันจะออกฤทธิ์คล้ายยากลุ่มโอปิออยด์ เช่น มอร์ฟีนหรือยาโคเดอีน หากใช้ไม่เกิน 5 กรัม มันจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงทำงาน รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และช่วยลดความเมื่อยล้าระหว่างวันได้ค่ะ
ทำไมคนถึงรับประทานใบกระท่อม
กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ และเป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยนิยมนำใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชาเพื่อดื่มให้มีแรงทำงานนานขึ้น ไม่อยากอาหาร ทนแดดมากขึ้น และมักจะเกิดอาการหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน
อาการข้างเคียงจากการกินใบกระท่อม
1. สำหรับคนที่ลองกินใบกระท่อมเป็นครั้งแรก อาจจะมีอาการมึนงง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน เวียนหัว และรู้สึกไม่สบายตัว
2. ถ้าเกิดว่าใช้ใบกระท่อมในปริมาณมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดอาการมึนเมาได้ค่ะ และทำให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ทำให้ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า แถมยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจด้วยค่ะ
3. คนที่ใช้ใบกระท่อมมาเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวมีสีคล้ำและเข้มขึ้น
4. การกินใบกระท่อมไม่ควรเกินวันละ 5 ใบ โดยรูดจากก้านแล้วเคี้ยวเหมือนเคี้ยวหมาก
5. บางรายอาจทำให้เกิดพิษเฉียบพลันได้ อาการหลัก ๆ ที่เจอได้ทั่วไปก็คือ อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการปวดท้อง ประสาทหลอน สับสน กระสับกระส่าย เหงื่อออกเยอะ และทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
6. มีอาการซึมมากในผู้ที่รับประทานใบกระท่อมปริมาณมาก เพราะโดยปกติห้ามกินเกิน 5 ใบ แต่กินไป 10 ใบ เป็นต้น
7. ไม่ควรกลืนกากเพราะเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก เพราะอาจจะส่งผลกระทบทำให้เกิด “ถุงท่อม” เป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องและทำให้ปวดท้อง
8. เมื่อหยุดใช้ใบกระท่อมจะทำให้เกิดอาการอยากกินอย่างรุนแรง และมีอาการถอน เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด เพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล แขนขากระตุกควบคุมไม่ได้ ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด แต่ถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไป และรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระมัดระวังทางกฎหมายที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะการนำใบกระท่อมไปใช้ผสมกับสิ่งเสพติดอื่น เช่น “สี่คูณร้อย” การขายน้ำต้มกระท่อมในหอพัก การขายน้ำกระท่อมในสถานศึกษา รวมไปจนถึงการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะต้องขออนุญาตผลิตตามพรบ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ก่อนด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกแต่งประโยค “แม่กินน้ำกระท่อม” ส่งคุณครู ทำเอาคุณแม่ถึงกับเขิน
5 เทคนิคการ “ต่อต้านยาเสพติด” ให้วัยรุ่นยุคใหม่หลุดพ้นจากสารร้าย ๆ
อาการอ้วกในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร ควรทำอย่างไรเมื่อลูกอ้วก
ที่มา :