“…ผมขอบคุณแม่ที่ให้เกียรติผม ถามผมทุกครั้งในการลงรูปของผม แม่เลิกถ่ายรูป เลิกถ่ายวิดีโอที่ผมไม่สะดวกใจเพื่อเอาไปลงสาธารณะ หรือทำ content ผมรู้สึกตัวเองมีค่ามาก ขอบคุณอิสระที่แม่มอบให้ผม… ผมดู YouTube ช่องนึงตั้งแต่ผมเล็ก ๆ อายุเท่าเขา จนวันนี้เด็กคนนั้นก็โตแล้วอายุเท่าผม ผมเห็นสายตาเขาแล้ว ผมเชื่อว่าเขาอยากออกจาก content ของพ่อแม่มากแต่ทำไม่ได้ ขอบคุณนะครับแม่…”
เป็นข้อความของ “น้องฑีฆายุ” ที่ “คุณแอนนี่ บรู๊ค” ได้โพสต์เล่าผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ถึงโมเมนต์ที่ลูกชายแสดงความขอบคุณ “คุณแม่” ที่ให้เกียรติ ให้อิสระ ไม่เปิดเผยภาพและข้อมูลส่วนตัวที่ลูกไม่สะดวกใจบนโลกออนไลน์ ซึ่งนับเป็นการ ให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์ ขอก่อนโพสต์ สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้แก่ลูกได้อีกทางหนึ่ง
ว่าด้วยเรื่อง “สิทธิ” ของลูกน้อย บนโลกออนไลน์
หากยังจำกันได้ เรื่องการโพสต์ภาพหรือเรื่องราวของลูกบนสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นั้น เคยเป็นประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียง วิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่มากว่าเป็นเรื่องที่สมควรทำหรือไม่ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบในเรื่องของ “สิทธิเด็ก” ได้ โดยหากมองในมุมของพ่อแม่ที่เป็นผู้ให้กำเนิดและมองในมุมบวก อาจไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีการบันทึกภาพหรือความสามารถทางพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกเอาไว้
แต่ในมุมของนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน รวมถึงคุณพ่อคุณแม่อีกลุ่มหนึ่งก็มีความคิดว่า แม้จะเป็นผู้ให้กำเนิดก็ใช่ว่าพ่อแม่จะมีสิทธิทำทุกอย่างเกี่ยวกับลูกของตนเอง เพราะเด็ก ๆ มีสิทธิเป็นของตนเอง มีสิทธิส่วนบุคคล ที่มีกฎหมายรับรองและปกป้องคุ้มครองเหมือนผู้ใหญ่เช่นกัน ดังนั้น การที่พ่อแม่จะทำสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับลูก ควรได้รับความยินยอมจากลูกด้วย หรือให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกระทำสิ่งนั้น ๆ ด้วยตนเอง โดยคุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับลูกเป็นสำคัญ
ซึ่งกรณีการโพสต์รูปภาพหรือเรื่องราวของลูกลงบนสื่อโซเชียลมีเดียนี้ “น้องฑีฆายุ” น่าจะเป็นเด็กและเยาวชนคนแรก ๆ ของประเทศที่ออกมาเปิดเผยถึงความในใจเกี่ยวกับการที่รูปภาพหรือเรื่องราวส่วนตัวของตนเอง หรือของเด็กในช่วงวัยเดียวกันถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ และนี่… อาจเป็นมุมมองที่จำเป็นต้องได้รับความใส่ใจจากคุณพ่อคุณแม่อีกหลาย ๆ บ้านว่า “ความสุข” ที่พ่อแม่ได้โพสต์หรือแชร์ภาพลูกออกไป ได้สร้างความสุขเฉกเดียวกันให้แก่ลูก หรือเป็นการปลูกปมความทุกข์อะไรลงไปในใจลูกหรือไม่ แล้วถึงเวลาหรือยังที่จะกลับมาทบทวนว่าควร “ให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์” มากกว่าที่เคยเป็น
|
สิทธิของเด็กตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
|
มาตรา 32 |
“บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคล ไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ” |
มาตรา 71 วรรคสาม |
“รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และ ผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว” |
* ทั้งนี้ “เด็ก” ตามกฎหมาย หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส
ทำไม? ให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์ จึงสำคัญ
เราไม่ได้มาฟันธงนะคะว่าการโพสต์รูปภาพหรือเรื่องราวต่าง ๆ ของลูกน้อยลงบนโลกออนไลน์นั้น “ถูก” หรือ “ผิด” เพียงแต่สนับสนุนให้เกิด “การให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์” ในทุก ๆ ครอบครัว เนื่องจากปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตในแต่ละวันอยู่กับการท่องโลกออนไลน์ ดังนั้น หากลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ให้เกียรติที่จะรับฟังความคิดเห็นของตนเองก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์ จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เป็นการมอบพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ลูก ทั้งยังส่งเสริมให้ลูกกล้าแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นของตนเองกับพ่อแม่ เป็นการเริ่มต้นที่ดีของพัฒนาการด้านทักษะการสื่อสาร รวมทั้งพัฒนาการด้านอารมณ์สังคมด้วยค่ะ
