ความรัก เป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดของมนุษย์ เช่นเดียวกับ ความหิว ความกระหาย ความง่วง การขับถ่าย การสืบพันธุ์ ซึ่งหลายครั้งอาจพูดได้ด้วยซ้ำ ว่ามนุษย์เราต้องการความรักมากกว่า ความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตด้วยซ้ำ เพราะความรัก หรือ ความสัมพันธ์ เป็นอีกหนึ่งการเติมเต็มความสมบูรณ์ทางใจ อย่างไรก็ตาม ความรักก็ยังถือเป็นเรื่องลึกลับสำหรับมนุษย์อยู่ดี เพราะเป็นเรื่องที่ยากจะกำหนดให้ได้ตามใจต้องการ
วันนี้ theAsianparent จะพาไปรู้จักความรัก และรู้จักกับความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ที่หลายคนในสมัยนี้ไม่เข้าใจ และมันแปลกแต่มีอยู่จริงนะ
ตอบคำถาม ความรักคืออะไร ?
ทุกคนนิยามความรักไว้อย่างไรกันบ้างและองค์ประกอบที่สำคัญของความรักสำหรับคุณคืออะไร ? บางคนก็ว่าเกิดจาก “ความเข้าใจ” หรือบางคนก็นิยามความรักว่าเป็นเรื่องของ “ความเข้ากันได้” ซึ่งหลาย ๆ คนต่างก็มองความรักด้วยมุมมองที่แตกต่างกันออกไปตามความคิดตัวเอง แต่ว่าบนโลกนี้มีการนิยามเรื่องความรัก จนกลายเป็นทฤษฎีมากมาย ส่วนใหญ่จะจัดประเภทตามที่ผู้คนส่วนใหญ่เคยประสบพบเจอในชีวิต แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกหนึ่งทฤษฎีที่หลายคนยอมรับ นั่นก็คือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก (Triangular theory of love)
รู้จักกับ “ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก”
ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก คือ ทฤษฎีที่ว่าด้วย “รูปแบบของความรัก” ของโรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (1986) เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่นักจิตวิทยายกตัวอย่างมาใช้มากที่สุด เพราะเป็นการอธิบายถึงธรรมชาติและรูปแบบของความรักความสัมพันธ์ ซึ่งความรักแต่ละรูปแบบก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ “ความใกล้ชิด ความเสน่หา และความผูกมัด”
- ความใกล้ชิด (Intimacy) คือ ความรู้สึกผูกพัน คุ้นเคย ใกล้ชิดสนิทสนม การแลกเปลี่ยนความคิด และการสื่อสารที่ดีมีความเข้าใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางความสัมพันธ์ และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในระยะยาว ถือเป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์
- ความเสน่หา (Passion) คือ ความรู้สึกหลงใหล ความดึงดูด หรือมีแรงขับทางเพศ ความรู้สึกพึงพอใจในรูปลักษณ์ภายนอก รวมไปถึงกิริยาท่าทาง การแสดงออก จริตต่าง ๆ เป็นส่วนที่ทำให้มีความต้องการในการดำเนินความสัมพันธ์ หรือทำให้เกิดความรู้สึกโรแมนติก ถือเป็นองค์ประกอบด้านแรงจูงใจ
- ความผูกมัด (Commitment) คือ การตัดสินใจอะไรต้องทำร่วมกับอีกคน ไม่ว่าจะเป็นการตกลงทางด้านความสัมพันธ์ การตัดสินใจที่จะรักกัน การใช้ชีวิตร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ความรับผิดชอบในความสัมพันธ์ตามที่ตกลงกันไว้ และการวางแผนที่จะใช้ชีวิตด้วยกันต่อไปในระยะยาว เป็นองค์ประกอบทางด้านความคิด
แต่ไม่ว่าความสัมพันธ์ของคุณจะมีครบทั้ง 3 ข้อหรือไม่ สิ่งที่ควรต้องนำมาประกอบการพิจารณาก็คือ การเรียนรู้ว่าหากขาดข้อใดไป ควรที่จะปรับหรือเพิ่มอย่างไรให้พอดีกัน เพราะหากมีองค์ประกอบความรักเพียงอย่างเดียว อย่างไรความรักก็ไปไม่รอด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหารักต่างวัย วิธีรับมือกับความต่าง พร้อม How To คบอย่างไรให้ลงตัว
ความสัมพันธ์ คืออะไร ?
