เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่น่ากังวลในช่วงที่หลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมอยู่ก็ว่าได้ค่ะ สำหรับอาการป่วย ปอดอักเสบในเด็ก นับเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี แต่ถ้าหากเด็กต้องอยู่ในสถานที่เสี่ยงต่อการป่วย ก็อาจจะมีอายุที่มากกว่านั้นได้ วันนี้ theAsainparent จะไปทำความรู้จักกับโรคปอดอักเสบในเด็ก ตัวการร้ายที่ทำให้อาจเกิดอันตรายกันค่ะ
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับโรคนี้ ช่วงนี้หลายคนอาจจะเห็นว่าบางพื้นที่ที่น้ำท่วม ตอนนี้ระดับน้ำได้ลดลงไปแล้ว หลายครอบครัวต่างก็ทยอยย้ายกลับไปเตรียม เพื่อรอเวลาน้ำลดจนหมด ซึ่งข้อเสียของการที่น้ำท่วมนี้ก็คือกลิ่นอับที่รุนแรง จากความชื้นของบ้านและเชื้อรา ที่อาจเป็นอันตรายต่อบ้านที่มีเด็กเล็กอาจจะป่วยได้
โดยเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งในจังหวัดอยุธยา ได้เปิดเผยว่า บ้านของตัวเองจมน้ำอยู่นานผนังไม้-ผนังปูนมีความชื้น มีกลิ่นอับแถมราขึ้น เป็นเหตุให้หลานวัย 3 ขวบ ป่วยจากกลิ่นอับชื้น ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล เป็นเวลานานกว่า 3 วันแล้ว หมอบอกว่ามีอาการป่วยจากหลอดลมและปอดอักเสบ
ที่มา : เพจ ข่าวเวิร์คพอยท์
ปอดอักเสบในเด็ก คืออะไร ?
ปอดอักเสบ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ปอดบวม” อีกหนึ่งโรคที่มาพร้อมกับฤดูฝน และ ฤดูหนาว เป็นโรคที่อันตรายทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อปอด รวมทั้งเนื้อเยื่อรอบถุงลมและถุงลม ส่งผลให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจลดลง เกิดความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซในถุงลม ในเด็กบางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด เด็กที่เป็นโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะมีลักษณะการอักเสบของเนื้อปอดที่อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงนับเป็นโรคร้ายที่พ่อแม่ควรรีบหาทางป้องกัน และวิธีการป้องกันให้แก่ลูกน้อย
สาเหตุของโรคปอดอักเสบในเด็ก
โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
- ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การแพ้หรือการระคายเคืองจากสารที่สูดดมเข้าไป การสำลักอาหาร เป็นต้น
- ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ส่วนเชื้อราและพยาธิพบได้น้อยเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็กได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส , Gr.A Streptococcus, เชื้อฮิบ หรือ เชื้อไมโครพลาสม่า ส่วนเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะ ได้แก่ RSV, ไข้หวัดใหญ่ และ hmpv เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : เช็กอาการไวรัส RSV โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว
เด็กกลุ่มใดเสี่ยงปอดอักเสบ?
เด็กที่เสี่ยงโรคปอดอักเสบ ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เด็กตั้งแต่แรกคลอด – 5 ปี เด็กมีความพิการทางสมอง มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กไม่ได้กินนมแม่ ไม่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด มีภาวะทุพโภชนาการ เด็กที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรืออยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลรอบข้าง
ซึ่งโรคปอดอักเสบในเด็กสามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น หายใจเอาเชื้อเข้าปอดจากคนที่ไอ หรือจามใกล้กันแล้วไม่ได้ปิดปาก การสำลักเอาสารเคมี หรือเศษอาหารเข้าไปในปอด หรือแม้กระทั่งโดยการแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด จากที่มีการติดเชื้อที่บริเวณอื่นก่อนแล้วแพร่กระจายมาสู่ปอด เป็นต้น
อาการปอดอักเสบ
- มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจเร็ว รับประทานนมหรือดูดนมลำบาก จมูกบาน ซี่โครงบาน อกบุ๋ม ซึม และอาจมีอาการตัวเขียวได้
- ในบางรายอาจร้องกวน งอแง กระสับกระส่ายและหน้าสั่น ในบางรายที่มีอาการไม่เฉพาะเจาะจง
- อาการส่วนมากในเด็กมักไม่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ป่วยอาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ
- ในเด็กโตจะมีอาการเจ็บหน้าอกตลอดเวลาหายใจเข้าออก
ตารางแสดงอาการหายใจเร็ว ตามที่องค์การอนามัยโรคกำหนดค่าหายใจเร็วของเด็กที่นับได้ใน 1 นาที ดังนี้
อายุ | ค่ากลางที่นับว่าหายใจเร็ว |
เด็กแรกเกิด ถึง 2 เดือน | หายใจเร็วกว่า 60 ครั้ง/นาที |
เด็กอายุ 2 เดือน ถึง 1 ปี | หายใจเร็วกว่า 50 ครั้ง/นาที |
เด็กอายุ 1- 5 ปี | หายใจเร็วกว่า 40 ครั้ง/นาที |
เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป | หายใจเร็วกว่า 30 ครั้ง/นาที |
หมายเหตุ : เป็นการนับการหายใจขณะที่เด็กอยู่นิ่ง หากเป็นไปได้ควรนับเต็ม 1 นาที โดยดูจากการเคลื่อนไหวของหน้าอก หรือท้อง
การตรวจและวินิจฉัย
จากอาการและอาการแสดงข้างต้น หากแพทย์ตรวจร่างกายพบความผิดปกติของเสียงปอด ซึ่งอาจพิจารณาส่งตรวจรังสีวินิจฉัยเพื่อดูรอยโรคและความรุนแรงของโรค รวมถึงการตรวจเลือด และตรวจป้ายจมูก (nasal swab) เพื่อหาเชื้อสาเหตุร่วมด้วย เช่น ไวรัส
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคยอดฮิตหน้าฝน ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง อย่าให้ลูกน้อยติด!