ซึ่งกรณีที่คุณพ่อคุณแม่อยากแบ่งปันหรือเก็บภาพและเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ในความทรงจำบนโลกออนไลน์ที่สามารถวนมาแจ้งเตือนให้ระลึกถึงความหลังได้ทุกปีในแต่ละช่วงเวลา ก็สามารถทำได้โดยไม่ละเมิดสิทธิหรือความเป็นส่วนตัวของลูก ไม่ทำให้ลูกถูกล้อเลียนในภายหลัง และเป็นการให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์ ด้วยวิธีการต่อไปนี้ค่ะ
|
สิ่งที่ควรทำเพื่อ ให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์
|
คิดก่อนโพสต์ |
ให้คิดเสมอว่าโพสต์ภาพหรือเรื่องราวนั้นเพื่ออะไร เพื่อใคร เกิดประโยชน์อะไรกับลูก หรือในอนาคตจะเกิดผลกระทบอะไรกับลูกบ้าง อย่าลืมว่าสิ่งที่โพสต์บนโลกออนไลน์จะอยู่ไปตลอดกาล สามารถค้นหาได้เสมอ |
ต้องขออนุญาต |
หากถ้าลูกอยู่ในวัยที่สามารถสื่อสารและรับรู้ได้ถึงผลที่จะเกิดขึ้น ต้องขออนุญาตและได้รับการยินยอมก่อนทุกครั้ง กรณีลูกเล็ก ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องปกป้องลูกและ “คิดก่อนโพสต์” เสมอ |
เปลี่ยนมุมมองการถ่ายภาพ |
ไม่ต้องเน้นลงภาพใบหน้าลูกตรง ๆ เช่น ถ่ายเฉพาะผลงานที่ลูกทำ ถ่ายภาพจากมุมด้านหลัง ด้านข้าง หรือถ่ายมือลูกขณะทำกิจกรรม ซึ่งแน่นอนว่าควรได้รับการยินยอมจากลูกก่อนเช่นกัน |
ยุคนี้มี AI |
เปลี่ยนมาใช้ภาพกราฟิกหรือการ์ตูนประกอบเรื่องราวแทนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพจริงของลูก |
โพสต์เฉพาะเรื่องราวดี ๆ |
ควรแชร์เฉพาะเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่ดี ในแง่บวกของลูก และต้องถามความรู้สึกลูกก่อนเสมอ เรื่องน่ารักที่คุณพ่อคุณแม่อยากชื่นชมและให้คนอื่นชื่นชมลูกด้วย บางครั้งอาจกลายเป็นการกดดันหรือการคาดหวังที่ลูกไม่ต้องการให้เกิดขึ้น |
ตั้งสถานะโพสต์ แบบส่วนตัว |
โดยมีเฉพาะคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท ที่มีแต่คนรู้จักเท่านั้นจะเห็นข้อมูลหรือภาพเหล่านั้น |
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักถึงและควรหลีกเลี่ยงในการโพสต์ภาพและเรื่องราวต่าง ๆ ของลูกบนโลกออนไลน์ด้วย ได้แก่
- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูก เช่น ชื่อ อายุ ที่อยู่ โรงเรียน รวมทั้งการเช็กอินในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ
- ไม่โพสต์รูปที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ เช่น ภาพขณะกำลังร้องไห้ หรือทำหน้าตาท่าทางตลกขบขัน เพราะอาจทำให้ลูกถูกล้อเลียนจากเพื่อนหรือคนรู้จัก จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของลูกได้
- ไม่บังคับให้ลูกทำตัวน่ารัก เรียบร้อย เพื่อการถ่ายภาพหรือคลิป เพราะความรู้สึกเหนื่อย ดื้อ งอแง คือธรรมชาติของลูกที่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นเพื่อการเรียนรู้และเติบโตตามวัยที่เหมาะสม การบังคับอาจทำให้ลูกสูญเสียความเป็นตัวเอง กลายเป็นการปิดกั้นพัฒนาการจนเกิดปัญหาตามมาได้
- ไม่โพสต์รูปลูกขณะอาบน้ำ หรือไม่สวมเสื้อผ้า ไม่ว่าจะมากชิ้นหรือน้อยชิ้นก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการโพสต์รูปภาพที่มีเด็กคนอื่น ๆ ติดอยู่ในภาพด้วย เพื่อเป็นการให้เกียรติและไม่ละเมิดต่อสิทธิของเด็กเหล่านั้นเช่นกัน
ให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์ ดีต่อพัฒนาการลูกยังไง
เมื่อได้รับการเคารพความเป็นส่วนตัว และการให้เกียรติจากคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้และนำไปใช้ในการเคารพและให้เกียรติผู้อื่นทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง อีกทั้งยังพัฒนาความมั่นใจในตนเองให้ลูก เพราะเมื่อได้รับการยอมรับและให้เกียรติ ลูกจะรู้สึกดีกับตัวเองและมีความมั่นใจมากขึ้น
นอกจากนี้ การสื่อสารอย่างเปิดใจ เพื่อให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกก็เป็นการเปิดโอกาสให้ทักษะด้านการสื่อสารได้ทำงาน สร้างช่วงเวลาคุณภาพของครอบครัวในการแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ ที่นำไปสู่การสร้าง Empathy ได้ในอนาคต
การให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์ จึงนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะจะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีความมั่นใจ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ที่มา : www.thaichildrights.org , www.sosthailand.org
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 เคล็ดลับ สร้างวินัยให้ลูก ฝึกทั้งที ฝึกให้ถูกวิธีดีกว่า
10 เคล็ดลับในการรับมือ พี่น้องแย่งของเล่น ปัญหาที่ทำให้คุณแม่ปวดหัว !
กิจกรรมเด็ก 2 ขวบ เล่นอะไรดี สร้างความสนุก ส่งเสริมพัฒนาการลูกรอบด้าน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!