ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่หลายบ้านพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นมากขึ้นค่ะ จากหลากหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบจิตใจเด็ก ตั้งแต่เรื่องการเรียน ความกดดันจากความคาดหวังขอพ่อแม่ สัมพันธภาพในครอบครัวและเพื่อน ซึ่งในฐานะพ่อแม่ที่รักและหวังดีต่อลูก จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ความปรารถนาดีนั้นกลายเป็นพิษ จนถูกมองว่าเป็น พ่อแม่ Toxic (Toxic Parents) จอมบงการหรือจอมเผด็จการในสายตาลูก หรือ มีส่วนทำลูกจิตป่วย จนทำให้ เด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น
ทำไม? เด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น เป็นเพราะ พ่อแม่ Toxic หรือเปล่า
ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นในไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นค่ะ โดยการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 360,069 ราย ของกรมสุขภาพจิต เมื่อช่วงต้นปี 2567 พบว่ามีความเสี่ยงซึมเศร้าถึงร้อยละ 10.86 เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 19.12
แล้วรู้หรือไหมคะว่า ในบางครั้งบางกรณี ความรัก ความหวังดี รวมถึงการกระทำบางอย่างของพ่อแม่นี่แหละกลับกลายเป็นการรังแกและผลักให้ลูกเป็น “โรคซึมเศร้า” (depression) โดยไม่รู้ตัวได้
แล้วเชื่อหรือเปล่าคะว่า เด็กสามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยแบเบาะ หัดเดิน ก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล ชั้นประถมฯ มัธยมฯ และในปัจจุบันพบว่าเด็กนักเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาการส่วนใหญ่อยู่ในช่วงแรกเริ่ม แต่ที่น่ากังวลคือ คุณพ่อคุณแม่กลับไม่รู้ว่าลูกป่วยและไม่ได้พาไปเข้ารับการรักษา เนื่องจากลูกน้อยก็ไม่รู้อาการของตัวเอง และไม่สามารถบอกได้ว่ามีอาการซึมเศร้า
สัญญาณเตือน “ภาวะโรคซึมเศร้า” ในเด็ก
เด็กคือวัยแห่งความสดใส ร่าเริง มีความสนุกสนานและพร้อมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา ดังนั้น หากวันหนึ่งลูกน้อยมีลักษณะที่ตรงข้ามกับธรรมชาติการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามที่ควรจะเป็น นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะโรคซึมเศร้าที่พ่อแม่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม เก็บตัว ชอบแยกตัวจากทุกคน รวมทั้งพ่อแม่
- มีความอ่อนไหว ร้องไห้บ่อยโดยไม่มีสาเหตุ
- อารมณ์หงุดหงิด โกรธ หรือโมโหฉุนเฉียวง่าย
- น้ำหนักตัวลูกน้อยลดลงหรือเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ มีการจุบจิบทั้งวัน หรือกินน้อยลง
- นอนหลับยาก นอนไม่หลับ หรือนอนทั้งวันมากไป
- บางครั้งมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
- อาจมีพฤติกรรมกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง ไม่มีสมาธิ ทำสิ่งสิ่ง ๆ ได้ไม่นาน
- มีความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง เคยชอบทำอะไรมาก ๆ กลับไม่ชอบ ไม่อยากทำ
- ในเด็กโตอาจมีอารมณ์ซึมเศร้า เห็นคุณค่าในตนเองน้อยลง พร่ำพูดถึงความตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย
พ่อแม่ Toxic มีส่วนทำลูกจิตป่วย ซึมเศร้า โดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า
Toxic parents คือ รูปแบบของพฤติกรรมที่พ่อแม่แสดงออก ซึ่งส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อสุขภาพทางอารมณ์ จิตใจ และแม้กระทั่งร่างกายของลูก โดยพฤติกรรมเหล่านี้อาจสร้างความรุนแรงและผลกระทบที่แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต และไม่เอื้อต่อการสร้างความสุขให้กับลูก
ตัวอย่างพฤติกรรมของ พ่อแม่ Toxic |
|
บงการ | มีการบงการ หรือขู่ เพื่อควบคุมการกระทำหรือการตัดสินใจของลูก |
การดูถูกเหยียดหยาม | การวิพากษ์วิจารณ์ ดูหมิ่น หรือเยาะเย้ยลูก |
การละเลย | เป็นการละเลยทางอารมณ์ ร่างกาย หรือจิตใจ โดยพ่อแม่ไม่สามารถให้การดูแล เอาใจใส่ และให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่ลูกได้ |
การควบคุมที่มากเกินไป | มีการควบคุมลูกเพื่อให้ได้ดังใจ กลายเป็นพ่อแม่เอาแต่ใจ |
ความรักแบบมีเงื่อนไข | มีการให้ความรัก เมื่อลูกมีคุณสมบัติตรงตามความคาดหวัง |
การบุกรุกความเป็นส่วนตัว | บุกรุกความเป็นส่วนตัวของลูก หรือรื้อค้นทรัพย์สินส่วนตัวโดยไม่ได้รับความยินยอม |
