เมื่อพูดถึงอันตรายอันดับต้น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกบ้าน หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น โดนไฟช็อต โดนไฟดูด และคงจะไม่ดีแน่ ถ้าเหตุการณ์อันตรายนี้เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น หัวใจ ระบบประสาท ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้วิธีการป้องกันและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นแล้วก็สามารถรับมือได้อย่างมีสติ
จากกรณีเกิดฝนตกหนักทั่วเมืองอุดรธานี เกิดน้ำท่วมเมืองอุดร ฝนตกหนักนานกว่า 2 ชม. ทำให้น้ำท่วมถนนเกือบทุกสายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี โดยเกิดน้ำท่วมสูงเกือบ 50 ซม. การจราจรติดหนัก ผู้ปกครองที่มารับลูกกลับบ้าน ต้องหนีน้ำท่วมกันอย่างทุลักทุเล เวลาประมาณ 17.00 น. เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุไฟดูดนักเรียนที่นอนนิ่งอยู่ตรงโคนเสาไฟฟ้า บริเวณประตูด้านหลังโรงเรียนสตรีราชินูทิศ มีนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคมาเห็นเหตุการณ์พอดี ได้เข้าช่วยน้องที่ถูกไฟดูดออกมาได้หวุดหวิด แล้วแจ้งหน่วยกู้ชีพเข้าไปช่วยเหลือนำส่ง รพ.ศูนย์อุดรธานี ทันที
โพสต์ต้นฉบับ (คลิก)
โดยในคลิปจะเห็นว่า มีเด็กโดนไฟดูดจนหมดสติ ตัวติดอยู่กับเสากลางน้ำท่วม ผู้ถ่ายคลิปขับรถผ่านมาไม่สามารถลงมาช่วยได้ เพราะมากับลูกที่ยังเล็กจึงตะโกนให้คนช่วย ก่อนมีชายในชุดเสื้อกันฝนม่วงลุยน้ำท่วมเข้าไปเพื่อช่วยเหลือ แม้ตัวเองจะต้องเสี่ยงชีวิตโดนไฟดูดไปด้วย แต่ก็ไม่ยอมแพ้สามารถช่วยชีวิตน้องได้สำเร็จ ซึ่งก็ทำเอาชาวโซเชียลที่ได้เห็นคลิปเหตุการณ์ต่างชื่นชม พร้อมทั้งอยากเห็นหน้าของฮีโร่ตัวจริงคนนี้ ซึ่งจากเหตุนักเรียนถูกไฟดูด ที่แม้ว่าจะมีหนุ่มใจดีเสี่ยงเข้าช่วยเหลือได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ควรทำตาม เพราะหากโชคร้ายโดนกระไฟฟ้าแรงสูงกว่านี้ อาจทำให้ได้รับอันตรายทั้งคนเจ็บและคนช่วย แล้วการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุโดนไฟดูด ที่ถูกต้องและปลอดภัยนั้น ควรทำอย่างไร วันนี้ theAsianparent มีคำตอบมาให้ทุกคนค่ะ
วิธีช่วยเหลือเมื่อพบผู้ป่วย โดนไฟดูด
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ระบุไว้ว่า ในช่วงฤดูฝนเช่นนี้มักมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ นั่นคือ อันตรายจากไฟฟ้าดูด (electric shock) ไม่ว่าจะเกิดจากละอองฝนอาจกระเด็นไปโดนปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรือเกิดจากไฟรั่วตามเสาไฟสาธารณะต่าง ๆ หากมีคนเผลอไปสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้น ก็จะส่งผลให้เกิดไฟดูดและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : อันตรายจากสวนสนุก อุทาหรณ์! เฝ้าลูกเล่นสวนสนุก พ่อชนคานนวม ค่ารักษาเกือบ 3 ล้าน
สำหรับอาการของคนที่โดนกระแสไฟฟ้าดูด กระแสไฟจะไหลผ่านหัวใจทำให้หัวใจหยุดทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่นที่เป็นทางผ่านของกระแสไฟฟ้า เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะในช่องท้อง และระบบประสาท หากกระแสไฟฟ้ามีแรงสูงมาก ๆ ก็จะทำให้เนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านถูกทำลายอย่างรุนแรง และอาจเกิดอาการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้องได้ บางคนอาจมีอาหารชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็ว และหมดสติ ทั้งนี้ หากเราพบเห็นผู้ถูกไฟฟ้าดูด วิธีการเข้าไปให้การช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะต้องใช้ความระมัดระวังสูงและต้องทำด้วยความปลอดภัย โดยมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อาสาฉุกเฉินการแพทย์ (FR) ที่เคยให้ข้อแนะนำผ่านบทความวิชาการเอาไว้ดังนี้
1. ตัดกระแสไฟฟ้าในที่เกิดเหตุ
ต้องรีบหาแหล่งที่เกิดไฟฟ้ารั่ว และหาทางตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อนเข้าช่วยเหลือ หากเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูง ควรแจ้งการไฟฟ้าโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ตัดกระแสไฟฟ้า
2. แจ้งสายด่วน 1669
รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ให้เจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยจะได้รับอันตรายมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูด และการช่วยเหลือที่ถูกวิธี จะเพิ่มโอกาสรอดให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย
3. เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากบริเวณไฟรั่ว
หากตัดไฟแล้วให้เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากบริเวณที่ถูกไฟดูดให้เร็วที่สุด ทั้งนี้การเคลื่อนย้ายจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะผู้ป่วยอาจได้รับบาดเจ็บในบริเวณอื่นด้วย และต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกไฟดูดหรือเป็นผู้ประสบเหตุเองด้วย
4. ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าในการช่วยเหลือเสมอ
กรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินถูกกระแสไฟฟ้าดูดและมีสายไฟผ่านตัวผู้ป่วยอยู่ จะต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ไม้แห้ง เชือกที่แห้ง สายยาง ถุงมือยางหรือผ้าแห้ง พันมือให้หนาแล้วผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบเหตุให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือเขี่ยตัวผู้ประสบเหตุออกจากจุดที่กระแสไฟรั่ว
5. หากผู้ประสบเหตุอยู่ในน้ำขัง ผู้ช่วยเหลืออย่าลงน้ำ
กรณีที่ผู้ถูกไฟดูดอยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง ผู้ช่วยเหลือไม่ควรลงไปในน้ำเด็ดขาด จะต้องตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือจะต้องทำด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ และระมัดระวัง จากนั้นห่อหุ้มบริเวณที่ถูกไฟดูดด้วยผ้าแห้ง และจะต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฐมพยาบาลหากพบว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น จะต้องรีบทำรีบทำการฟื้นคืนชีพทันที
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไฟดูด ไฟช็อต
- หลังสับสวิตช์ไฟหรือตัดกระแสไฟฟ้าแล้ว ให้นำผู้บาดเจ็บออกมายังที่ปลอดภัย
- หากผู้ป่วยถูกไฟฟ้าแรงสูงดูด และมีสายไฟพาดผ่านตัวผู้ป่วยอยู่ ต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวนไม่นำกระแสไฟฟ้าเช่น ไม้ เขี่ยเอาสายไฟออกจากตัวผู้ป่วยก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ
- หากร่างกายเปียกชื้นห้ามแตะอุปกรณ์ไฟฟ้าเด็ดขาด เพราะจะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายได้สะดวก เป็นอันตรายถึงชีวิต
- ควรจะติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
วิธีป้องกันไฟดูด
- หมั่นคอยตรวจเช็กอุปกรณ์และสายไฟ ซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด
- วางสายไฟให้พ้นทางเดิน ไม่ควรวางสิ่งของหนักทับสายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟขาดหรือชำรุดได้ง่าย
- ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ
- ห้ามซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองโดยที่ไม่มีความรู้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภทในเต้าเสียบอันเดียว
- ต่อสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้น (ที่จำเป็น) เพื่อให้ไฟฟ้าลงดิน
- หากร่างกายเปียกชื้นห้ามแตะอุปกรณ์ไฟฟ้าเด็ดขาด เพราะจะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายได้สะดวก เป็นอันตรายถึงชีวิต
- ควรจะติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
หากเกิดเหตุลักษณะดังกล่าวให้อยู่ห่างจากเสาไฟเหล็กแบบนั้นให้มากที่สุด และโทรแจ้งไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง อย่างไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้แจ้ง 1129 เพื่อตัดกระแสไฟ ขั้นต่อมาให้หาวัสดุที่เป็นฉนวน เช่น ผ้าแห้ง ถุงมือยาง ถุงพลาสติกแห้ง ฯลฯ เอาไปฉุดผู้ประสบเหตุออกมาจากแหล่งไฟให้ไวที่สุด
หลักการสำคัญของการช่วยคนที่ถูกไฟดูดคือ คนช่วยต้องปลอดภัย เพราะถ้าเกิดไม่ปลอดภัย ตัวเปียก ก็จะโดนไฟดูดไปด้วย ผู้บาดเจ็บจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ หากช่วยผู้ประสบเหตุออกมาได้แล้ว แต่คนเจ็บหมดสติ ให้เริ่มทำ CPR ทันที (ทำบริเวณพื้นที่แห้ง) แล้วรีบโทรหา 1669 แต่ที่สำคัญต้องเอาคนเจ็บออกมาให้ห่างจุดที่ไฟฟ้ารั่วให้มากที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
Digital footprint คืออะไร ? ทำไมถึงทำลายอนาคตเด็กโดยไม่รู้ตัว
แม่แชร์อุทาหรณ์! เผลอทำเท้าลูกติดรูระบายน้ำ เหตุการณ์ครั้งนี้จำไปตลอดชีวิต
ทำความรู้จัก AMBER Alerts ให้มากขึ้น ตัวช่วยหลักเพื่อป้องกันปัญหาเด็กหาย
ที่มา : niems.go.th, nakornthon.com, sanook.com