ความสัมพันธ์ต่างมีหลากหลายมุมมองในตัวของมันเอง บางครั้งความสัมพันธ์อาจมาในรูปแบบของคำว่าสบายใจ มากกว่าคำว่ารัก และคำว่ารัก อาจจะไม่ได้แปลว่ารักจริง ๆ เพราะมนุษย์ชอบพูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจมากกว่าสิ่งที่รู้สึก แต่บางความรู้สึกก็ไม่สามารถนิยามออกมาเป็นคำพูดได้ สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่การแสดงออกและการกระทำ และไอ้การกระทำเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ชัดเจนบ้าง และไม่ชัดเจนบ้าง เพื่อให้คุณได้เข้าใจตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น เพราะโลกของเราไม่ได้กำหนดความสัมพันธ์มาเพียงรูปแบบเดียวดังนั้นไปเรียนรู้กันค่ะ ว่าแต่ละความสัมพันธ์นั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง
1. แอบแซ่บ (Stashing)
ความสัมพันธ์แบบแอบแซ่บ เป็นสิ่งที่หนุ่มสาวยุคนี้นิยม โดยอาจจะเริ่มจากการคุย ออกเดต และจบที่บนเตียง แต่ทั้งนี้จะไม่มีใครรู้ เก็บเป็นความลับ ทำตัวเหมือนโสดเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นในสังคมหรือบนโซเชียล ก็ยังไม่มีแฟน ซึ่งความสัมพันธ์นี้หากไม่ได้มีใครที่คบหรือคุยอยู่ ก็อาจจะไม่แปลกอะไร เพราะอาจจะยังไม่พร้อมเปิดตัวก็ว่ากันไป แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายมีคนที่คบกันอยู่แล้ว ไม่ควรที่จะเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบนี้
2. มีแฟนแล้ว แต่ก็หาคนคุย (Cushioning)
คนที่อยู่ในสถานการณ์แบบ “ฉันมีแฟนแต่ก็หาคนคุยอยู่เพิ่มอีก” ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีแฟนจริงจัง เป็นตัวเป็นตน แต่ก็ยังแอบปัดทินเดอร์ แอบให้ใจคนอื่นบ้าง โดยให้เหตุผลว่า อยากเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอคนใหม่ ๆ หากว่าคลิกกันมากกว่าคนเก่า ก็จะหยุดเดินต่อกับคนเดิมแล้วเลี้ยวไปหาคนใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งแอบเป็นความเห็นแก่ตัวที่เผื่อเลือกจนเกินไป หากใครได้เข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ เลือกได้ก็ออกมาจะดีกว่า
3. ความสัมพันธ์ ที่กลายเป็นผี เพราะอยู่ดีก็หาย (Ghosting)
ความสัมพันธ์แบบอยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นผี เพราะไม่ตอบแชตหลังจากที่รู้สึกเบื่ออีกฝ่ายก็จะหายเงียบไป ทำตัวไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ทุกช่องทาง เหมือนกับว่าไม่มีตัวตน คือนับเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำกันบ่อยมาก และจะไม่มีการอธิบายไว้ก่อนด้วยว่า จะหายไปไหน หายไปนานเท่าไร และจะกลับมาอีกหรือเปล่าก็ให้ความมั่นใจไม่ได้ นับเป็นความไม่ชัดเจนที่ชัดสุด ๆ เพราะถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้คือไม่จำเป็นเลยที่จะต้องรอ Move On ไปหาคนใหม่ดีกว่า
4. แฟนเดย์ (Cuffing season)