พฤติกรรมของพ่อแม่ Toxic นี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็กคือ สาเหตุทางจิตใจ ซึ่งพ่อแม่บางคนทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัวจากการเลี้ยงดูที่เข้มงวดมากจนเกินไป ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ รวมถึงการถูกละเลยหรือขาดความอบอุ่น ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากคนในครอบครัว นอกจากนี้ ความเครียด ความกดดัน จากการเรียน หรือผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่ตัวเอง หรือพ่อแม่คาดหวังก็ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือความบาดเจ็บทางใจให้ลูกได้
เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้กลายเป็น พ่อแม่ Toxic
เราเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมีความรักและความหวังดีเต็มเปี่ยมให้กับลูกน้อย รวมถึงมีเทคนิคและวิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมของตนเอง อย่างไรก็ตาม อาจมีพ่อแม่อีกหลายบ้านที่อาจไม่แน่ใจนักว่าความรักความหวังดีที่มอบให้ลูกนั้นจะเป็นการแสดงออกถึงการเป็น พ่อแม่ Toxic หรือไม่ ดังนั้น ขอเสนอ หลักการเลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้กลายเป็น Toxic Parents ดังนี้
-
เน้นการเลี้ยงลูก 3 ด้าน
ได้แก่ ร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็งและรักตัวเอง และเลี้ยงให้มีความรู้ ความคิด แยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยสื่อสารด้วยหัวใจ คือ เปิดใจ เข้าใจ รับฟัง เพราะการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม มีส่วนสำคัญกับชีวิตลูกน้อยมากๆ
-
รักแบบให้เกียรติ
ความรักที่มีให้ลูก ควรเป็นความรัก ความเอาใจใส่ ในแบบที่ต้องให้เกียรติ รับฟังลูก รู้จักตัวตนของลูกในแบบที่ลูกเป็นจริงๆ
-
ให้ความไว้วางใจ
คือการที่คุณพ่อคุณแม่วางใจว่าสิ่งที่อบรมสั่งสอน และการให้ความรัก จะนำพาให้ลูกสามารถเลือกและตัดสินใจในสิ่งที่ลูกชอบ สิ่งที่ใฝ่ฝัน หรือสิ่งที่หวังไว้ได้
-
ปรับพฤติกรรม
คุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาใส่ใจ พูดคุย ทำกิจกรรมกับลูกมากขึ้น โดยควรแสดงออกถึงความรักผ่านการโอบกอด หอมแก้ม ด้วยท่าทีอบอุ่น ห่วงใย ให้ความรักและกำลังใจ รับฟังความรู้สึกของลูก
-
เลี้ยงดูลูกตามพัฒนาการของช่วงวัย
ไม่นำลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนล้วนมีความเก่งในตัว ซึ่งพ่อแม่ควรต้องรู้ว่าลูกเก่งด้านใด อย่าวัดความเก่งของลูกเฉพาะด้านการเรียนเพียงอย่างเดียว และสิ่งสำคัญคือ อย่ากดดัน คาดหวัง บีบคั้น หรือบังคับลูก เพราะนั่นอาจมีส่วนทำลูกจิตป่วย หรือเป็นโรคซึมเศร้าได้
-
มีขอบเขต กฎกติกา
หากต้องการสร้างระเบียบวินัยให้ลูก กฎกติกาที่มีควรมีขอบเขต มีความแน่นอนแต่ยืดหยุ่น ไม่บังคับจนลูกไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างระเบียบวินัยควบคู่ไปกับการมอบความรักให้แก่ลูกได้ การสอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ เคารพกติกา กฎระเบียบของสังคม ในการที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น สามารถสอนด้วยความรักและความเข้าใจได้ค่ะ
พ่อแม่คาดหวังในตัวลูกน้อยนั้นเป็นเรื่องปกติค่ะ เพียงแต่ควรระวังไม่ให้ความคาดหวังนั้นเป็นพิษต่อตัวลูกและตัวคุณพ่อคุณแม่เอง โดยอาจเริ่มต้นจากการพยายามสื่อสารกันในครอบครัว แบบ 2 ทาง นั่นคือ การสื่อสารบอกลูก และการรับฟัง เพราะในฐานะที่เป็นลูก ก็สามารถมีความคาดหวังต่อตัวพ่อแม่ได้เช่นกัน ดังนั้น สื่อสารกันให้เข้าใจ ลูกมีความคาดหวังต่อตัวเองอย่างไร มีความฝัน หรือความหวังอะไรในอนาคต ทั้งการเรียน การทำงาน ฯลฯ หากการสื่อสารนี้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ลูกก็จะเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ มีภาวะจิตใจที่แข็งแรง พ่อแม่เองก็ไม่กลายเป็น Toxic Parents ด้วยค่ะ
ที่มา : dmh.go.th , www.hfocus.org , www.rama.mahidol.ac.th , www.bangkokbiznews.com , www.matichon.co.th , mgronline.com , ooca.co
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ชมเชยลูกยังไง ช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวก ส่งเสริมการพัฒนาตัวเองของลูก
ให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์ ขออนุญาตก่อนโพสต์ สร้างพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสริมพัฒนาการ
พ่อแม่ 10 แบบที่ทำให้ ลูกไม่มีความสุข คุณเป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่า?