วิธีการรักษาปอดอักเสบ
1. การรักษาแบบทั่วไป
- แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ และงดอาหาร
- ให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการตัวเขียว หายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวายหรือซึม
- ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่ได้ยินเสียงหลอดลมตีบ
- ในกรณีที่ให้สารน้ำที่เหมาะสมแล้ว ยังมีเสมหะเหนียวอยู่ อาจใช้ยาขับเสมหะ
- ทำกายภาพบำบัดทรวงอก เพื่อลดเสมหะถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น
- รักษาอื่น ๆ ตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้
- สำหรับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจ แพทย์จะพิจารณาถึงการใส่ท่อหลอดลม และเครื่องช่วยหายใจ
2. การรักษาจำเพาะ
- ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาจำเพาะ ยกเว้น ไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านเชื้อไวรัส ส่วนไวรัสชนิดอื่น ๆ จะให้การรักษาตามอาการ
- รักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเร็วที่สุด หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
คำแนะนำป้องกันปอดอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ที่แออัด ในช่วงโรคระบาด
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากไอรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
- ไม่ควรให้เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ใช้ช้อนกลางรับประทานอาหาร ไม่ใช้หลอดดูดน้ำ หรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น
- ฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไอพีดี หรือฮิบ หากสงสัยว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากปอดอักเสบ
- การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด กรณีที่ติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย
- ภาวะช็อก กรณีติดเชื้ออย่างรุนแรง
- ภาวะมีน้ำหรือเป็นหนองในเยื่อหุ้มปอด
- ภาวะมีฝีในปอด
วิธีป้องกันโรคปอดอักเสบในเด็ก
ป้องกันโรคดังกล่าวได้ โดยหลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่ ซึ่งมีคนแออัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป หมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อย ๆ ที่สำคัญคือเด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อโรค ที่อาจก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) ไอกรน รวมถึงวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มนิวโมคอคคัส หรือฮิบ วัคซีนชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดรุนแรง เช่น เด็กที่ไม่มีม้าม มีโรคไตชนิดเนโฟรติก หรือมีโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
จากความรุนแรงของโรคปอดอักเสบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้ลูกหลีกเลี่ยงการเป็นโรคนี้ได้ตามที่กล่าวมา ทั้งนี้การเลี้ยงดูลูกน้อยที่ดี การดื่มนมแม่เต็มที่โดยเฉพาะใน 6 เดือนแรกของชีวิต รวมถึงการได้รับประทานอาหารครบหมู่และมีประโยชน์ การพาลูกน้อยไปรับวัคซีนครบถ้วน การดูแลอยู่ให้ลูกน้อยอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดถูกสุขอนามัยอยู่เสมอ สอนลูกให้ล้างมือจนเป็นนิสัย หากลูกไม่สบายหมั่นสังเกตอาการและนำลูกไปพบกุมารแพทย์เมื่อลูกมีอาการไม่ดีขึ้น ย่อมนำพาให้ลูกน้อยหลีกไกลจากโรคปอดอักเสบรวมถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ ได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ป้องกันภูมิแพ้ ตั้งแต่วัยทารกได้อย่างไร ภูมิแพ้เด็ก ดูแลดี ก็หายได้
ผื่นคัน ภัยใกล้ตัวที่พ่อแม่มองข้าม แต่เป็นสาเหตุหลักที่อาจทำให้พัฒนาการลูกสะดุด!
โคลิคเกิดจากอะไร ? เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับไหม ทำไมทารกร้องไม่หยุดยามค่ำคืน
ที่มา : เพจข่าวเวิร์คพอยท์23, siphhospital.com, nakornthon.com