อยากมีแฟนแค่เฉพาะวันเทศกาล นับว่าเป็นอีกความสัมพันธ์ที่เห็นได้บ่อย เป็นความสัมพันธ์ที่มักเริ่มต้นด้วยความเหงา ความไม่อยากอยู่คนเดียว บางทีก็อยากมีแฟน แต่พอมีแฟนขึ้นมาจริง ๆ ก็รู้สึกเบื่อ แต่ก็ยังอยากได้รับความรัก วนลูปไปมา ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นในช่วงวันเทศกาล หรือบางฤดูกาลเท่านั้น เช่น ช่วงวันวาเลนไทน์ คริสต์มาส ปีใหม่ ช่วงวันสิ้นปี และพอรู้สึกหายเหงาแล้ว ก็จบความสัมพันธ์นั้นไป
5. คุยเผื่อเลือก (Benching)
ความสัมพันธ์แบบคุยเผื่อเลือก ถูกนิยามว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกอีกฝ่ายปล่อยให้รอ คุยซ้อนซ่อนเงื่อน ทำเหมือนเป็นตัวเลือก คุยกันด้วยความที่เหมือนจะศึกษาดูใจ ไม่ชัดเจน ไม่พร้อมเลือกใคร เดี๋ยวมาเดี๋ยวหาย เพราะคุยกับคนอื่นไปด้วย ยังไม่อยากมีแฟนแต่ก็คุยกับใครหลาย ๆ คน หากใครที่เป็นคนคุมเกมก็อาจจะสบายใจในระดับหนึ่ง แต่คนที่เป็นคนรอความรัก อาจจะต้องทนทุกข์เพราะทำอะไรไม่ได้ก็เป็นได้
6. เช็กเรตติ้ง (Breadcrumbing)
ถ้าพูดง่าย ๆ ในความสัมพันธ์นี้ อาจเหมือนเป็นการเรียกร้องความสนใจ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงคนเดียว ซึ่งการกระทำเหล่านั้น อาจจะมาจากการทำดี พูดจาหว่านล้อม ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับความสนใจจากอีกฝ่ายด้วยการรุกอย่างหนัก โดยที่ผลปลายทาง ไม่ได้ต้องการที่จะสานสัมพันธ์แบบจริงจังด้วย แต่ที่ทำแบบนี้ก็เพราะต้องการทำให้ตนเองรู้สึกดีที่มีคนอื่นมาให้ความสนใจและเอาใจใส่ตนเองมาก ๆ
7. ไม่เป็นตัวของตัวเอง (Eclipsing)
ถ้าพูดถึงความสัมพันธ์แบบนี้ อาจจะมีใครคนใดคนหนึ่งที่รู้สึกเหนื่อยมากกว่าก็เป็นได้ เพราะความสัมพันธ์แบบที่ “ไม่เป็นตัวเอง” ส่วนใหญ่แล้วจะมีลักษณะสถานการณ์ที่ฝ่ายหนึ่งยอมทำทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงตนเอง ทำสิ่งที่ตนเองไม่ชอบหรือไม่ได้อยากทำ แต่ก็ยอมทำเพื่อให้อีกฝ่ายชอบ สนใจ หรือประทับใจอย่างฝืน ๆ ซึ่งในระยะเริ่มต้นก็อาจจะยังพอไหว ทำให้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นความเหนื่อย จนสุดท้ายต้องเลิกรากันไปในที่สุด
8. อยากเริ่มต้นใหม่กับคนเดิม (Orbiting)
การไม่มูฟออนก็คือว่า แม้ทั้งสองฝ่ายจะเลิกกันไปแล้ว ฝ่ายหนึ่งทำใจเดินหน้าต่อไปได้ แต่อีกฝ่ายยังไม่สามารถทำใจได้ และต้องติดอยู่ในภวังค์เดิม ๆ ยังตามส่องโซเชียลมีเดียของแฟนเก่า ตามกดไลก์กดแชร์ที่โปรไฟล์ของอีกคนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในรูปแบบนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนทั้งนั้น เพราะในบางครั้งการอยู่ในจุดเดิมอาจจะเป็นความสบายใจของคนนั้นก็ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างบรรเทาลง อาจจะทำให้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งก็ได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีจีบผู้ชายก่อนยังไงให้เนียน พร้อมเทคนิคแบบ (ไม่) ลับ ในการคุย!
เซ็กส์สำคัญกับชีวิตคู่ไหม เปิดใจฟังเพื่อปรับมุม กระชับรักที่คู่แต่งงานควรรู้
ทำยังไงให้สามีหึง ทริคเด็ดอย่างง่าย รับรองเลยว่าได้ผลแน่นอน
ที่มา : themanual , merriam-webster , bangkokbiznews
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!